คุณค่าของการศึกษานิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนมี
คุณค่าต่อคนในสังคมด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. คุณค่าด้านอารมณ์
การเล่านิทานมีจุดมุ่งหมายสำคัญให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้ฟัง นำผู้ฟังไปยังโลก
แห่งความมหัศจรรย์ ดินแดนที่วิเศษ ดินแดนที่แปลก ๆ ไม่มีในชีวิตจริง เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์
ปาฏิหาริย์และสัตว์ประหลาด ตัวละครในนิทานมีทั้งมนุษย์ อมนุษย์ ล้วนแล้วแต่เป็นภาพจำลองของมนุษย์ทั้งสิ้น มีทั้งดีและเลว กล้าหาญและขี้ขลาด เสียสละและเห็นแก่ตัว การฟังนิทานทำให้ได้เรียนรู้มนุษย์หลายบุคลิก ผู้ฟังได้เพลิดเพลินสนุกสนาน ไปกับเรื่องราวต่าง ๆ หลายหลากรส ซึ่งทำให้ผู้ฟังมีความสุขและมีความหวังในการดำรงชีวิต เช่น นิทานเรื่องต่อไปนี้
เรื่องขอดูเจ้าสาว
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ต่างศาสนากัน ฝ่ายชายเป็นชาวพุทธ ฝ่ายหญิง
เป็นชาวคริสต์ มีความรักต่อกันจึงตกลงแต่งงานกัน ตอนเช้าทำพิธีทางศาสนาตามประเพณีพุทธ
ที่บ้านฝ่ายชาย ตอนสายมาทำพิธีที่โบสถ์ศาสนาคริสต์ เจ้าสาวต้องมีผ้าปิดหน้ามาเข้าโบสถ์
พอพิธีจวนจะเสร็จ เจ้าบ่าวถามบาทหลวงว่า “มีค่าใช้จ่ายอะไรหรือไม่ครับ” บาทหลวงบอกว่า “ก็มีค่าธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามความสวยของเจ้าสาว ถ้าเจ้าสาวสวยก็เยอะหน่อย ถ้าเจ้าสาวไม่ค่อยสวยก็น้อยหน่อย” เจ้าบ่าวล้วงกระเป๋ากางเกง แล้วยื่นเงินให้บาทหลวง จำนวน 1 บาท บาทหลวงเกิดความสงสัย จึงขอเปิดดูหน้าเจ้าสาว ในที่สุดบาทหลวงก็เลยล้วงกระเป๋ากางเกง
ของตัวเอง เอาเงินทอนคืนให้เจ้าบ่าว 50 สตางค์ (ประครอง จันทคง : 2547)
เรื่องอบรมดนตรี
สามีไปอบรมดนตรีหลายวัน พอกลับมาถึงบ้าน ก็นอนอยู่ข้างภรรยา ด้วยอาการ อารมณ์ดี ในใจนั้นมีแต่เสียงเพลงเสียงดนตรี ก็เลยเอามือไปสะกิดที่เอวภรรยาพร้อมทำเสียงเพลงเสียงสูง ๆ ว่า “กิ๊ก มะลิก กิ๊ก กิ๊ก” ฝ่ายภรรยายังไม่มีอารมณ์ร่วมก็นอนนิ่งเฉย สามีใช้นิ้วไต่ไปใกล้ ๆ สะดือภรรยาพร้อมร้องเป็นเพลงเสียงสูงว่า “กิ๊ก มะลิก กิ๊ก กิ๊ก” ฝ่ายภรรยาพอสามีจี้ไปที่
21
สะดือก็เกิดอารมณ์ร่วมรู้สึกดี ๆ ก็เลยบอกสามีว่า “ต่ำลงอีกนิดซิพี่” สามีเข้าใจว่าภรรยาบอกให้ทำเสียงเพลงต่ำลงกว่าเดิมอีกก็เลยพูดเสียงต่ำ ๆ ว่า “กิ๊ก มะลิก กิ๊ก กิ๊ก” (ประครอง จันทคง : 2547)
เรื่องเมียสอบบรรจุ
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีศึกษาธิการท่านหนึ่ง มีภรรยาเรียนจบครูมา ให้สอบบรรจุทีไร ก็ไม่ได้สักที ทั้ง ๆ ที่ทุกครั้งเธอสอบผ่านข้อเขียนเป็นประจำ ในปีนั้นสำนักงานศึกษาก็ได้จัด สอบบรรจุครูเช่นเดิม เมียของท่านศึกษาคนนี้ก็ไปสมัครสอบกับเขาด้วย เธอก็สอบผ่านข้อเขียนอีก ท่านศึกษาอยากจะให้เมียสอบครูได้บ้างก็เลยขอเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์เอง พอถึงวันสอบสัมภาษณ์ กรรมการก็นั่งรอผู้สอบอยู่ในห้องสอบที่จัดเตรียมไว้ กรรมการก็เรียกผู้สอบ ผ่านข้อเขียนเข้าสอบสัมภาษณ์ทีละคน ๆ จนกระทั่งถึงภรรยาของท่านศึกษา พอภรรยาท่านศึกษาเข้าไปในห้องสอบ ยืนต่อหน้ากรรมการผู้สอบสัมภาษณ์ ท่านศึกษาก็เอ่ยปาก ”เชิญนั่ง” อย่างสุภาพ ส่วนภรรยาก็แปลกใจสงสัยว่าเอ๊ะอยู่ที่บ้านไม่เห็นพูดอย่างนี้เลย ก็เลยชายหางตาดูสามีพร้อมพูดว่า “ดู๊ย!” แทนที่จะกล่าว “ขอบคุณค่ะ” ท่านศึกษาก็พูดต่อไปว่า “ชื่ออะไรเรา” ภรรยายิ่งแสดงอาการงงมากยิ่งขึ้น ชายตามองสามีอีกพร้อมพูดว่า “ดู๊ย ๆ !” ท่านศึกษาถามอีกคำถามหนึ่งว่า “แต่งงานหรือยังล่ะเรา” ฝ่ายภรรยาเกิดความงุนงงว่าเอ๊ะ ! ก็นอนอยู่ด้วยกันทุกคืนทำไมถามเช่นนั้น ก็เลยชายตาค้อนวับสามีเข้าให้พร้อมพูดว่า “ดู๊ย ๆ ๆ !” (ประครอง จันทคง : 2547)
2. คุณค่าด้านความคิด
นิทานส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายแฝงในด้านการให้ข้อคิดและคติเตือนใจ นิทานช่วย
ขัดเกลาสมาชิกของสังคมให้เป็นไปตามบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคมที่วางไว้ เช่น นิทาน มีจุดมุ่งหมายชี้ให้เห็นค่านิยมของการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มีเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก รู้จักพิจารณารอบด้านก่อนตัดสินใจ ข้อคิดเหล่านี้ผู้ฟังจะซึมซับโดยไม่รู้ตัว เช่น นิทาน ต่อไปนี้
22
เรื่องเซียงเมี่ยงขอที่ดิน
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เซียงเมี่ยงเป็นคนที่ได้รับความโปรดปรานจากพระราชาอย่างมาก ถึงขั้นที่ว่าเซียงเมี่ยงอยากได้อะไร ขออะไรก็จะพระราชทานให้ทั้งสิ้น วันหนึ่งเซียงเมี่ยงไปขอพระราชทานที่ดินจากพระราชา พระราชาก็ถามว่าจะเอามากเท่าไร เซียงเมี่ยงก็ทูลว่า “เอาเท่าที่แมวดิ้นตาย” พระราชาก็นึกว่าที่ที่เท่าแมวดิ้นตายนั้นคงไม่มากอะไร จึงตกลงพระราชทานให้ตามที่ขอ พอได้รับอนุญาต เซียงเมี่ยงก็จับแมวมาหนึ่งตัว เอาเชือกผูกเอวแมว แล้วใช้แส้ตีวิ่งไล่ตามแมวไป แมวกลัวและเจ็บก็ยิ่งวิ่งออกไปไกล เซียงเมี่ยงก็วิ่งไล่ตามไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแมว วิ่งอ้อมกลับมาขาดใจตายต่อหน้าพระราชา เซียงเมี่ยงก็ทูลว่าที่ทั้งหมดนี้เป็นที่ของตนที่ขอพระราชทาน พระราชาไม่รู้จะพูดอย่างไรจำใจจำเป็นต้องยกให้ เพราะเป็นกษัตริย์ตรัสแล้ว ไม่คืนคำ เซียงเมี่ยงเลยได้ที่ดินเท่าที่แมวดิ้นตายหลายสิบไร่ (มี จันทะคง : 2540)
เรื่องเซียงเมี่ยงเลี้ยงน้อง
ครั้งหนึ่งเซียงเมี่ยงได้รับมอบหมายจากพ่อแม่ว่าให้ดูแลน้องเวลาพ่อแม่ไปทำไร่ทำสวน เซียงเมี่ยงดูแลน้อง น้องขี้ น้องเยี่ยวก็ดูเฉยไม่ได้ทำความสะอาดให้น้อง พอแม่กลับมาเห็นน้อง มีขี้เลอะเต็มตัวแม่ก็ด่าว่าไม่ดูแลน้อง เซียงเมี่ยงก็ว่าให้ดูก็ดูแล้วไม่ได้บอกให้ทำนี่ วันหลังแม่เลยสั่งความอย่างดีว่า ถ้าน้องขี้น้องเยี่ยวให้ล้างท้องล้างไส้ให้น้องด้วย เซียงเมี่ยงรับคำ พ่อแม่ก็ไปทำงานในไร่
ตกบ่ายน้องขี้ในอู่เปื้อนไปหมด เซียงเมี่ยงก็จับน้องมาแหวกท้องล้างท้องล้างไส้ให้น้องตามที่แม่สั่งทุกประการแล้วเอาน้องลงนอนในอู่เช่นเคย พอพ่อแม่กลับมา เห็นน้องยังนอนไม่ตื่นก็ไปดู ตกใจมากเมื่อเห็นลูกน้อยนอนตายคว่ำหน้าอยู่ในอู่ ถูกผ่าท้องผ่าไส้ล้างจนหมด ก็เรียก เซียงเมี่ยงมาด่า จะทุบตีเซียงเมี่ยง เซียงเมี่ยงเลยบอกว่าตนเองได้ทำตามที่พ่อแม่สั่งทุกประการ จะตีตนได้อย่างไร แม่ก็ว่า “แม่ไม่ได้บอกให้ฆ่าน้อง” เซียงเมี่ยงก็ว่า ตนเองไม่ได้ฆ่า แม่บอก ให้ล้างท้องล้างไส้ให้น้องตนเองก็ล้างท้องล้างไส้ให้น้องตามที่แม่บอก จะผิดได้อย่างไร แม่เลยว่า “ไอ้นี่มันซื่อจริง ๆ จนกูต้องเสียลูกไปตั้งคน” (มี จันทะคง : 2540)
23
3. คุณค่าด้านสติปัญญา
นิทานพื้นบ้านเป็นคลังความรู้ที่บรรพบุรุษสั่งสมมาหลายชั่วอายุคน จึงมีคุณค่า
โดยให้เกิดภูมิรู้ สติปัญญาด้านต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชน เช่น ตำนาน นิทานประจำถิ่น จะบอก
ให้รู้ว่าชุมชนนี้มีที่มาอย่างไร แม้จะมีการเสริมเติมแต่งเนื้อเรื่องเข้าไปบ้าง ก็ยังปรากฏร่องรอย ความเป็นมาของกลุ่มชน เช่น ตำนานอุรังคธาตุ นิทานเรื่องผาแดงนางไอ่ หรือตำนานหนองหานหลวง เป็นต้น
3.2 ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติในชุมชน นิทาน
ประเภทเทวตำนานและนิทานอธิบายเหตุ อธิบายขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่ชุมชนเชื่อถือและปฏิบัติ เช่น เทวตำนานเรื่องพญาคันคาก ตัวเอก คือ คันคาก (คางคก) พาบริวารไปสู้รบ กับพญาแถนจนชนะ พญาแถนแพ้จึงยอมส่งฝนมาให้โลกมนุษย์เมื่อถึงฤดูกาล เพาะปลูก
โดยตกลงว่าเมื่อเห็นสัญญาณการจุดบั้งไฟจากโลกมนุษย์แถนก็จะส่งฝนมาให้ ตำนานเรื่องนี้ เป็นการอธิบายพิธีกรรมแห่บั้งไฟของชาวอีสานและชาวเหนือ หรือเป็นพิธีขอฟ้าขอฝนเพื่อให้ ฝนตกต้องตามฤดูกาล
นิทานที่อธิบายประเพณีสงกรานต์ เล่าว่าท้าวกบิลพรหมแพ้ปัญญาธรรมบาล ถูกตัดศีรษะและให้ธิดาทั้งเจ็ดผลัดเปลี่ยนเวียนกันนำศีรษะของบิดา ออกแห่แหนรอบเขา พระสุเมรุ ตามความเชื่อของชาวไทย
3.3 ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อม นิทานประเภทนิยายและนิทาน
อธิบายเหตุแสดงให้เห็นความสนใจต่อธรรมชาติ แสดงให้เห็นความพยายามอธิบายธรรมชาติ รอบ ๆ ตัวตามความรู้ที่มีอยู่ แม้การอธิบายในนิทานจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็แสดงให้เห็นความเอาใจใส่ต่อธรรมชาติ พยายามหาเหตุผลในระดับหนึ่งมาตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น เช่น อธิบายการเกิดโลกและจักรวาล การเกิดจันทรุปราคา และยังแสดงความช่างสังเกต ของมนุษย์อีกด้วย
3.4 ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต นิทานเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์
ในการดำเนินชีวิตวิธีการหนึ่ง ชีวิตตัวละครในนิทานเป็นอุทาหรณ์ที่ดีแก่ผู้ฟัง เช่น ความโง่เขลา ความฉลาด ความโลภ ความอิจฉาริษยา นิทานหลายเรื่องได้เสนอวิธีการปรับตัวและ การเอา ตัวรอดในสังคม การฟังนิทานจึงเป็นการเรียนรู้วิธีการปฏิบัติต่อกันเพื่ออยู่อย่างสันติในสังคม
24
4. คุณค่าด้านภาษา นิทานได้รับการถ่ายทอดทางมุขปาฐะ จนกระทั่งการเขียน
การพิมพ์เจริญขึ้น จึงได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นคุณค่าด้านภาษาจึงมี 2 ประการคือ
4.1 ภาษามุขปาฐะ เป็นภาษาพูดที่สื่อสารกันในระดับท้องถิ่น คำและสำเนียงภาษา
จึงแตกต่างไปจากภาษาเขียน ภาษาพูดเป็นภาษาที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้งกว่าภาษาเขียน
4.2 ภาษาลายลักษณ์ นิทานได้รับการเรียบเรียงผ่านการกลั่นกรองของผู้เรียบเรียง
อีกทอดหนึ่งภาษาที่ใช้แม้บางคำยังคงภาษาถิ่นไว้เพื่อคงความหมาย ความสละสลวย การลำดับเรื่องและลำดับความคิดเป็นระบบกว่าภาษามุขปาฐะ
ภาษาที่ปรากฏในนิทานบางคำไม่มีใช้ในปัจจุบัน บางคำใช้ภาษากลางแทนคำและ
สำนวนดั้งเดิมจึงมีปรากฏในภาษาถิ่นที่ชาวบ้านใช้ในการเล่านิทานเท่านั้น