นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(ทส.)เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 14 เมษายน จนถึงเช้าวันที่ 15 เมษายน จะมองเห็นดาวอังคารสุกสว่างส่องประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้า มีความสว่างมากกว่าปกติ เนื่องจากดาวอังคารและโลกเข้าใกล้กันมากที่สุด ในรอบ 7 ปี ที่ระยะห่าง 92.39 ล้านกิโลเมตร ประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กก็จะสามารถมองเห็นขั้วน้ำแข็งและลักษณะพื้นผิวดาวอังคารได้
ภาพถ่ายดาวอังคาร วันที่ 5 เมษายน 2557 โดย Christopher Go
นายศรันย์ กล่าวว่า ตามปกติแล้ว จะมองเห็นดาวอังคารส่องประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้า เนื่องจากพื้นผิวของดาวอังคารมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็กออกไซด์ จึงมักเรียกฉายาของดาวอังคารว่า ′ดาวเคราะห์สีแดง′ ดาวอังคารจะโคจรมาใกล้โลก ทุก ๆ ประมาณ 2 ปี เป็นช่วงที่ดาวอังคารมีคาบการโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวดาวอังคารจะกลายเป็นหนึ่งในวัตถุที่มีความสว่างที่สุดในท้องฟ้าในเวลากลางคืนและในช่วงเวลานั้นดาวอังคารยังมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติง่ายต่อการสังเกตด้วยตาเปล่าและเมื่อสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะสามารถมองเห็นดาวอังคารเป็นสีส้มแดงสว่าง หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กับเลนส์ใกล้ตาขนาดประมาณ 9 มิลลิเมตร หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายประมาณ 200 เท่า ขึ้นไปจะที่ให้สามารถมองเห็นสภาพพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารได้
"วันที่9เมษายน ดาวอังคารจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และจะเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 14 เมษายน ถึงเช้ามืดของวันที่ 15 เมษายน โดย จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในเวลา 03:57 น. มีความสว่างปรากฏอยู่ที่ประมาณ -1.23 โดย ดาวอังคารจะโผล่พ้นจากขอบฟ้าในเวลา 18:02 น. เย็นของวันที่ 14 เมษายน หลังจากที่ดวงจันทร์ขึ้นโผล่พ้นจากขอบฟ้าไม่นาน โดยในวันดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 15 ค่ำ เมื่อผู้สังการมองขึ้นไปบนท้องฟ้าจะเห็นดวงจันทร์และดาวอังคารจะปรากฏอยู่ห่างกันประมาณ 3.33 องศา และถ้าหากสังเกตในช่วงเช้ามืดจะมองเห็นดวงจันทร์และดาวอังคารอยู่สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกและจะมองเห็นดวงจันทร์และดาวอังคารอยู่ห่างกันมากกว่าตอนช่วงหัวค่ำเป็นผลให้เราสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารมีความสว่างมากกว่าปกติและจะปรากฏบนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน สว่างมากกว่าดาวซิริอุสที่เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า "
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการท้องฟ้า ดาวอังคารใกล้โลกครั้งนี้ ถือเป็นฤกษ์ดี ที่ตรงวันวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยพอดี โดยช่วงเดือนเมษายน ตลอดทั้งเดือนนั้น คนไทยจะสามารถมองเห็นดาวอังคารสว่างไสว สีส้มแดงกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งเดือน แต่ในคืนวันที่ 14 เมษายน หรือเช้าวันที่ 15 เมษายน นั้น ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำพอดี ท้องฟ้าจะปรากฏดวงจันทร์ที่สว่างมากเคียงคู่กับดาวอังคาร ที่สว่างมากเช่นกัน
"ดวงจันทร์จะอยู่ห่างจากโลกประมาณ 3.8 แสน กิโลเมตร ขณะที่ดาวอังคารอยู่ห่างเฉลี่ย ห่างจากโลกประมาณ 93 ล้านกิโลเมตร โดยดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากๆทุกๆ 2.2 ปี อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกอีกครั้งและเข้าใกล้กว่าครั้งนี้ โดยอยู่ที่ระยะ 57.59 ล้าน กิโลเมตร แต่ อีก 2 ปี ถัดไป คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 จะเข้าใกล้กว่านี้อีก คือ ใกล้ถึง 57.59 ล้านกิโลเมตร ซึ่งขยับมาใกล้กว่าปีนี้ถึง 36 ล้าน กิโลเมตรทีเดียว"รศ.บุญรักษา กล่าว
ถามว่า ทางสถาบันดาราศาสตร์จะจัดกิจกรรม จัดกล้องดูดาวให้ประชาชนดูหรือไม่ รศ.บุญรักษา กล่าวว่า เนื่องจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตได้เองด้วยตาเปล่า ทุกพื้นที่ แต่สำหรับพื้นที่ที่มีหอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ ที่ จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งที่สถาบันดาราศาสตร์ จ.เชียงใหม่ ก็จะมีกล้องดูดาวประจำที่บริการประชาชนอยู่แล้ว ผู้สนใจสามารถไปชมได้
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2557