นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางฉวีวรรณ คลังแสง ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายชาญยุทธ เฮงตระกูล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เข้าร่วมประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 ที่สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา มีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
• กิจกรรม MOE Summer Camp 2014
ที่ประชุมรับทราบการเตรียมการจัดกิจกรรม “MOE Summer Camp 2014” ของ ศธ. ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม-15 พฤษภาคม 2557 โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบเปิดให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าร่วมกิจกรรม/โครงการ และแบบปิดที่เปิดให้เฉพาะกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมเป็นการภายในเฉพาะ โดยมีกิจกรรม 4 ประเภท ได้แก่ ค่ายพักแรม อบรม สอนเสริม และการฝึกอาชีพ
ทั้งนี้ จะมีการแถลงข่าวต่อสาธารณชนในวันที่ 10 มีนาคม 2557 ที่สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ถนนรามอินทรา
รับทราบ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต พ.ศ.2557-2561
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต พ.ศ.2557-2561 เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ ของประเทศ และเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของคนในทุกช่วงอายุ มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกคนทุกช่วงอายุ ครอบคลุม 5 ช่วงอายุ ได้แก่ 1) ช่วงแรกเกิด-ปฐมวัย 0-5 ปี 2) ช่วงวัยนักเรียน 5-15 ปี 3) ช่วงวัยรุ่น/นักศึกษา 15-21 ปี 4) ช่วงวัยแรงงาน 25-59 ปี และ 5) ช่วงผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไป ได้รับการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้คุณลักษณะและทักษะที่จำเป็นอย่างรอบด้านให้ทันโลกในศตวรรษที่ 21
หลังจากนี้จะได้นำร่างดังกล่าว ไปเผยแพร่สร้างความรู้ความเข้าใจ และนำไปสู่กระบวนการนำเสนอเพื่อบังคับใช้ต่อไป
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้รายงานที่ประชุมเกี่ยวกับการดำเนินงานเรื่องมาตรฐานวิชาชีพและการรับรองปริญญา/ประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ดังนี้
1) มาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2556 มีสาระสำคัญดังนี้
- มาตรฐานวิชาชีพในส่วนคุณวุฒิและประสบการณ์วิชาชีพของครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- ผู้ประกอบวิชาชีพครูที่สามารถขอรับใบอนุญาตได้ จะต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภาให้การรับรอง
- ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา ที่สามารถขอรับใบอนุญาตได้ จะต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีบริหารการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภาให้การรับรอง
- ศึกษานิเทศก์ที่สามารถขอรับใบอนุญาตได้ กำหนดคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโททางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภาให้การรับรอง
- ปรับเพิ่มมาตรฐานของครู จาก 9 มาตรฐาน เป็น 11 มาตรฐาน
- ปรับเพิ่มมาตรฐานความรู้ผู้บริหารสถานศึกษา จาก 11 มาตรฐาน เป็น 7 มาตรฐาน
- ปรับเพิ่มมาตรฐานความรู้ผู้บริหารการศึกษา จาก 11 มาตรฐาน เป็น 6 มาตรฐาน
- ปรับเพิ่มมาตรฐานความรู้ศึกษานิเทศก์ จาก 11 มาตรฐาน เป็น 8 มาตรฐาน
2) การรับรองปริญญา/ประกาศนียบัตรทางการศึกษา มีสาระสำคัญดังนี้
- เกณฑ์การรับรองปริญญาฯ ทุกระดับ ทั้งวิชาชีพครูและวิชาชีพบริหารการศึกษา ได้แก่ วิชาชีพครู : หลักสูตร 5 ปี หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หลักสูตรปริญญาโท และหลักสูตรปริญญาเอก และวิชาชีพบริหารการศึกษา : หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หลักสูตรปริญญาโท และหลักสูตรปริญญาเอก
- ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรองปริญญา/ประกาศนียบัตรทุกหลักสูตร จะต้องสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
- การฝึกปฏิบัติวิชาชีพสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษาในหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรองปริญญา/ประกาศนียบัตร
- สถาบันต้องรับนิสิต/นักศึกษาตามแผนที่กำหนดในหลักสูตร โดยมีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา 1:30 อาจารย์นิเทศต่อนักศึกษา 1:10
- สถาบันต้องเสนอหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติจากสภาสถาบันให้คุรุสภารับรองก่อนเปิดการเรียนการสอน ไม่น้อยกว่า 60 วัน และมีการติดตามผลเชิงประจักษ์หลักสูตรไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง
ที่ประชุมมอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภารับฟังความเห็นจากองค์กร บุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะขณะนี้ ศธ.กำลังขาดแคลนครูอย่างมากในทุกประเภทและระดับการศึกษา โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญวิชาการด้านต่างๆ ไม่สามารถมาเป็นครูได้ คนที่เก่งแคลคูลัสแต่ไม่ได้เรียนครู อาจจะสอนหรือสามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ง่ายกว่าคนเป็นครูก็ได้
ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้า การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจการรู้หนังสือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของประชากรไทย ยกระดับคุณภาพงานการศึกษาและศูนย์ฝีกอาชีพชุมชน เพื่อผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งจากการสำรวจการรู้หนังสือและการประเมินระดับการรู้หนังสือของประชากรไทยวัยแรงงาน ข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 พบว่ากลุ่มอายุ 15-59 ปี จำนวน 5,668,223 คน มีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวน 2,508,534 คน และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1,232,380 คน มีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวน 263,257 คน
ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นว่า การที่จะทำให้คนรู้หนังสือต้องเริ่มจากการอ่านเข้าใจ มีระบบ Proficiency Test คือการวัดผลทางด้านภาษา รวมทั้งมาตรฐานการเรียนรู้ภาษาแม่ของประเทศอย่างมีระบบและขั้นตอน จึงขอฝากให้ สพฐ.พิจารณาหารือในเรื่องนี้ร่วมกับ สทศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลักสูตรเพื่อส่งเสริมให้มีรู้หนังสือจะต้องออกแบบหลักสูตรที่มีเนื้อหาและวิธีเรียนที่แตกต่างจากหลักสูตรปกติ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด ดึงดูดความสนใจ และไม่ควรยากจนเกินไป แต่จะต้องเป็นหนังสือที่ช่วยให้อ่านได้ ในส่วนของจำนวนผู้อ่านหนังสือไม่ออกที่พบจากการสำรวจ เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องจัดกระบวนการประเมินผลและประเมินหลักสูตรโดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษา หรือนักสอนภาษาซึ่งขาดแคลนมากในประเทศไทย รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผลสำรวจเพื่อช่วยอธิบายผลสำรวจ นำผลสำรวจนี้ไปใช้และแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะหากไม่สามารถอธิบายผลได้อย่างถูกต้อง อาจจะมีการนำผลนี้ไปขยายความใน Social Media ซึ่งอาจจะเกิดความสับสนขึ้นได้
ที่ประชุมรับทราบการรายงานความก้าวหน้าตามนโยบาย ศธ.ข้อ 2 การผลิตและพัฒนาครู ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการในการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มุ่งเน้นและเชื่อมโยงกับผู้สัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว 17/2552) และการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ ตามกรอบแนวคิด TPK และ PA ตลอดจนการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ที่ประชุมรับทราบหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ก.ค.ศ. มีสาระสำคัญ ได้แก่
- ให้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับข้าราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2557 ตามกำหนดการฯ ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.กำหนด
- เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคล รวม 5 หลักเกณฑ์ ได้แก่ 1) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย 2) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ 3) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ้าง หรือลูกจ้างชั่วคราวฯ ครูสอนศาสนาอิสลาม หรือวิทยากรอิสลามศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ 5) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
การศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน พบว่าประชากรมีการศึกษาเฉลี่ย 7.5 ปี มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่า 50% ทุกรายวิชา มีอัตราการขาดเรียน ร้อยละ 10-15 และอัตราการอ่านไม่ออก ร้อยละ 26.23 ปัญหาที่สำคัญคือ ขาดแคลนครู ครูสอนไม่ตรงวุฒิ และไม่มีประสบการณ์วิชาใหม่ๆ ตลอดจนหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการเข้าใจในประวัติศาสตร์ และยังผู้เรียนยังขาดโอกาสและความทั่วถึงในกิจกรรมการพัฒนา
ดังนั้น ศธ.จึงได้จัดทำแผนการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2557-2558 ตามนโยบายด้านการศึกษาข้อที่ 8 พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา ลดอัตราการอ่านไม่ออกของนักเรียนระดับประถม พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านวิทยาการสมัยใหม่ และเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาแก่ผู้เรียน
โดยมีแผนการดำเนินงาน 7 แผนงานหลัก ได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2) การส่งเสริมและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนเทคโนโลยี 3) การพัฒนาหลักสูตร 4) การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 5) การจัดสรรทุนสนับสนุนการศึกษา 6) การเรียนรู้ด้านอาชีพและการมีงานทำ และ 7) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
ที่ประชุมมีมติ ให้รวบรวมความเห็นจากฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่และฝ่ายความมั่นคงเกี่ยวกับการจัดการศึกษา เพื่อนำความเห็นและข้อแนะนำต่างๆ มาปรับปรุงการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมทั้งตอบโจทย์การจัดการศึกษาในพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ชานแดนภาคใต้ด้วย
รมว.ศธ.ได้ย้ำให้ที่ประชุมรับทราบด้วยว่า การดำเนินการโครงการต่างๆ ตามรายละเอียดที่ได้รับอนุมัติงบประมาณไว้แล้วนั้น คณะรัฐมนตรีได้ขอให้เร่งดำเนินการ เพราะบางกระทรวงคิดว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมือง ก็ให้ชะลอการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ออกไปก่อน ทั้งที่ความจริงโครงการใด หากเป็นเรื่องเร่งด่วนและมีความสำคัญจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็ขอให้เร่งดำเนินการต่อไป เช่น การปฏิรูปการศึกษา ส่วนนโยบายหรือข้อสรุปใหม่ที่เกิดขึ้น ก็ขอให้พิจารณาวางแผนเตรียมดำเนินการตามโครงการต่างๆ แต่จะใช้งบอย่างไรหรือเท่าใดนั้น อาจจะต้องมีการปรับแก้เป็นระยะตามสถานการณ์ แต่อย่างน้อยก็ขอให้มีความพร้อมที่จะใช้
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ