Advertisement
เมื่อผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบางแห่งได้คะแนนผลการเรียนสูงมากหรืออาจมีคะแนนระดับเกียรตินิยมจำนวนมาก ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยถึงมาตรฐานของการวัดและประเมินผลของสถาบันการศึกษาแห่งนั้น ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงในเบื้องต้นก่อนว่า นักศึกษาของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลการเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนเข้า สู่สถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและของเอกชน
นักศึกษาที่มีผลการเรียนดี ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนมากจะเลือกเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาของรัฐเนื่องจากค่าเล่าเรียนมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และมีความมั่นใจในระบบคุณวุฒิหรือปริญญาที่ได้รับมากกว่า ถึงแม้ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของรัฐเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก และอาจมีบางแห่งที่ผู้จบการศึกษาได้รับคุณวุฒิหรือปริญญาไม่ตรงกับเจตนาของการเข้ามาเรียนก็ตามเหตุการณ์เหล่านั้นค่อยๆ ได้รับการแก้ไขตามกลไกของระบบราชการไปแล้ว
สำหรับสถาบันอุดมศึกษา เอกชนต้องแข่งขันกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและของเอกชนด้วยกันเองในการรับนักศึกษาเข้ามาศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของตน การสร้างแรงจูงใจ และการเชิญชวนให้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาอาจนำวิธีการและกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ทำให้ถูกมองว่าเป็นการทำธุรกิจทางการศึกษามากเกินไปและสิ่งที่คิด ว่าสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาเข้ามาเรียนได้คือ เรียนง่าย สะดวกสบายจบง่าย แค่จ่ายค่าเล่าเรียนให้ครบ จึงมีคำพูดเชิงประชดประชันว่า “จ่ายครบ จบแน่”
ยิ่งกว่านั้น ยังมีการปล่อยเกรดหรือ “ให้เกรดเฟ้อ” ทำให้ผู้จบการศึกษาได้เปรียบเมื่อมีการแข่งขันที่ต้องมีการพิจารณาเกรดของผู้จบการศึกษาเป็นคุณสมบัติประการหนึ่ง อาจทำให้ผู้ได้เกรดไม่ถึงขาดคุณสมบัติทันที ตัวอย่างเช่น การสมัครขอรับทุนศึกษาต่อหรือทุนการศึกษาแบบให้เปล่ากับผู้เรียนดี อาจมีการกำหนดเกรดขั้นต่ำ ที่ระดับ 3.00 ผู้ที่ได้เกรดไม่ถึง 3.00 ก็ขาดคุณสมบัติทันที การได้เกรดสูงๆ จึงเป็นการได้เปรียบกว่าเกรดต่ำๆ โดยอาจไม่ได้พิจารณาถึงมาตรฐานการวัดและประเมินผลหรือการให้เกรดของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน
มาตรฐานข้อสอบ
ข้อสอบ เป็นเครื่องมือสำหรับวัดผลการศึกษาที่รู้จักกันทั่วไปข้อสอบที่ดีและมี มาตรฐานนั้นนักการศึกษา หรือผู้ที่เป็นครู/อาจารย์ย่อมมีความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นถึงคุณลักษณะ สำคัญของข้อสอบที่ดี เช่น มีความเชื่อมั่น มีความเที่ยงตรง มีอำนาจจำแนก และ มีระดับความยากง่าย ในระดับมาตรฐาน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม “ข้อสอบที่ครูทำขึ้น” (Teacher Made Tests) นั้นไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ข้อสอบมาตรฐาน” (Standardized Test) แต่สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้ามีกระบวนการควบคุมคุณภาพประกอบรวมอยู่ด้วย
กระบวนการควบคุมคุณภาพของข้อสอบนิยมทำในรูปของคณะกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อความรอบคอบในการพิจารณาและเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกระทั่งกับ ครู/อาจารย์ผู้ออกข้อสอบ สำหรับสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น คณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบจะเป็นบุคคลภายนอกสถาบันการศึกษาจำนวน 3-5 คนซึ่งอาจประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษา เนื้อหาวิชา และผู้ใช้บัณฑิต เป็นต้น
สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนมากไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้ต้องมีการควบคุมคุณภาพของข้อสอบและการออกข้อสอบ กระบวนการออกข้อสอบจึงถือเป็นความรับผิดชอบของผู้สอนในรายวิชานั้น แต่ในทางปฏิบัติมหาวิทยาลัยของรัฐมักมีคณะกรรรมการในการออกข้อสอบและตรวจสอบ คุณภาพข้อสอบก่อนจะนำไปใช้สอบกับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่ในระดับบัณฑิตศึกษาส่วนมากยังไม่มีกระบวนการควบคุมการออกข้อสอบในรายวิชาต่าง ๆ ซึ่งอาจถือเป็นประเด็นในด้านของความเป็นเลิศและเสรีภาพทางวิชาการของคณาจารย์
(ภาพประกอบที่ 2)
(คำบรรยายใต้ภาพ) คณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
มาตรฐานการให้เกรด
การควบคุมคุณภาพการตัดสินผลการศึกษาหรือการให้เกรดนั้น โดยปกติเกรดที่ผู้สอนให้มาต้องผ่านการเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการอนุมัติ เช่น คณะกรรมการประจำคณะวิชาที่เปิดสอนรายวิชานั้น คณบดี หรือ ผู้ที่คณบดีมอบหมาย แต่ในทางปฏิบัติคณะกรรมการระดับคณะวิชาไม่อาจพิจารณากระบวนการ วิธีการ หรือรายละเอียดของการให้เกรดหรือการตัดสินผลได้มากนัก จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการตรวจสอบการตัดสินผลและการให้คะแนนหลังจากที่มีการตรวจสอบการออกข้อสอบแล้วอีกครั้ง
ในสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเอกชนกำหนดให้มีการตรวจสอบการตัดสินผลโดยคณะกรรมการจากภายนอก เช่นเดียวกับการควบคุมคุณภาพของข้อสอบเพื่อพิจารณากระบวนการ วิธีการตัดสินผล หรือการให้เกรดกับนักศึกษา สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาดูจากกระบวนการวิธีการตัดเกรดตามหลักวิชาการวัด และประเมินผลทางการศึกษาและการใช้ดุลพินิจประกอบการพิจารณา
แต่สำหรับสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนมากไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดไว้เช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติมักมีการตรวจสอบตั้งแต่ระดับคณะกรรมการบริหารหลักสูตรหรือ คณะกรรมการภาควิชา หรือหัวหน้าภาควิชา (ถ้ามี) และกรรมการระดับคณะวิชาก่อนจะนำส่งฝ่ายทะเบียน การแก้ไขเกรดถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากอาจารย์ผู้สอนและคณะกรรมการที่อนุมัติผลการศึกษาก่อนจึงจะแก้ไขได้ ผู้ใดแก้ไขเกรดโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องถือเป็นความผิดร้ายแรง
เกรดเฟ้อและเกรดฝืด
“เกรดเฟ้อ” หมายถึง การตัดสินผลด้วยการให้เกรดเกินมาตรฐานขีดความสามารถที่แท้จริงส่วน “เกรดฝืด” หมายถึง การตัดสินผลด้วยการให้เกรดต่ำกว่ามาตรฐานขีดความสามารถที่แท้จริง
การเกิดเกรดเฟ้อหรือเกรดฝืดนั้นเกิดจากการขาดกระบวนการในการควบคุมคุณภาพการตัดสินผลหรือการให้เกรดอย่างเคร่งครัดการให้เกรดจึงตกอยู่ภายใต้ดุลพินิจของอาจารย์ผู้สอนเป็นสำคัญถึงแม้ว่าสิทธิ์หรืออำนาจในการตัดสินผลนี้ควรเป็นของอาจารย์ผู้สอนไม่ควรให้ผู้ใดก้าวล่วงอำนาจในการใช้ดุลพินิจนี้ได้ แต่ควรต้องมีระบบการตัดสินผลที่เป็นที่ยอมรับสำหรับอาจารย์เพื่อการใช้เป็นกระบวนการในการตัดสินผลได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง และเชื่อถือได้อย่างอย่างมั่นใจด้วย
ระบบที่กล่าวถึงนั้นอาจเป็นเอกสารคู่มือที่แสดงถึงกระบวนการในการตัดสินผลหรือให้เกรดอาจอยู่ในคู่มือ ครู/อาจารย์ หรืออาจเป็นระบบสารสนเทศบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือเป็น Software ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ช่วยการตัดสินผลด้วยวิธีการต่างๆ ตามเกณฑ์ที่อาจารย์ผู้สอนและสถาบันการศึกษาได้กำหนดไว้ สิทธิและเสรีภาพของอาจารย์ผู้สอนจึงยังคงมีอยู่บริบูรณ์โดยมิมีการก้าวล่วง แต่เพิ่มความถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำและยืนยันระบบที่เป็นกระบวนการตัดสินผลได้อย่างชัดเจน
"เกรดเฟ้อ" มักเกิดในสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งนี้อาจเป็นความกรุณาของ อาจารย์ที่ต้องการให้ศิษย์ของตนได้มีโอกาสในสังคมมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าผู้ จบการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมักจะเสียเปรียบผู้จบการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐประกอบกับนโยบายของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนบางแห่งต้องการรักษานักศึกษาไว้ถ้าให้เกรดนักศึกษาน้อยจะทำให้นักศึกษาต้องพักการเรียนหรือพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา นอกจากนั้นครู/อาจารย์อาจถูกเพ่งเล็งจากผู้บริหารถึงการให้เกรดที่ทำให้ นักศึกษาต้องพ้นสภาพหรือได้เกรดต่ำๆ จำนวนมาก
ส่วน "เกรดฝืด" มักเกิดในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งอาจารย์มีสิทธิและเสรีภาพในการตัดสินผล และให้เกรดนักศึกษาของตนมากกว่าในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนประกอบกับค่านิยม บางประการที่ว่า ถ้าให้เกรดต่ำ จำนวนมากถือว่าอาจารย์ผู้นั้นเก่งมีมาตรฐานสูง บางห้องเรียนไม่มีใครได้เกรดสูงกว่า C หรือบางห้องให้เกรด F เกือบทั้งห้อง ผ่านเพียงคนเดียว ยิ่งสร้างความน่าเกรงขามให้กับอาจารย์ผู้นั้น
ข้อเสนอสำหรับผู้เกี่ยวข้อง
ในอดีตผู้เข้ารับราชการถ้าได้คะแนนเกียรตินิยมจะมีเงินเพิ่มพิเศษให้ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว แต่ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังไม่ยกเลิกผู้จบการศึกษาระดับเกียรตินิยม ยังมีค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ การให้รางวัลผู้เรียนดีด้วยการตอบแทนด้วยเงินเพิ่มพิเศษนี้มีทั้งข้อดีและข้อวิพากษ์เรื่องของความเป็นธรรมจนภาคราชการต้องยกเลิกไป ซึ่งอาจถูกมองได้ว่าเป็นการไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนตั้งใจเรียน ในภาครัฐอาจต้องมีการทบทวนการให้รางวัลผู้เรียนที่มีความตั้งใจเรียนและได้ คะแนนหรือเกรดระดับเกียรตินิยม
สำหรับรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่ยังคงมีค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ได้คะแนนเกียรตินิยม อาจต้องทบทวนระเบียบและนโยบายนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนมีความอุตสาหะและให้อยู่บนฐานของความเป็นธรรมกันผู้อื่นด้วยเช่นกัน
การควบคุมคุณภาพการให้เกรดจึงเป็นกระบวนการที่ควรนำมาใช้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมทั้งของรัฐที่ยังไม่มีระบบการควบคุมคุณภาพของข้อสอบ การออกข้อสอบระบบช่วยเหลือการตัดสินผลและการให้เกรดสำหรับคณาจารย์ในสถานศึกษาของตน และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาควรต้องมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดในการสอบ การออกข้อสอบและการตัดสินผลการเรียนของนักศึกษาอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ
Advertisement
เปิดอ่าน 41,972 ครั้ง เปิดอ่าน 174,774 ครั้ง เปิดอ่าน 55,322 ครั้ง เปิดอ่าน 125,483 ครั้ง เปิดอ่าน 37,354 ครั้ง เปิดอ่าน 41,778 ครั้ง เปิดอ่าน 10,915 ครั้ง เปิดอ่าน 29,489 ครั้ง เปิดอ่าน 22,564 ครั้ง เปิดอ่าน 18,792 ครั้ง เปิดอ่าน 43,174 ครั้ง เปิดอ่าน 35,932 ครั้ง เปิดอ่าน 24,753 ครั้ง เปิดอ่าน 42,523 ครั้ง เปิดอ่าน 16,406 ครั้ง เปิดอ่าน 16,380 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 119,656 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,052 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 31,177 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 29,413 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 45,426 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,104 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 19,654 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 12,243 ครั้ง |
เปิดอ่าน 4,466 ครั้ง |
เปิดอ่าน 21,824 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,068 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,512 ครั้ง |
|
|