โดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ตกเป็นกระแสร้อนซ้ำ ๆ อีกครั้ง สำหรับการแพ้ "ยาลดความอ้วน" อย่างรุนแรง ประเด็นนี้สะท้อนอะไรบ้าง
ทัศนคติเรื่องความอ้วน-ความผอม ? คนไทยอ้วนง่าย ? ความอ้วนน่าเกลียด ? ความอ้วนเป็นโรค ? หรือ กินแล้วไม่ออกกำลังกาย ?
โดยข้อเท็จจริงจากแคมเปญ "ลดพุง ลดโรค" สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกหนึ่งโครงการฯ ที่อยากเห็นคนไทยสุขภาพดีอย่างถูกวิธี ด้วยการใส่ใจการกินและออกกำลังกายเพื่อป้องกันการเกิดโรค สะท้อนไว้ว่า "คนไทยส่วนใหญ่ไม่พึงพอใจกับรูปร่าง ขาดความรู้ด้านโภชนาการ ฝันอยากออกกำลังกายแต่ไร้เวลา ส่งผลให้ต้องเผชิญกับ "ภาวะอ้วนลงพุง" สัญญาณอันตรายของความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ"
แล้วกินอย่างไร ออกกำลังกายแบบไหน ถึงจะมีรูปร่างและสุขภาพดีควบคู่กัน
อาจารย์สาธิก ธนะทักษ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือโค้ชเป้ง ให้คำแนะนำสั้น ๆ ไว้ 3 วิธี คือ 1) ไม่กินหวาน 2) ทานครบมื้อ และครบหมู่ 3) ลดเค็ม เพราะการกินเค็มทำให้เสียสุขภาพ และเป็นผลทางอ้อมทำให้อ้วน !
"ต้องรู้ก่อนว่า น้ำหวานหลายประเภท เท่ากับข้าวถึง 2 มื้อ ฉะนั้นหากต้องการลดความอ้วน แต่ไม่ลดน้ำหวาน ก็ไร้ประโยชน์ในการคุมน้ำหนักให้มีรูปร่างดี นอกจากนี้ การลดน้ำหนัก หรือการกินให้รูปร่างดีนั้นต้องทานให้ครบมื้อ ครบหมู่ให้ได้สัดส่วนทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน"
ส่วนการนับแคลอรี่อาหารต่อมื้อนั้น โค้ชเป้งมองว่าเป็นวิธีการที่ค่อนข้างลำบาก จะดีกว่าหรือไม่ หากจะจำกัดปริมาณข้าว และกินอาหารให้ครบหมู่
"ที่ควรรู้อีกอย่างคือ การกินเค็มทำให้สุขภาพแย่ และเป็นผลทางอ้อมทำให้อ้วน เพราะเกลือเป็นตัวการทำให้ร่างกายมีอาการบวมน้ำ และมีผลทำให้เกิดเซลลูไลท์ได้ด้วย" โค้ชเป้ง กล่าว
สำหรับเคล็ดลับการออกกำลังกายให้มีรูปร่างที่ดีนั้น โค้ชเป้ง บอกว่า มาตรฐานแล้วคนเราควรออกกำลังกายระดับปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์
"เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง จักรยาน ฯลฯ ในระดับที่ร้องเพลงไม่ไหว หายใจแรง แต่ยังพูดได้ แต่สำหรับคนลดน้ำหนักควรออกกำลังกาย 300 นาที เฉลี่ยวันละเกือบประมาณ 45 นาที ซึ่งจะแบ่งการออกกำลังกายเป็นครั้งละ 10-15 นาที ในแต่ละครั้งต่อวันก็ได้"
ทั้งนี้ โค้ชเป้งให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ว่า ควรออกกำลังกายทั้งชีวิต หากคาดหวังว่าออกกำลังกายเป็นเวลา 3 เดือนแล้วน้ำหนักลง หลังจากนั้นเลิกออกกำลังกาย ก็จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับมาอ้วนใหม่
บางคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่น้ำหนักลดลงนั้น โค้ชเป้ง อธิบายว่า "สิ่งที่ร่างกายเสียไปคือน้ำซึ่งจะไปสร้างเนื้อ แต่รูปร่างไม่ค่อยเปลี่ยน ถ้าลดถูกวิธี รูปร่างเราจะลง ถึงน้ำหนักไม่ลง จะหุ่นดีขึ้นได้"
นอกจากนี้ การสร้างกล้ามเนื้อให้ร่างกายในการออกกำลังกายนั้นเป็นเรื่องจำเป็น ควรทำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 วัน คือการเล่นเวท เป็นการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกและเป็นการป้องกันโรคกระดูกพรุน อีกทั้งเรายังได้รูปร่างที่ดีด้วย
"แรงบันดาลใจ ควรเป็นสิ่งแรกที่มีในการเริ่มต้นในการออกกำลังกาย เพราะหากมีคนชวนไปออกกำลังกาย แต่ถ้ามันไม่ได้เริ่มจากตัวเอง ก็ทำไม่ได้นาน ส่วนการกินยาลดความอ้วน หรืออาหารเสริมต่าง ๆ เพื่อลดน้ำหนัก เป็นวิธีที่ไม่ได้เริ่มจากตัวเอง ไม่ได้ใช้ความพยายามด้วยตัวเอง โดยมากจึงไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามีแรงบันดาลใจที่จะลดน้ำหนักด้วยตัวเขาเอง เขาก็จะประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักแบบถูกต้อง" โค้ชเป้ง กล่าว
เพราะเมื่อทุก "ความสำเร็จ" ล้วนเกิดจากความตั้งใจและพยายาม "การลดน้ำหนัก" เพื่อมีสุขภาพและรูปร่างที่ดี ก็เป็นเช่นนั้น
ขอบคุณที่มาจาก สสส.