ในช่วงเวลาอันวิกฤติ ไม่ว่าจะวิกฤติด้วยเหตุใด จะเป็นเหตุจากธรรมชาติหรือเหตุจากการกระทำของมนุษย์ก็ตาม ผู้นำมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะแสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยหลักการอันถูกต้อง เหมาะสม เพื่อประโยชน์ของหมู่ชนในสังคม การที่ผู้นำจะสามารถดำเนินบทบาทได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมนั้นย่อมต้องอาศัยความกล้าหาญ ผู้นำที่จะมีความกล้าหาญได้ย่อมต้องมีหลักธรรมของการเป็นผู้นำนั้น
ธรรมสำหรับผู้นำที่ว่านี้คือ พรหมวิหารธรรม หรือที่รู้จักกันว่า พรหมวิหารสี่ คือธรรมของผู้เป็นใหญ่ และผู้เป็นใหญ่ก็คือผู้นำ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ตามคือสมาชิกในสังคมนั่นเอง
ขอทบทวนพรหมวิหาร 4 ข้ออีกครั้งหนึ่งดังนี้
เมตตา คือความรัก ผู้นำที่มีความรักประชาชน หรือสมาชิกในองค์กร ย่อมมีความปรารถนาที่จะทำสิ่งดีๆ มีประโยชน์และความสุขแก่ประชาชนโดยถ้วนทั่ว
กรุณา คือ ความสงสาร ผู้นำที่มีความรักแล้ว ย่อมจะมีความสงสาร เห็นอกเห็นใจ ในความทุกข์ ความลำบากของประชาชน หาหนทางที่จะขจัดทุกข์ สร้างสุข ให้เกิดขึ้น
มุทิตา คือ ความยินดี ผู้นำที่มีเมตตา กรุณา ย่อมจะมีความยินดีในความสำเร็จ ความสุข ของประชาชน แม้ผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนได้รับการยอมรับการนิยมยกย่องเกินตน ผู้นำย่อมต้องมีจิตใจที่ยินดี ไม่อิจฉาริษยา หมั่นไส้ พร้อมที่จะสนับสนุนความดีนั้น นี่เป็นมุทิตาของผู้นำ
อุเบกขา คือ การวางเฉย ผู้นำที่มี ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ย่อมมีการวางเฉยในสิ่งที่เหมาะควร การวางเฉยไม่ใช่การนิ่งเฉย หรือ ทอดธุระในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ประชาชนเกิดความทุกข์ยากแล้ววางเฉย แบบนี้มิใช่ จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเต็มที่ทุกวิถีทาง แต่การวางเฉยของผู้นำย่อมเป็นการวางเฉยจากความลำเอียง อาทิ หากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งกันขึ้นในสังคมหรือองค์กร ผู้นำต้องวางเฉยไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จำต้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรมที่สุด ไม่เข้าข้างคนผิด...ปล่อยคนชั่วลอยนวล...
ขอบคุณที่มาข้อมูลwww.kosolnet.com