กระแสแก๊งโจรกรรมรหัสบัตรเอทีเอ็มยังไม่ซาไปจากสังคมดีนัก สกู๊ปหน้า 1 อยากฝากให้ระวังภัยบัตรเครดิตเอาไว้ด้วย
ที่ผ่านมาการทุจริตผ่านบัตรเครดิต เป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลก วิธีที่พบบ่อยที่สุดในเมืองไทย คือ การปลอมบัตร การแอบอ้างเป็นผู้ถือบัตรจริง รวมถึงการคัดลอกข้อมูลจากบัตร หรือที่เรียกว่า สกิมมิ่ง (Skim ming) เช่นเดียวกับการโจรกรรมบัตรเอทีเอ็ม
ปัญหามีว่า...บัตรเครดิต ไม่จำเป็นต้องขโมยรหัสก็นำไปรูดใช้จ่ายได้อย่างอิสระ ความเสียหายจึงมีมากกว่าว่ากันตามกระบวนการ การโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิต...วิธีการซับซ้อนน้อยกว่า
การฉ้อโกงบัตรเครดิตทำได้หลายวิธี อาทิ การขโมยบัตร การปลอมทั้งใบ การแปลงข้อมูลจากบัตรจริง การปลอมบัตรพลาสติกสีขาว การปลอมเอกสารในการสมัครเป็นผู้ถือบัตร และผู้ถือบัตรเป็นผู้ทุจริตเอง
แหล่งบัตรเครดิตปลอม แหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย รองลงมา ฮ่องกง จีน ไต้หวัน
บัตรที่ปลอมเหมือนของจริงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ แต่มีจุดสังเกต บัตรเครดิตปลอมจะบางกว่า ประเภทบัตรเครดิตปลอมที่พบมากที่สุด มีทั้งบัตรเครดิตที่เป็นอินเตอร์ วีซ่าต่างๆ รวมทั้ง บัตรโดเมสติก (Domestic หรือ Local) ที่ใช้ได้เฉพาะในประเทศ แต่มีการปลอมน้อย เพราะว่าทำแล้วไม่คุ้มที่จะถูกจับ
เว็บไซต์ http://www.creditthai.net/ แนะข้อปฏิบัติสำคัญ 10 ข้อในการเก็บรักษาบัตร และข้อมูลบัตรเครดิตทันทีที่ได้รับบัตรใหม่เอาไว้ว่า...
ข้อแรก...เซ็นชื่อลงบนแถบลายเซ็นทันที จดหมายเลขบัตรเครดิต หมายเลขโทรศัพท์สำหรับแจ้งบัตรหาย และเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย หาง่ายยามฉุกเฉิน
ข้อต่อมา...ไม่ควรตั้งรหัสเอทีเอ็มโดยใช้ข้อมูลส่วนตัวซึ่งง่ายต่อการคาดเดา ไม่ว่าจะเป็นชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด
ข้อที่สาม...จำรหัสเอทีเอ็มให้ได้ ถ้าจำเป็นต้องจดไว้ ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ หรือเก็บไว้ใกล้กับบัตร และไม่ควรบอกรหัสเอทีเอ็มให้บุคคลอื่นทราบ
ข้อที่สี่...เก็บรักษาบัตรของคุณเช่นเดียวกับที่คุณเก็บเงินสด หากเป็นไปได้ ไม่ควรปล่อยให้บัตรคลาดสายตาในระหว่างที่พนักงานนำบัตรของคุณไปรูด
ข้อที่ห้า...ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้รับบัตรของคุณคืนมาทุกครั้ง หลังชำระเงิน และก่อนเซ็นเซลล์สลิป ควรตรวจสอบจำนวนเงินว่าตรงกับราคาสินค้า บริการ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนำข้อมูลในเซลล์สลิปไปใช้ในทางที่มิชอบ และเก็บไว้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องภายหลัง
ข้อที่หก...ตรวจสอบยอดค่าใช้จ่ายในใบแจ้งบัญชีบัตรเครดิต ประจำเดือนว่ามีจำนวนเงินตรงกับที่คุณใช้ไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกลับจากการเดินทางต่างประเทศ
ข้อที่เจ็ด...ไม่ควรบอกหมายเลขบัตรเครดิตของคุณแก่บุคคลอื่นทางโทรศัพท์ เว้นแต่คุณกำลังติดต่อกับองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ หรือคุณเป็นฝ่ายเริ่มการติดต่อด้วยตัวเอง
ข้อที่แปด...ตรวจสอบให้แน่ใจหากมีความจำเป็นต้องบอกหมายเลขบัตรเครดิตของคุณทางโทรศัพท์ และขอเอกสารยืนยันการซื้อขายที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากพนักงานขายทางโทรศัพท์ทุกครั้ง
ข้อที่เก้า...อย่าไว้ใจพนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์ที่เร่งหรือกดดันให้คุณรีบซื้อสินค้า อย่าให้หมายเลขบัตรจนกว่าคุณตัดสินใจแน่แล้วว่าจะซื้อสินค้า
ข้อสุดท้าย...หากสมาชิกในครอบครัวคุณนำบัตรของคุณไปใช้ อาจโดยที่คุณทราบหรือไม่ทราบมาก่อน คุณจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบยอดการใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
คนร้ายสามารถปลอมบัตรเครดิตขึ้นมา โดยบรรจุเอาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือบัตรที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สลิปบัตร สแปมเมล์ หรือส่งอีเมล์สุ่ม เพื่อหวังข้อมูลบัตรเครดิตของผู้รับ หรือไม่อย่างนั้นก็ส่งโปรแกรมเฉพาะ ผ่านมาทางเว็บไซต์ผิดกฎหมาย โดยคนร้ายที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ถือบัตร อาจใช้ข้อมูลที่ขโมยมา นำไปซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์อีกต่อหนึ่ง
ดังนั้น วิธีที่คุณจะป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเหล่านี้ คล้ายคลึงกันกับสิ่งที่คุณพึงปฏิบัติเมื่อได้รับบัตรใหม่ หรือขณะที่คุณช็อปปิ้งทางอินเตอร์เน็ต
เป้าหมายหลัก คือ ปกป้องข้อมูลส่วนตัว...เริ่มจากตรวจสอบความถูกต้องของใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตทันทีที่ได้รับ กรณีพบรายการใช้จ่ายน่าสงสัย ให้รีบแจ้งธนาคารทันที ต่อมาไม่ควรเปิดเผยข้อมูลบัตร และข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตร รหัสเอทีเอ็ม วันเดือนปีเกิด หรือหมายเลขบัตรประชาชน ยกเว้นกรณีที่คุณเป็น ฝ่ายเริ่มการติดต่อ
เก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ไว้ในที่ที่ปลอดภัย จุดสำคัญ อย่าตอบอีเมล์แปลกๆที่ส่งมาเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว
พยายามอย่าให้พนักงานแคชเชียร์ พนักงานเสิร์ฟ เด็กปั๊มนำบัตรเครดิตไปทำรายการในที่ที่มองไม่เห็น เพื่อช่วยป้องกันการสกิมมิ่ง...คัดลอกข้อมูลบัตร
"ใช้บัตรรูดเงินเรียบร้อยแล้ว ให้เก็บสำเนาสลิปบัตรเครดิตไว้ทุกครั้ง เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องกับใบแจ้งยอดบัญชี"
อีกข้อที่สำคัญ ถ้าจำเป็นจะต้องใช้บัตรกับตู้เอทีเอ็ม ให้หลีกเลี่ยงการใช้ตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในที่เปลี่ยว หรือมีลักษณะน่าสงสัย ตู้เหล่านี้จะเป็นเป้าหมายหลักของแก๊งโจรกรรม ลักลอบติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเอาไว้ขโมยข้อมูลจากบัตรของคุณได้ง่ายๆ ลืมไม่ได้เลยว่าขณะใช้บริการเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ตสาธารณะ ควรมองสำรวจรอบๆ ตัว เพื่อสังเกตพฤติกรรมต้องสงสัย ผู้ที่ยืนต่อแถวด้านหลัง หรืออยู่ใกล้ๆ
กรณีทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้ต้องติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ หรือไฟวอลล์ พร้อมสรรพด้วยซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสทั้งเครื่องที่บ้าน สำนักงาน เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูล
"คุณควรซื้อสินค้าบริการออนไลน์กับเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง ไว้ใจได้เท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องระวังเว็บไซต์ปลอม ที่บรรดาแฮกเกอร์สร้างขึ้นมาเพื่อจารกรรมข้อมูลของคุณ"
ธุรกรรมในอินเตอร์เน็ต จับตาไปที่รหัสผ่าน...ในบริการการเงินให้ใช้รหัสผ่านที่ยาวๆ เพื่อคุ้มครองข้อมูลบัญชีธนาคาร และบัญชีซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต รหัสผ่านยิ่งยาวก็ยิ่งยากที่มิจฉาชีพจะถอดรหัสไปใช้ได้เท่านั้น
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง ธนาคารกสิกรไทยแจ้งเตือนลูกค้าให้ระวัง โทรจันตัวใหม่ ชื่อว่า Pws.Sinowal.AU ไวรัสขโมยข้อมูลบัตรเครดิต รหัสเอทีเอ็ม ไวรัสตัวนี้เป็นโปรแกรมที่ฝังตัวในเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากจะทำหน้าที่คัดลอกข้อมูลแล้ว ยังติดตามพฤติกรรมผู้ใช้งานทางอินเตอร์เน็ตได้ด้วย เมื่อพิมพ์คำว่า bank ที่ บราวเซอร์ อินเตอร์เน็ต จะมีป็อปอัพ...หน้าต่างพิเศษโชว์ขึ้นมาให้กรอกข้อมูลบัตรเครดิต รวมถึงรหัสเอทีเอ็ม โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย
"เห็นอย่างนี้อย่าได้กรอกรหัสธนาคารตอบกลับ หรือให้ข้อมูลใดๆเด็ดขาด ประเด็นสำคัญ...ตรวจสอบเว็บไซต์ให้แน่ชัดก่อนลงทะเบียนเข้าใช้งาน"
ที่ทำได้ให้คุณคลิกที่สัญลักษณ์รูปแม่กุญแจ ที่มุมขวาล่างของบราวเซอร์อินเตอร์เน็ต เพื่อตรวจสอบข้อมูลยืนยันให้แน่ใจว่าเป็นเว็บไซต์ของธนาคารจริง
รู้ถึงภัยอันน่ากลัวของแก๊งโจรกรรมบัตรเครดิตทั้งในสังคมทั่วไป สังคมอินเตอร์เน็ตกันไปแล้ว ก็รู้ต่อกันอีกหน่อยถึงบทลงโทษ
การปลอมบัตรเครดิต การใช้บัตรเครดิตโดยฉ้อโกงเอาบัตรเครดิตผู้อื่นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานปลอมเอกสาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณี เอาบัตรเครดิตไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หากเป็นการขโมยมาเป็นความผิดฐานลักทรัพย์...กระทงหนึ่ง ถ้านำไปใช้ชำระเงิน โดยแสดงว่าเป็นเจ้าของถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง...อีกกระทงหนึ่ง และถ้ามีการเซ็นชื่อปลอมในใบสลิป บัตรเครดิต จะมีความผิดฐานปลอมเอกสารอีกด้วย
สมมติว่าไม่ได้ขโมยเอาบัตรมา แต่ขโมยจำเลขบัตรเครดิต มาใช้ชำระเงินทางอินเตอร์เน็ต เป็นความผิดฐานฉ้อโกงอย่างเดียว บทลงโทษคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เทียบกับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว หลายคนบอกว่า... บทลงโทษเบาเหลือเกิน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ