นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางฉวีวรรณ คลังแสง และ ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ร่วมประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 10/2557 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม โดยมีประเด็นสำคัญ สรุปดังนี้
● รับทราบรายงานความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของ สพฐ.
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งได้มีแนวทางการดำเนินการที่ผ่านมาตามลำดับ ได้แก่ การจัดประชุมระดมความคิด เสวนา ประชุมกำหนดร่างประกาศ ศธ.พร้อมทั้งออกประกาศ ศธ.เกี่ยวกับนโยบายการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และกำหนดแนวปฏิบัติตามประกาศ ศธ. โดยได้ประกาศและจัดพิมพ์แนวปฏิบัติฯ เผยแพร่แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการประเมินความพร้อมของสถานศึกษาและความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษของครู รวมทั้งได้สร้างความเข้าใจ การพัฒนาครูด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการจัดหา/ผลิตสื่อ คู่มือ แผนการจัดการเรียนรู้ จัดสรรงบประมาณ จัดหาสื่อฝึกทักษะ จัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้ม ตลอดจนจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ทั้งนี้ สพฐ.ได้เน้นการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
1) ใช้กรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล ได้แก่ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) เป็นกรอบความคิดเหลักในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย ทั้งในการออกแบบหลักสูตร การพัฒนาการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดผล การพัฒนาครู รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้
2) ปรับจุดเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเรียนรู้ โดยเน้นการสื่อสาร (Communicative Language Teaching : CLT) โดยปรับการเรียนการสอนจากการเน้นไวยากรณ์มาเป็นเน้นการสื่อสารที่เริ่มจากการฟัง ตามด้วยการพูด การอ่าน และการเขียน ตามลำดับ
3) ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานหลัก ด้วยหลักสูตร แบบเรียน สื่อการเรียนการสอน แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันได้ ทั้งนี้ตามความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา และแสดงถึงความถนัดและความสนใจของผู้เรียน
4) ส่งเสริมการยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ได้แก่ ขยายโครงการพิเศษด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ได้แก่ 1) English Program (EP) 2) Mini English Program (MEP) 3) International Program (IP) สำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถทางวิชาการสูง 4) English Bilingual Education (EBE) โดยจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และศิลปศึกษาแบบสองภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) 5) English for Integrated Studies (EIS) ด้วยการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ
รวมทั้งมีการพัฒนาห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ (Enrichment Class) เพื่อให้ผู้เรียนที่มีศักยภาพทางภาษาอังกฤษ สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารทางสังคม (Social Interaction) และด้านวิชาการ (Academic Literacy) และพัฒนาห้องเรียนสนทนาภาษาอังกฤษ (Conversation Class) ที่เน้นทักษะการพังและการพูด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและรายวิชาภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับประกอบอาชีพ โดยเฉพาะสำหรับผู้เรียนที่จะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในโรงเรียนขยายโอกาส รวมทั้งให้มีการเรียนการสอนวิชาสนทนาภาษาอังกฤษเป็นการทั่วไป และมีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น รวมถึงจัดให้เป็นสาระเพิ่มเติมในลักษณะวิชาเลือกได้ด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจ ความถนัด และศักยภาพ
5) ยกระดับความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครู ให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ที่เน้นการสื่อสาร (CLT) และเป็นไปตามกรอบความคิดเหลัก CEFR โดยจัดให้มีการประเมินความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษสำหรับครู (ผู้สอน) เพื่อให้มีการฝึกอบรมครู ตลอดจนพัฒนาระบบติดตามแก้ปัญหาและช่วยเหลือครู และให้มีกลไกการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และมีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความแตกต่างของระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ เพื่อให้สามารถยกระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษได้จริง นอกจากนี้ ควรมีระบบการฝึกฝน และการสอบวัดระดับความสามารถออนไลน์เพื่อการพัฒนาต่อเนื่องด้วย
6) ส่งเสริมให้มีการใช้สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาความสามารถทางภาษาของครูและผู้เรียน ทั้งการส่งเสริมให้มีการผลิต การสรรหา e-Content, Learning Applications รวมถึงแบบฝึกและแบบทดสอบที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสำหรับการเรียนรู้
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า การจัดกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น ช่วงปิดภาคเรียนของ สพฐ.นั้น จะดำเนินการจัดค่ายนักเรียนชั้น ป.3 จำนวน 10 ค่าย, ค่ายนักเรียนชั้น ป.4-5 จำนวน 183 ค่าย, ค่ายนักเรียนชั้น ม.3 จำนวน 76 ค่าย และค่ายนักเรียนชั้น ม.3 ขยายโอกาสฯ จำนวน 72 ค่าย รวมทั้งการจัดอบรมครูภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา 20,000 คน และระดับมัธยมศึกษา จำนวน 20,000 คน ทั่วประเทศในปีนี้ และคาดว่าการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนภาษาอังกฤษในครั้งนี้ จะสามารถเริ่มต้นได้ในปีการศึกษา 2557 ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการติดต่อสื่อสารได้ในทุกระดับ รวมทั้งการอาชีวศึกษาด้วย นอกจากนี้ สพฐ.จะต้องหารือกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) รวมทั้งหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการออกข้อทดสอบต่างๆ และให้สามารถพัฒนาการดำเนินการได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลต่อไปด้วย
● รับทราบสรุปผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2557 ของ ศธ.
ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2557 ของ ศธ. ตามระบบ EIS.GFMIS ณ วันที่ 7 มีนาคม 2557
ในปีงบประมาณ 2557 ศธ.ได้รับงบประมาณรายจ่าย จำนวนประมาณ 482,788 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 453,841 ล้านบาท และงบลงทุน 28,946 ล้านบาท โดยงบประมาณทั้งสองส่วนใช้จ่ายไปแล้ว 215,072 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.55 สามารถจำแนกการใช้จ่ายงบประมาณเป็นรายหน่วยงาน ดังนี้
- สำนักงานปลัดกระทรวง ได้รับงบประมาณ 55,527 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 20,254 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.48
- สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้รับงบประมาณ 266 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 78 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.42
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับงบประมาณ 307,211 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 135,213 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.01
- สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับงบประมาณ 20,773 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 7,438 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.81
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้รับงบประมาณ 95,453 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 49,135 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.48
- หน่วยงานในกำกับของ ศธ. และองค์การมหาชน ได้รับงบประมาณ 3,556 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 2,951 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.97 ประกอบด้วย
1) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับงบประมาณ 1,794 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 1,671 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.15
2) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้รับงบประมาณ 286 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 199 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 69.80
3) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับงบประมาณ 234 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 128 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.61
4) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับงบประมาณ 340 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 340 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100
5) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ได้รับงบประมาณ 36 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 36 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100
6) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ได้รับงบประมาณ 864 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 575 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66.49
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดมาตรการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งมีเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ไตรมาสที่ 2 ของส่วนราชการต่างๆ คือ ภาพรวมรายจ่ายลงทุน (สะสม) ร้อยละ 35 และภาพรวมทุกงบรายจ่าย (สะสม) ร้อยละ 46 ซึ่ง ศธ. ใช้จ่ายภาพรวมงบลงทุน (สะสม) เพียงร้อยละ 6.85 และภาพรวมทุกงบรายจ่าย (สะสม) ร้อยละ 44.55 ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ดังนั้น ศธ.จึงต้องการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 2 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
● รับทราบข้อเสนอแนะการผลิตและพัฒนาครูที่เกี่ยวข้องกับคุรุสภา
ที่ประชุมได้รับทราบประเด็นข้อเสนอแนะการผลิตและพัฒนาครูที่เกี่ยวข้องกับคุรุสภา ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รายงานความคืบหน้าว่า ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่ใช้ครู และคุรุสภา ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 และ 14 มีนาคม 25557 โดยมีสาระสำคัญที่คุรุสภาได้ชี้แจงและรับข้อเสนอในประเด็นต่างๆ เช่น
- หลักสูตร ป.บัณฑิต กับการรับรองผู้จบสายวิชาชีพอื่น เพื่อมุ่งหวังให้ผู้จบสายวิชาชีพอื่นและมีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ขาดแคลน เข้ามาเป็นครูมากขึ้น แต่ก็จำเป็นต้องกำกับควบคุมไม่ให้ผลิต ป.บัณฑิต ออกมาจนไร้คุณภาพ
ในประเด็นนี้ คุรุสภาได้รับข้อเสนอที่จะกำหนดคุณสมบัติผลการเรียนดี สาขาขาดแคลนเข้าเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิต โดยจะนำเข้าหารือในการประชุมกรรมการคุรุสภาในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ส่วนสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิต จำนวน 51 แห่ง คาดว่าจะได้รับการพิจารณาทั้งหมด เพื่อเปิดเรียนได้ในเดือนสิงหาคม 2557
ส่วนกรณีครูที่มีใบอนุญาตการสอน 2 ปีที่จะหมดอายุ รวมทั้งการออกใบประกอบวิชาชีพครูในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล และครูอาชีวศึกษานั้น คุรุสภาชี้แจงว่าต้องการครูที่มีความตั้งใจเป็นครู อย่างไรก็ตาม ครูที่อยู่ในพื้นที่พิเศษจะได้รับการดูแลอยู่แล้ว ตามระเบียบมาตรา 43 ที่ได้ยกเว้นครูในพื้นที่ห่างไกล
สำหรับปัญหาความต้องการที่จะให้มีการยกเว้นผู้ที่จบตรงในสาขาขาดแคลน และที่เป็นความต้องการของสังคม เข้ามาเป็นครูมากขึ้นนั้น ขณะนี้ ก.ค.ศ.กำลังร่างหลักเกณฑ์คนที่มีความสามารถ เชี่ยวชาญ ทั้งเป็นข้าราชการและไม่เป็นข้าราชการ มาเป็นครู ในขณะที่คุรุสภาได้เสนอให้ทำเป็นโครงการพิเศษ เช่น ผลิตทางด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกับ สสวท. โดยมีการฝึกและทำการสอน 1-2 ปี หรือการพิจารณาที่จะเปิดหลักสูตร ป.บัณฑิต เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
- การรับรองมาตรฐานหลักสูตรวิชาชีพของผู้สำเร็จระดับปริญญาโทและเอก
คุรุสภาได้ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการรับรองมาตรฐานหลักสูตรดังกล่าว ไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรฐานหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เนื่องจากคุรุสภาจะดูเพียงสาระหลักสูตรมีความครอบคลุมมาตรฐานหลักสูตรวิชาชีพที่คุรุสภากำหนดหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ส่งคนไปตรวจประเมิน
- การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาสำหรับปริญญาตรี คุรุสภาชี้แจงว่ายังคงมีความจำเป็นต้องให้มีการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เนื่องจากใช้ระบบปิด เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.สภาครูฯ พ.ศ.2546 ที่ระบุว่าผู้มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่า ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่คุรุสภากำหนด
กรณีผู้จบปริญญาที่ไม่ใช่สาขาทางการศึกษาโดยตรง คุรุสภาชี้แจงว่าควรเปิดโอกาสให้มีใบประกอบวิชาชีพ โดยดำเนินการเช่นในปี 2548 รวม 3 แนวทาง ได้แก่ 1) เทียบโอนมาตรฐาน 11 มาตรฐาน 2) สอบสะสมมาตรฐานให้ครบ 11 มาตรฐาน 3) อบรมหลักสูตรที่คุรุสภารับรองให้ครบ 11 มาตรฐาน
- ครูต่างประเทศที่มาสอนในประเทศไทย คุรุสภารับไปพิจารณาในการให้สมาคมโรงเรียนนานาชาติจัดหลักสูตรอบรมวัฒนธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณประกอบวิชาชีพให้กับครูต่างชาติ และการสนับสนุนการแปลเอกสารเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจตรงกัน และจะปรับขั้นตอนการออกใบประกาศนียบัตรรับรองให้กระชับ รวดเร็ว สนองต่อการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขอใบประกาศนียบัตรรับรองแก่ครูต่างประเทศ
รมว.ศธ.กล่าวว่า ต้องการให้องค์กรหลักได้รวบรวมข้อมูล สภาพปัญหา ระบบ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งหารือกับองค์กรหน่วยงานที่ใช้ครู และคุรุสภา เพื่อให้เกิดความรอบคอบและได้ข้อสรุปที่เป็น Package ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนครู รวมทั้งการผลิตและพัฒนาครูให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยขอให้มองปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้ง และไม่กระทบกับวิชาชีพครู
● ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัย กับนักเรียนนักศึกษา
รมว.ศธ.ได้แจ้งให้องค์กรหลักได้ช่วยกันพิจารณาถึงประเด็นปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนนักศึกษา เช่น อุบัติเหตุจากการเดินทางไปทัศนศึกษา ที่โรงเรียนมักเดินทางในช่วงเวลากลางคืน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านที่พัก หรือการอนุญาตให้เด็กๆ เข้าไปนั่งกับจระเข้ในสวนสัตว์ แม้จะเป็นสัตว์ที่เชื่องแล้วก็ตาม หรือการจมน้ำตายของเด็กๆ จำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน หรือแม้แต่การป้องกันกรณีที่อาจจะมีคนบุกรุกเข้าไปทำร้ายนักเรียนในสถานศึกษา เป็นต้น
รมว.ศธ.กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน/หลายกระทรวง ที่ควรจะต้องช่วยกันดูแลป้องกัน พร้อมทั้งมีมาตรการต่างๆ รัดกุมมากขึ้น จึงขอให้มีการประชุมหารือเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ภายในเดือนมีนาคม 2557 ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับผู้ทรงคุณวุฒิด้านนี้ เพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุ/อุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ