มะเร็งเน็ต...ภัยร้ายชนิดใหม่ เสี่ยงตายไม่รู้ตัว (สุขกายสบายใจ)
โดย จัมโบ้ แซ่เอี๊ยว
คนสมัยนี้ป่วยกันง่าย..!!! โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มียอดตัวเลขรายใหม่เพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า...ล้านคนทุกปี
มะเร็งเป็นกลุ่มโรคที่มีกลไกการเกิดโรคซับซ้อน โดยร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ได้ เมื่อโรคลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ จนท้ายที่สุดจะทำให้ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตลงได้
ในขณะเดียวกัน การรักษาใหม่ ๆ กำลังถูกพัฒนาโดยกลไกทางการแพทย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการรักษา ทั้งยาต้านไวรัสและกลุ่มปฏิชีวนะ โดยการใช้ยาหลายกลุ่มร่วมกันเพื่อให้มีผลการรักษาที่ดีขึ้น
แต่ปัจจุบันกลับมีมะเร็งบางชนิดที่เรายังไม่เคยได้ยินชื่อกันนัก คือ มะเร็งเน็ต (Neuroendocrine Tumor หรือเรียกสั้น ๆ ว่า NET) เป็นมะเร็งของกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่านิวโรเอ็นโด คริน พบได้ในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่กระเพาะอาหารถึงลำไส้ใหญ่ และยังพบได้ในตับอ่อนและปอดอีกด้วย ในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งเน็ตจะได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์สหสาขา ซึ่งมีบทบาทตั้งแต่การวินิจฉัยโรค การตรวจติดตาม รวมทั้งการรักษา ซึ่งประกอบด้วยหลาย ๆ วิธี
ทำความรู้จักมะเร็งเน็ต
รศ.นพ.บุญชู ศิริจินดากุล ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการว่า "โรคมะเร็งเน็ตมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการอะไรเลย จนถึงอาการรุนแรงมาก โดยที่อาการอาจจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่เซลล์มะเร็งผลิตออกมา เช่น อาจทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ หน้าแดง ท้องเดิน ท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งอาการเหล่านี้จะคล้ายกับอาการของโรคลำไส้แปรปรวน จึงทำให้แพทย์อาจสันนิษฐานว่าผู้ป่วยเป็นโรคชนิดอื่นได้
ยิ่งไปกว่านั้นเซลล์เนื้องอกอาจจะเติบโตช้ากว่าจะมีอาการของก้อนที่โตขึ้น มะเร็งอาจมีการแพร่กระจายไปที่ตับ อวัยวะใกล้เคียง หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำให้การวินิจฉัยมีความล่าช้า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการของตนเอง รวมถึงแพทย์ที่ต้องสงสัยถึงโรคนี้ด้วย"
แต่เดิมโรคมะเร็งเน็ต เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเน็ท เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะพบได้ใน 2-5 คน ต่อประชากร 100,000 คน จากการวินิจฉัยที่ดีขึ้น
การวินิจฉัยโรค
เนื่องจากมะเร็งเน็ต มีรูปร่างคล้ายมะเร็งต่อมชนิดรุนแรง และถ้ามะเร็งเน็ตกระจายไปสู่ตับก็อาจดูคล้ายมะเร็งตับ พยาธิแพทย์จึงต้องยืนยันการวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจย้อมพิเศษ
นอกจากนี้ มะเร็งเน็ตที่แพร่กระจายไปที่ตับหรือต่อมน้ำเหลือง พยาธิแพทย์จะทำการตรวจย้อมเพื่อยืนยันว่าเซลล์มะเร็งมีต้นกำเนิดมาจากลำไส้ใหญ่หรือมาจากตับอ่อน เนื่องจากมะเร็งเน็ตมีโอกาสกลับเป็นซ้ำ รวมทั้งอาจมีการลุกลามอย่างรวดเร็วภายหลังการวินิจฉัยในครั้งแรก เซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายอาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้การพยากรณ์โรคเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการติดตามผลการรักษาหรือติดตามความรุนแรงของโรค ซึ่งในปัจจุบันใช้การตรวจระดับโปรตีนในเลือดที่เรียกว่า โครโมแกรนิน เอ
ขั้นตอน และวิธีการรักษา
การผ่าตัดนั้นเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายแบบ เช่น ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิดออกทั้งหมดหรือผ่าตัดเอาก้อนออกให้ได้มากที่สุด ในรายที่เนื้องอกผลิตฮอร์โมนที่ทำให้เกิดอาการ เพราะจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย
กรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้อาจพิจารณาการอุดเส้นเลือด ซึ่งเป็นการอุดหลอดเลือดแดงเพื่อการรักษาภาวะโรค หรืออาจมีการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งในตับ นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ ๆ ซึ่งแนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคและพฤติกรรมของเนื้องอก
นพ.ธัช อธิวิทวัส หน่วยมะเร็งวิทยา รพ.รามาธิบดี ให้ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการรักษาด้วยยาว่า "แต่เดิมจะรักษาผู้ป่วยตามอาการที่เป็น เช่น ให้ยาลดอาการท้องเดิน ท้องอืด หรือมีการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อควบคุมโรค แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการรักษาด้วยยาใหม่ ๆ ซึ่งมีทั้งยาที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนของมะเร็งเน็ตที่แสดงอาการ และยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ซึ่งช่วยควบคุมโรค ทั้งในผู้ป่วยที่แสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ทำให้การรักษาด้วยยานั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นผลให้ผู้ป่วยมีอาการจากโรคน้อยลง ควบคุมโรคได้นาน มีชีวิตยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
ซึ่งจะเห็นว่าในปัจจุบัน การรักษามะเร็งเกือบทุกชนิด มีความก้าวหน้าไปมาก แต่สิ่งที่ยังให้ความสำคัญ ก็คือการใส่ใจดูแลสุขภาพ หากมีอาการที่น่าสงสัย ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งอาการที่เป็นอาจไม่ใช่มะเร็งก็ได้ แต่ถ้าใช่ การตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็จะเพิ่มโอกาสในการเอาชนะมะเร็ง
Did you know?
โรคมะเร็ง pNETs คร่าชีวิตสตีฟ จ็อบส์
การเสียชีวิตของ สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของแอปเปิล ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับคนทั่วโลก เพราะจ็อบส์ถือเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลต่อวงการไอทีของโลก
มะเร็งชนิด pNETs (พีเน็ตส์) ที่สตีฟ จ็อบส์ เป็นมีความรุนแรงน้อยกว่ามะเร็งตับอ่อนทั่ว ๆ ไปที่ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็ว หรืออยู่ไม่ถึงปีก็ตาย ถึงมีการดำเนินโรคช้ากว่าก็จริง แต่สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตคือ การกระจายตัวของเซลล์และตัวโรคที่รุนแรงในระยะท้าย แม้ปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้ รวมถึงอาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่าเป็น pNETs ก็ไม่ชัดเจน เพราะในช่วงเริ่มต้นจะมีอาการคล้ายโรคทั่ว ๆ ไป เช่น ท้องเสีย หรือถ่ายบ่อย คล้ายกับการเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จึงทำให้แพทย์อาจสันนิษฐานผิด
ผู้ป่วยบางคนจึงใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะรู้ว่าเป็น pNETs เพราะเซลล์มะเร็งจะเติบโตอย่างช้า ๆ เช่นกรณีของสตีฟ จ็อบส์ ที่พบได้ก็เพราะเจอก้อนที่ตับอ่อน และมีการผ่าตัดเพื่อนำชิ้นเนื้อมาวินิจฉัยจึงรู้ว่าเป็น pNETs จากนั้นเซลล์มะเร็งลามไปที่ตับ ซึ่งหากสามารถตัดเซลล์มะเร็งให้หมดได้ก็หาย
เมื่อมะเร็งลามไปที่ตับแล้ว สตีฟ จ็อบส์ เลือกใช้วิธีการของแพทย์โดยการเปลี่ยนตับ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งให้หายไป ซึ่งไม่ใช่วิธีมาตรฐานสำหรับการรักษาและอาจไม่ประสบความสำเร็จทุกราย เพราะวิธีมาตรฐานคือการผ่าตัด ซึ่งจะใช้กับระยะแรกที่เซลล์มะเร็งเกิดเฉพาะที่
ถ้าลามไปเป็นระยะกระจาย จะผ่าตัดไม่ได้ แต่อาจใช้การฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะที่มีเซลล์มะเร็ง เช่น ก้อนที่ตับ เพื่อไม่ให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งให้โต ในที่สุดก้อนก็อาจจะฝ่อไป เป็นการรักษาแบบประคับประคอง แต่ในกรณีของจ็อบส์เซลล์มะเร็งลามไม่หยุดจึงลามไปที่อื่น จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด
ขอบคุณที่มาจาก นิตยสาร สุขกายสบายใจ
- รศ.นพ.บุญชู ศิริจินดากุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นพ.ธัช อธิวิทวัส หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี