เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2557 นายวิษณุ เอื้อชูเกียรติ กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า บนดาวอังคารมีหลุมอุกกาบาตจำนวนมาก ในจำนวนนี้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้ตั้งชื่อตามชื่ออำเภอและจังหวัดในประเทศไทย 7 หลุมได้แก่
- Chatturat อ. จัตุรัส (ชัยภูมิ)
- Kantang อ. กันตัง (ตรัง)
- Nan จ. น่าน
- Phon อ. พล (ขอนแก่น)
- Tak จ. ตาก
- Thom ไม่พบชื่อนี้โดยตรง แต่มี อ. นาทม (นครพนม) และ
- Yala จ. ยะลา
สำหรับการตั้งชื่อหลุมดาวอังคารนั้น สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตั้งชื่อดาวอังคารเมื่อปี ค.ศ.1919 ต่อมาในปี 1957 เริ่มเข้าสู่ยุคอวกาศเมื่อมีการส่งสปุตนิก ดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่อวกาศ ตามมาด้วยการสำรวจดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโลของสหรัฐอเมริกา โครงการลูนา และซอนด์ ของสหภาพโซเวียต อีกทั้งยานอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่นยานชุดวอยเอเจอร์ มารีเนอร์ หรือยานกาลิเลโอ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้งานตั้งชื่อของสหพันธ์ฯ กลายเป็นงานช้าง เพราะนอกจากจะได้ข้อมูลดวงจันทร์และดาวอังคารที่ละเอียดขึ้นแล้ว ยังมีภาพจากดาวพุธ ศุกร์ กับดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี และเสาร์ โถมเข้ามาให้ตั้งชื่ออีก ทั้งนี้การตั้งชื่อสามารถทำได้เฉพาะกับดาวเคราะห์และดวงจันทร์ที่เป็นก้อนหิน รวมทั้งดาวเคราะห์น้อยเท่านั้น จะตั้งชื่อให้อะไรบนดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์ อย่างพฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน ไม่ได้ เพราะผิวนอกที่เราเห็นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
"ล่าสุดได้กำหนดมาตรฐานสำหรับการตั้งชื่อภูมิสถานบนดาวอังคาร ดังนี้ 1.หลุมขนาดใหญ่ ตั้งชื่อตามชื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้มีส่วนสร้างความก้าวหน้าแก่การศึกษาดาวอังคาร และนักเขียนหรือคนอื่นที่มีผลงานเกี่ยวกับเรื่องของดาวอังคาร 2.หลุมขนาดเล็ก ตั้งชื่อตามชื่อเมืองในโลก ที่มีประชากรน้อยกว่า 100,000 คน 3.หุบเขาขนาดใหญ่ ใช้ชื่อว่าคำว่า ดาวอังคาร หรือ ดาว ในภาษาต่าง ๆ อย่าง ดาวvallis ซึ่งเป็นร่องน้ำสำคัญที่พบบนดาวอังคาร 4.หุบเขาขนาดเล็ก ชื่อแม่น้ำในสมัยโบราณ หรือชื่อปัจจุบัน"นายวิษณุ กล่าว
และว่า จะเห็นได้ว่าเกือบทุกกรณีสามารถเอาชื่อจากประเทศหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ในโลกมาใช้ได้ ซึ่งคณะอนุกรรมการก็ได้พยายามทำอย่างเสมอภาค คือหยิบจากที่โน่นที่นี่มาตามส่วนของทวีปและประเทศที่มีในโลก รวมทั้งจากประเทศไทย ถือเป็นการให้เกียรติกับทุกประเทศ
ด้านนายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า การตั้งชื่อหลุมบนดาวอังคาร จะไม่ใช้ชื่อยาว ตั้งชื่อไม่เกิน 1-2 คำ เพื่อให้กระชับ ซึ่งแต่ละชื่อจะบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ คือชื่อนั้น จะมีเรียกแค่ในประเทศนั้นโดยเฉพาะ เป็นต้น อย่างไรก็ตามตลอดเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ดาวอังคารเคลื่อนเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 2 ปี เวลา 20.00น. สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อยู่ด้านซ้ายมือของดวงจันทร์ เป็นดาวเคราะห์สีแดงสว่างสุกใส สวยงาม และวันที่ 14 เมษายนทางสมาคมฯ ก็ได้จัดกิจกรรมตั้งกล้องดูดาวส่องดูขั้วน้ำแข็งดาวอังคารใกล้โลกด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557