นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย
รมว.ศธ.กล่าวว่า การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย เป็นนโยบายสำคัญที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องระบบการสอบคัดเลือก เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม รวมถึงปัญหาการสอบคัดเลือกที่ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเรียน ทั้งในแง่ของเวลาและความสนใจต่อเนื้อหาที่เรียนในระบบโรงเรียน จึงได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือ และจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย
จากข้อสรุปล่าสุด ได้เห็นชอบในหลักการสำคัญของการจัดระเบียบการรับตรงที่มีข้อสรุปที่สำคัญคือ ให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนจบ ก่อนเริ่มกระบวนการสอบคัดเลือก โดยการสอบรับตรงจะต้องดำเนินการในช่วงเวลาเดียวกัน ใช้ข้อสอบกลางและสอบครั้งเดียวในแต่ละวิชา ซึ่งนอกจากจะใช้คะแนนสอบในการสอบคัดเลือกแล้ว สามารถใช้ GPAX, O-Net และสมุดพกความดี ประกอบในการคัดเลือกได้อีกด้วย
ส่วนระบบโควตาก็จะมีอยู่ แต่ต้องไม่มีการสอบแข่งขัน เมื่อมีรายชื่อผู้ได้รับโควตาแล้ว ให้ส่งรายชื่อไปที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก่อนกระบวนการสอบภายในเดือนเมษายน เพื่อรวบรวมรายชื่อเหล่านี้ให้เป็นรายชื่อของผู้มีสิทธิ์ขอกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) แล้วแต่กรณี เพื่อให้มหาวิทยาลัยให้ความร่วมมือ
โดยกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งสามารถดำเนินการได้เพราะมีการเลื่อนเวลาเปิดรับสมัครของมหาวิทยาลัย และจะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวได้ในปีการศึกษาถัดไป การเปลี่ยนระบบการสอบคัดเลือกสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะเป็นการจัดระเบียบการรับตรง ซึ่งไม่กระทบกับระบบ Admission การกำหนดร่วมกันในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบในทางที่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ จึงไม่ต้องประกาศล่วงหน้า
นอกจากเห็นชอบในหลักการสำคัญร่วมกันแล้ว ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยได้รับหลักการ และจะประชุมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสรุปการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าจะหาข้อยุติได้ทั้งหมด เมื่อมีความเห็นร่วมกันชัดเจนแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องเสนอให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพียงแต่จะทำให้เป็นประกาศข้อสรุปร่วมกัน หรืออาจให้เป็นบันทึกหรือข้อสรุปการประชุมที่เวียนให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้ หากจัดระเบียบการสอบคัดเลือกได้เป็นระบบแล้ว เรื่องสำคัญที่จะต้องทำต่อไป คือการพัฒนาการออกข้อสอบ โดยจะต้องคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการของมหาวิทยาลัยในการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย และทำให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) จะต้องร่วมดูแลด้วย อีกทั้งจะต้องเชื่อมโยงถึง GPAX, O-Net และความสอดคล้องกับหลักสูตรที่เรียนในระดับพื้นฐาน หากข้อสอบไม่สามารถตอบคำถาม 3 ข้อนี้ได้ ก็จะเกิดเป็นปัญหา ดังนั้นคณะกรรมการดูแลเรื่องระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการพัฒนาข้อสอบ จัดระบบพัฒนาข้อสอบ ที่สำคัญต้องให้ทางมหาวิทยาลัยร่วมมือกับ สทศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อทำให้เกิดความสอดคล้องกับหลักสูตร และความเป็นมาตรฐานของข้อสอบด้วย
แนวดำเนินการ ตามข้อสรุปจากการประชุมคณะกรรมการการดูแลระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย
◦ ในหลักการให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายเรียนจบก่อนเริ่มกระบวนการสอบคัดเลือก
◦ ให้การสอบทั้งหลายดำเนินการร่วมกันในห้วงเวลาเดียวกัน
◦ กระบวนการสอบจะเริ่มในเดือนเมษายน รายวิชาที่จะสอบขึ้นกับความต้องการของแต่ละหลักสูตร
◦ ข้อสอบเป็นข้อสอบกลางที่สอบครั้งเดียวในแต่ละวิชา
◦ เมื่อสอบแล้วจะรายงานผลคะแนนที่สอบได้ในเดือนพฤษภาคม แล้วเข้าสู่กระบวนการเลือกลำดับหลักสูตรที่นักเรียนต้องการ
◦ นักเรียนเมื่อทราบคะแนน ก็จะคะเนได้ว่าควรเลือกหลักสูตรไหนของมหาวิทยาลัยใด แต่ละหลักสูตรจะกำหนดกติกาการรับนักศึกษาได้เอง
◦ นอกจากคะแนนสอบแล้ว ยังสามารถใช้ GPAX, O-Net และสมุดพกความดีประกอบในการคัดเลือก
◦ ในขณะเดียวกันก็จะสมัครลำดับโดยใช้กติกา Admission เดิมด้วย โดยให้เวลาในการเลือกประมาณ 2-4 สัปดาห์ (อาจมีระบบรายงานจำนวนผู้สมัครในแต่ละหลักสูตรแบบ Real Time เพื่อให้นักเรียนประเมินความเสี่ยงเอง และเปลี่ยนใจได้ระดับหนึ่ง) แล้วจะคัดเลือกพร้อมกันตามลำดับที่เลือกไว้
◦ รายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะส่งให้ สกอ.
◦ ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกก็จะเข้าสู่ระบบรับตรงอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ยังมีที่ว่าง โดยจะให้เวลาอีก 1 เดือนเพื่อรับให้เรียบร้อย และส่งชื่อให้ สกอ.
◦ อาจมีบางมหาวิทยาลัยเปิดรับระบบโควตา ซึ่งจะต้องไม่มีการสอบแข่งขัน และต้องส่งชื่อให้ สกอ. ก่อนกระบวนการสอบในเดือนเมษายน
◦ สกอ.จะใช้มาตรการรวบรวมรายชื่อเหล่านี้ไว้เป็นรายชื่อผู้มีสิทธิ์ขอกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) แล้วแต่กรณี เพื่อให้มหาวิทยาลัยให้ความร่วมมือ
◦ กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน และการรับนักศึกษาจะเสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียนในปีการศึกษาถัดไป
◦ กระบวนการนี้เป็นเพียงการจัดระเบียบการรับตรงโดยไม่กระทบกับระบบ Admission เดิม จึงไม่ต้องประกาศล่วงหน้า
◦ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสมาคมอุดมศึกษาเอกชนร่วมประชุมด้วยซึ่งรับในหลักการ จึงให้กลับไปเข้าที่ประชุมของแต่ละแห่งเพื่อยืนยันและเสนอแนะอีกครั้ง
◦ นัดประชุมในเดือนพฤษภาคมเพื่อสรุปการดำเนินการต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ