อาการแพ้ยาเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งมาก่อน และคนที่มีประวัติของโรคภูมิแพ้ (เช่น หืด, หวัดเรื้อรัง, ลมพิษ, ผื่นค้น) จะมีโอกาสแพ้ยามากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นในการใช้ยาจึงควรระมัดระวังในเรื่องนี้ให้มาก ไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรือ หรือใช้เกินความจำเป็นยาที่แพ้ ที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ได้แก่
1. ยาต้านจุลชีพหรือปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน ,อะม็อกซีซิลลิน ,ยาประเภทซัลฟา ,เตตราไซคลีน ,สเตรปโตไมซิน เป็นต้น
2. ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น แอสไพริน, ไดไพโรน
3. ยาชา เช่น ไซโลเคน (xylocaine), โปรเคน (procaine)
4. เซรุ่มต่าง ๆ เช่น เซรุ่มแก้พิษงู, เซรุ่มแก้บาดทะยัก
5. น้ำเกลือ และเลือด
อาการแพ้ยา
1. ในรายที่มีอาการแพ้อ่อน ๆ อาจมีเพียงลมพิษผื่นค้น หรือมีผื่นแดง จุดแดงหรือตุ่มใสเล็ก ๆ ขึ้นทั่วตัว หรือหน้าบวม หนังตาบวม ริมฝีปากบวม มักเกิดจากการกินยาเม็ด เช่น แอสไพริน, เพนวี, อะม็อกซีซิลลิน, ยาประเภทซัลฟา
2. ในรายที่มีอาการแพ้ขนาดปานกลาง อาจมีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน หรือหายใจขัดคล้ายหืด(ฟังปอดได้ยินเสียงวี้ด) มักเกิดจากการใช้ยาฉีด
3. ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการเป็นลม ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ และหยุดหายใจ มักเกิดหลังจากฉีดยาประเภทเพนิซิลลิน หรือเซรุ่มในทันทีทันใด บางครั้งอาจถึงแก่ความตายแบบที่เรียกว่า "คาเข็ม" ได้ เราเรียกอาการแพ้ยารุนแรงชนิดนี้ว่า ช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock )หรืออาจพบเป็นลักษณะพุพอง หนังเปื่อยลอกทั้งตัวคล้ายถูกไฟลวก ปากเปื่อย ตาอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ มีไข้ ซึ่งเรียกว่ากลุ่มอาการสตีเวนส์-จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ ถึงตายได้
4. ในการแพ้เลือดหรือน้ำเกลือ มักมีอาการไข้หนาวสั่น หรือลมพิษขึ้นโดยทั่วไป ยาชนิดฉีดจะทำให้เกิดอาการ
รุนแรงและรวดเร็วมากกว่าชนิดกิน
การรักษาการแพ้ยา
1. ในรายที่มีอาการแพ้อ่อน ๆ (ดังในข้อ 1) ให้เลิกใช้ยาที่แพ้แล้วให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน หรือไดเฟนไฮดรามีน 1/2 -1 หลอด ฉีดเข้ากล้าม หรือ ให้อย่างเม็ดกินวันละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ 1/2-1 เม็ด จนกว่าจะหาย
2. ในรายที่มีอาการขนาดปานกลาง (ดังในข้อ 2) หรือรุนแรง (ดังในข้อ 3) ให้ฉีดอะดรีนาลิน 0.3-0.5 มล. หรือสเตอรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน 1-2 หลอด เข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำทันที ถ้าไม่ดีขึ้นให้ส่งโรงพยาบาลด่วน
3. ในรายที่หยุดหายใจ ให้ทำการผายปอดพร้อมกับฉีดยาอะดรีนาลิน
4. ในรายที่เป็นแบบกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน ให้เลิกใช้ยาที่แพ้ ให้ยาแก้หรือสเตอรอยด์แล้วส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ กลายเป็นโลหิตเป็นพิษถึงตายได้
การป้องกัน
1. ทุกครั้งที่ให้ยา ควรถามประวัติการแพ้ยาในอดีตที่ผ่านมาและประวัติโรคภูมิแพ้ของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย ถ้ามีประวัติเหล่านี้ ควรระมัดระวังในการใช้ยาให้มาก และควรแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตดูอาการแพ้ยาที่อาจเกิดขึ้น ถ้ามีอาการให้รีบหยุดยา แล้วกลับไปหาหมอที่รักษาทันที
2. อย่าฉีดยาอย่างพร่ำเพรื่อ ทุกครั้งที่ฉีดยาโดยเฉพาะยาที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่าย เช่น เพนิซิลลิน หรือ เซรุ่ม ควรทำการทดสอบผิวหนังก่อน และควรมียาแก้แพ้ สเตอรอยด์ และอะดรีนาลิน ตลอดจนอุปกรณ์ในการช่วยผายปอดไว้ให้พร้อม
3. ถ้าพบผู้ป่วยแพ้ยา ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรู้ว่าแพ้ยาอะไร และห้ามกินยาชนิดนั้น ๆ หรือยายี่ห้อต่างๆ ที่เข้ายาชนิดนั้นอีกต่อไป และแนะนำผู้ป่วยทุกครั้งที่หาหมอควรจะบอกหมอว่าเคยแพ้ยาอะไร
4. อาการแพ้ยามักจะเกิดเมื่อผู้ป่วยเคยได้รับยาชนิดนั้นมาก่อนหลาย ๆ ครั้ง ในทารกหรือเด็กอ่อนที่ไม่ได้รับยามาก่อน จึงมีโอกาสแพ้ยาน้อย ส่วนคนที่เคยได้รับยา (โดยเฉพาะยาฉีด) มาก่อนหลาย ๆ ครั้ง โอกาสที่จะแพ้ยาชนิดนั้นก็สูงขึ้นตามลำดับ ดังนั้นยิ่งใช้ยาบ่อยครั้งขึ้นเท่าไหร่ ก็พึงระวังการเกิดอาการแพ้มากขึ้นเท่านั้น