นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ร่วมประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 ณ ห้องประชุมอาคารหอพัก สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา มีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
• การเสนอของบกลางสำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ของ กยศ.
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าของการเสนอของบประมาณ (งบกลาง) สำหรับผู้กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รายใหม่ ประจำปีการศึกษา 2557 พบว่ามีจำนวนผู้ขอกู้ยืมรายใหม่ประมาณ 112,500 คน รวมเป็นเงินจำนวน 1,408 ล้านบาท ซึ่งได้ทำการเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาด้วย ที่คาดว่าจะมีความต้องการของผู้กู้รายใหม่จำนวนทั้งสิ้น 263,500 คน คิดเป็นงบประมาณจำนวน 3,642 ล้านบาท
ดังนั้น ศธ.จึงจะเสนอขอเพิ่มงบกลางปีงบประมาณ พ.ศ.2557 สำหรับให้ผู้ขอกู้ยืมรายใหม่ เฉพาะภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 151,000 คน หรือใช้งบประมาณเพิ่มจำนวน 2,234 ล้านบาท ซึ่งการที่ กยศ.ถูกตัดงบประมาณไปในช่วงแรก เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ ให้ไปปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนให้เรียบร้อยก่อน แต่ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว และพบว่างบประมาณสำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาที่ประสงค์จะขอกู้ยืมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย,ปวช., ปวท./ปวส., อนุปริญญา และปริญญาตรีบางสาขาที่ไม่ได้กู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้อนาคต (กรอ.) ได้รับผลกระทบมาก จึงจำเป็นต้องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 มีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติงบกลางให้ต่อไป ซึ่งการขออนุมัติงบกลางขณะนี้อยู่ระหว่างรอรัฐบาลใหม่ จึงใช้ด้านอื่นๆ ไม่ได้ แต่ด้านการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นอนาคตทางการศึกษาสำหรับนักเรียนนักศึกษา หากไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติ ศธ.ก็จำเป็นต้องเสนอขอจนกว่าจะได้รับการอนุมัติ
• ใบประกอบวิชาชีพครู
รมว.ศธ.กล่าวว่า ตนได้กำชับให้ทุกหน่วยงานใน ศธ.รับประเด็นปัญหาจากกรณีการออกใบประกอบวิชาชีพครู โดยหน่วยงาน/องค์กรหลัก จะประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 14 มีนาคมนี้ก่อน เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา สิ่งที่ต้องการให้มีการทบทวน และความต้องการทั้งหมด เพื่อเสนอให้คุรุสภาพิจารณาในการประชุมวันที่ 20 มีนาคมนี้ เพื่อแก้ปัญหาการที่ ศธ.ไม่สามารถสรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาที่ขาดแคลนเข้ามาเป็นครูได้ รวมทั้งครูชาวต่างประเทศด้วย เพราะติดปัญหาเรื่องการเสนอขอใบประกอบวิชาชีพครู
รมว.ศธ.ได้ยกตัวอย่างกรณีผู้จบสาขาอักษรศาสตร์ระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดี ไม่สามารถเข้ามาเป็นครูผู้สอนแม้กระทั่งในระดับชั้นประถมศึกษาได้ เพราะไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู แต่หากไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทแล้ว สามารถเข้าไปสอนในระดับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ยังคงมีความลักลั่นกันอยู่ จึงต้องหารือและช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาเชิงระบบเหล่านี้
• รายงานความก้าวหน้าการยกระดับคุณภาพงาน กศน.
เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ได้รายงานความก้าวหน้าให้ที่ประชุมรับทราบเรื่อง "การยกระดับคุณภาพงานการศึกษานอกระบบแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ปีงบประมาณ พ.ศ.2557" ซึ่งสำนักงาน กศน.ได้มีแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและผลการทดสอบ N-Net การศึกษาขั้นพื้นฐานสูงขึ้น โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ระดมสรรพกำลังขับเคลื่อนคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : เร่งปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เสริมสร้างและพัฒนาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษานอกระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การติดตาม ประเมิน และวิจัย
ทั้งนี้ สำนักงาน กศน. ได้กำหนดให้ปี พ.ศ.2557 เป็นปีแห่งการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่สากล โดยได้กำหนดให้มีการระดมความคิดของนักการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และภาคเครือข่ายร่วมจัดการศึกษา ในการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อน โดยได้ข้อสรุปที่จะมีแนวทางการพัฒนาใน 6 มิติ คือ
1. มิติด้านผู้เรียน คือ มีการคัดกรองผู้เรียน และกระบวนการแนะแนวเพื่อแนะนำการเรียน กศน. และจัดให้เรียนในรูปแบบที่เหมาะสม
2. มิติด้านรูปแบบการเรียน ที่จะมีรูปแบบการเรียน กศน. ที่มีการเรียนในห้องเรียน 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควบคู่กับการเรียนรู้ต่อเนื่องด้วยตนเอง การทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต 200 ชั่วโมง เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนที่ต้องการเรียนอย่างแท้จริง ผู้ที่มีเวลาเรียนและทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีครู กศน.จัดกระบวนการเรียนรู้ นอกจากนี้มีการจัดระบบรูปแบบการเรียนทางไกล คือ เรียนจากสื่อเอกสารและสื่อวีดิทัศน์ รวมทั้งการประเมินเทียบความรู้และประสบการณ์
3. มิติด้านการจัดการเรียนรู้ มีวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้แบบโครงงาน การเรียนรู้จากปัญหา และการเรียนรู้แบบอื่นๆ ได้แก่ การเรียนรู้แบบสาธิต และการเรียนรู้โดยการอภิปราย
4. มิติด้านสื่อการเรียนรู้ มีแนวทางดำเนินการโดยการจัดตั้งศูนย์สื่อ ONIE Media Center ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่รวบรวมสื่อการเรียนที่หน่วยงาน สถานศึกษาต่างๆ และพัฒนาขึ้นบนเว็บไซต์ www.nfe.go.th นอกจากนี้มีการพัฒนาสื่อการเรียน โดยการสรุปสาระสำคัญในบทเรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐาน และตัวชี้วัดของรายวิชา แล้วนำเสนอในรูปแบบแอพพลิเคชั่นผ่านเว็บไซต์ www.nfe.go.th/0405
5. มิติด้านครูผู้สอน โดยมีการเร่งการพัฒนาครู กศน. เพื่อพัฒนาครูผู้สอนทั่วประเทศ
6. มิติด้านการบริหารจัดการ เพื่อต้องการลดสัดส่วนของ "ครูต่อผู้เรียน" ในกลุ่มต่างๆ คือ กลุ่มผู้เรียนปกติ 1 : 60, กลุ่มผู้เรียนพิการทางสติปัญญา 1 : 5, กลุ่มผู้เรียนพิการทางร่างกาย 1 : 10, กลุ่มผู้เรียนพื้นที่พิเศษ (ศศช.) 1 : 35
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ