ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
• การตั้งผู้แทน ก.ค.ศ. เพื่อกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2557
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นชอบให้ตั้งผู้แทน ก.ค.ศ.เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 พ.ศ.2557 ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประกอบด้วย 1) ผู้ทรงคุณวุฒิ 2) อนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ การกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 3) ผู้บริหารในสำนักงาน ก.ค.ศ.
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลจากการเปิดรับสมัครสอบครูผู้ช่วย ระหว่างวันที่ 10-16 มีนาคมที่ผ่านมา มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)/มัยมศึกษา (สพม.) ที่เปิดสอบแข่งขันในครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 90 เขต แยกเป็น สพป. 60 เขต และ สพม.29 เขต รวมทั้งสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ 1 แห่ง โดยมีตำแหน่งว่างที่เปิดสอบแข่งขันในครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 1,888 อัตรา มีผู้สมัครสอบแข่งขันรวมทั้งสิ้น 104,545 คน มีกลุ่มวิชาที่เปิดสอบแข่งขันรวมทั้งสิ้น 40 กลุ่มวิชา โดยตำแหน่งว่างในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์มากที่สุด 407 คน รองลงมา 5 อันดับแรกคือ ภาษาไทย 307 คน ภาษาอังกฤษ 227 คน ปฐมวัย 119 คน สังคมศึกษา 94 คน และฟิสิกส์ 86 คน ตามลำดับ
ทั้งนี้ จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบแข่งขัน ภายในวันที่ 8 เมษายน 2557 สอบแข่งขันภาค ก.19 เมษายน 2557 และภาค ข.20 เมษายน 2557 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านภาค ก.และ ข. ในวันที่ 24 เมษายน 2557 โดยผู้ผ่านจะไปสอบภาค ค.ในวันที่ 27 เมษายน 2557 เป็นต้นไป จากนั้นจะประกาศผลการสอบแข่งขันภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2557
รมว.ศธ.กล่าวถึงการสอบแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งกระจายไปยัง 90 เขตพื้นที่การศึกษา เป็นการกระจายความรับผิดชอบตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและตรงตามความต้องการของเขตพื้นที่การศึกษา หากพบปัญหาการทุจริต ก็จะเกิดความเสียหายเป็นรายเขตพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องรับทราบปัญหาโดยเร็ว เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลมและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียและเกิดความไม่ยุติธรรมต่อผู้เข้าสอบโดยรวม ส่วนมาตรการลงโทษผู้ทุจริต จะดำเนินการทั้งทางวินัยและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงาน ก.ค.ศ. รวบรวมข้อมูล เพื่อวิเคราะห์การรับสมัครในสาขาวิชาต่างๆ ว่า ได้สะท้อนถึงการดูแลปัญหาการขาดแคลนครูในภาพรวมอย่างไร มีการเปิดรับสมัครในสาขาที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่ พร้อมทั้งศึกษาแนวโน้นผู้สมัครในสาขาหรือเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน เพื่อดูการกระจุกหรือกระจายตัวของครู เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มผลิตครูเกินกว่าอัตราว่างหรืออัตราเกษียณถึง 30,000 คนต่อปี ซึ่งจะต้องพิจารณาทบทวนการผลิตครูอย่างเป็นระบบมีคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในภาพรวม โดยมีการถ่วงดุลระหว่างบทบาทของสำนักงาน ก.ค.ศ. และ สพฐ.ต่อไป
• เห็นชอบย้ายรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 11 ราย
ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามคำขอของข้าราชการ ตามที่ สพฐ.เสนอ รวมทั้งสิ้น 11 ราย ดังนี้
1. นายสะอาด อุสมา รอง ผอ.สพป.พังงา เป็น รอง ผอ.สพป.สตูล
2. นายไพโรจน์ พรมสอน รอง ผอ.สพป.เลย เขต 1 เป็น รอง ผอ.สพม. เขต 19
3. นายวีรพงษ์ อุ่นมานนท์ รอง ผอ.สพป.เลย เขต 2 เป็น รอง ผอ.สพป.เลย เขต 1
4. นายแสงศิริ ศิริมงคล รอง ผอ.สพป.สกลนคร เขต 2 เป็น รอง ผอ.สพป.สกลนคร เขต 3
5. นายไชยา ประดิษฐธรรม รอง ผอ.สพป.นนทบุรี เขต 1 เป็น รอง ผอ.สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2
6. นายวีรวัฒน์ คงพิน รอง ผอ.สพป.ปัตตานี เขต 1 เป็น รอง ผอ.สพป.ปัตตานี เขต 2
7. นายกรุณพล พราหมเภทย์ รอง ผอ.สพป.ตรัง เขต 1 เป็น รอง ผอ.สพม. เขต 13
8. นายวุฒิ อุดมสินานนท์ รอง ผอ.สพม. เขต 23 เป็น รอง ผอ.สพม. เขต 33
9. นายชะโลม ตรีศักดิ์ รอง ผอ.สพป.หนองคาย เขต 1 เป็น รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 5
10. นายประเสริฐ กษมาพิศาล รอง ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 2 เป็น รอง ผอ.สพม. เขต 28
11. นายวีระวัฒน์ โพธิ์ทอง รอง ผอ.สพป.ตรัง เขต 2 เป็น รอง ผอ.สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2
• อนุมัติให้สำนักงาน ก.ค.ศ.แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.)
ที่ประชุมได้อนุมัติให้สำนักงาน ก.ค.ศ.แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา" และอนุมัติหลักการการปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน โดยมีสาระสำคัญซึ่งแก้ไขจาก ว5/2557 ดังนี้
- เปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือจัดการศึกษาทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษา และรอง ผอ.สพท. (ตามข้อ 2.6)
- การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก ผอ.สพท.จะประกาศก่อนวันประเมินภาค ก.และ ข.ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ มีการสอบวันเดียวกัน ทั้งกลุ่มทั่วไปและกลุ่มประสบการณ์ (ตามข้อ 5.2.2)
- ให้คณะอนุกรรมการคัดเลือก ผอ.สพท.คัดเลือกตามหลักสูตรที่ ก.ค.ศ.กำหนด (ตามข้อ 5.2.3)
- ให้ สพฐ.ดำเนินการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (ตามข้อ 7)
สรุปสาระสำคัญ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก เพื่อให้มีความครอบคลุมและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานการศึกษาทั้งการประถมศึกษาและการมัธยมศึกษา ดังนี้
1. กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทั่วไป ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่ง และกลุ่มประสบการณ์ ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่งรวมกับการมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน (ด้านการประถมศึกษา หรือการมัธยมศึกษาแล้วแต่กรณี) ผู้มีคุณสมบัติที่มีสิทธิ์สมัครได้ทั้ง 2 กลุ่ม ให้เลือกสมัครได้เพียงกลุ่มเดียว ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก เกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. ก.ค.ศ.กำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้งในแต่ละกลุ่มในสัดส่วนที่เท่ากัน หากไม่สามารถกำหนดสัดส่วนให้เท่ากันได้ จะกำหนดกลุ่มประสบการณ์มากกว่า 1 ตำแหน่ง
3. การคัดเลือก กลุ่มทั่วไปจะต้องสอบภาค ก และภาค ข ก่อน และต้องสอบได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยจะคัดเลือกไว้มากกว่าจำนวนตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้งไม่เกิน 1 เท่า เพื่อเข้าสอบภาค ค และต้องสอบได้คะแนนภาค ค ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงถือว่าผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ในขณะที่กลุ่มประสบการณ์ จะมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกไม่น้อยกว่า 5 คน ประเมินความเหมาะสมเบื้องต้นก่อน เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติ มากกว่าจำนวนตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง ไม่เกิน 1 เท่า ให้เข้าสอบ ภาค ก และภาค ข และต้องได้คะแนน 2 ภาค รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าผ่านเกณฑ์การคัดเลือก
4. ให้ขึ้นบัญชีไว้ไม่เกิน 2 ปี กรณีประกาศรับสมัครคัดเลือก ผอ.สพป. และ ผอ.สพม. พร้อมกัน จะขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกแยกบัญชี เป็นบัญชี ผอ.สพป. และ ผอ.สพม.และแต่ละบัญชีแยกเป็นกลุ่มทั่วไปและกลุ่มประสบการณ์ โดยให้บรรจุและแต่งตั้งสลับกันเริ่มจากกลุ่มประสบการณ์ก่อน หากบัญชีกลุ่มใด หมดก่อนให้บรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกจากบัญชีกลุ่มที่เหลือ
5. สำหรับการคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาสนั้น ผู้สมัครจะเป็นผู้มีคุณสมบัติที่ปฏิบัติงานอยู่ในหรือนอกเขตพื้นที่เฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้ แต่ต้องสมัครใจจะปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าหากได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษฯ แล้ว จะต้องปฏิบัติงานในเขตพัฒนาพิเศษฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จึงจะขอย้ายออกนอกเขตพัฒนาพิเศษฯ ได้
6. ให้ สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด
• การกำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่าง เพื่อใช้บรรจุและแต่งตั้ง ผอ.สพท.
ที่ประชุมได้รับทราบการกำหนดสัดส่วนจำนวนตำแหน่งว่าง เพื่อใช้บรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพท. ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน สพฐ.รายงานว่ามีอัตราว่าง ผอ.สพท.จำนวน 50 ตำแหน่ง ดังนี้
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 36 ตำแหน่ง
- เขตพื้นที่การศึกษาปกติ 33 ตำแหน่ง แยกเป็นกลุ่มทั่วไป 16 ตำแหน่ง และกลุ่มประสบการณ์ 17 ตำแหน่ง
- เขตพื้นที่การศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ตำแหน่ง แยกเป็นกลุ่มทั่วไป 1 ตำแหน่ง และกลุ่มประสบการณ์ 2 ตำแหน่ง
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 14 ตำแหน่ง
- เขตพื้นที่การศึกษาทั่วไป 13 ตำแหน่ง แยกเป็นกลุ่มทั่วไป 6 ตำแหน่ง กลุ่มประสบการณ์ 7 ตำแหน่ง
- เขตพื้นที่การศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ คัดเลือกกลุ่มประสบการณ์ 1 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ จะมีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือกไว้ไม่เกิน 2 ปี แยกบัญชีเป็น ผอ.สพป. และ ผอ.สพม. และแต่ละบัญชีให้แยกเป็นกลุ่มทั่วไปและกลุ่มประสบการณ์ โดยให้บรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกแต่ละกลุ่มสลับกัน เริ่มจากกลุ่มประสบการณ์ หากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกกลุ่มใดหมดบัญชีก่อน ให้บรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีกลุ่มที่เหลือ สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็น ผอ.สพท.ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในเขตพัฒนาพิเศษฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี จึงจะขอย้ายออกนอกเขตพื้นที่ดังกล่าวได้
• ยุติเรื่อง กรณีการใช้ตำแหน่งว่างที่เหลือจากการบรรจุและแต่งตั้งผู้ผ่านเกณฑ์การสรรหา ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา
ตามที่กลุ่มรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่สอบได้คะแนนผ่านเกณฑ์การตัดสินร้อยละ 60 ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 1,224 คน เรียกร้องขอขึ้นบัญชี เป็นผู้ผ่านการสรรหา เนื่องจากเห็นว่าตำแหน่งว่างและคาดว่าจะว่างจากการเกษียณอายุราชการใน 2 ปีงบประมาณที่ประกาศรับสมัคร มีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ซึ่งการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ผ่านมา มีมติมอบ สพฐ.ตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งว่างและตำแหน่งที่คาดว่าจะว่างที่ประกาศรับสมัครอีกครั้งหนึ่ง
สพฐ.ได้ยืนยันข้อมูลอัตราว่างตามประกาศรับสมัคร ลงวันที่ 26 มีนาคม 2555 ถูกต้องแล้ว คือ ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพป. ในกลุ่มประสบการณ์จำนวน 638 ตำแหน่ง กลุ่มทั่วไป 442 ตำแหน่ง และตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม. ในกลุ่มประสบการณ์จำนวน 111 ตำแหน่ง กลุ่มทั่วไปจำนวน 69 ตำแหน่ง ซึ่ง ก.ค.ศ.มีมติรับทราบและให้ยุติเรื่อง
รมว.ศธ.กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ส่วนตัวมีความเห็นใจและเสียดายที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นที่ยุติแล้ว ส่วนการจะไปเยียวยา ก็ไม่มีวิธีใด เพราะยังไม่ได้เป็นผู้ขึ้นบัญชีไว้ ยอมรับว่าการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวอาจถูกฟ้องร้องได้จากทั้งสองฝ่าย แต่ก็ถือว่าได้ดำเนินการไปตามประกาศรับสมัครแล้ว
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ