เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์เป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยอยุธยา พระนามเดิมคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรไชยเชษฐ์สุริย์วงศ์ เรียกกันทั่วไปว่า "เจ้าฟ้ากุ้ง" เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๖
"เจ้าฟ้ากุ้ง" ทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรองไว้หลายเรื่อง ซึ่งบทที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดคือ
บทเห่เรือ ซึ่งมีความดีเด่นด้านการคิดสร้างสรรค์รูปแบบแปลกใหม่ ทรงใช้กาพย์และโคลงคู่กันคล้ายกาพย์ห่อโคลง และทรงเปลี่ยนแปลงวิธีแต่งใหม่โดยแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นตอนๆ แต่ละตอนใช้โคลง ๑ บท แล้วแต่งกาพย์เลียนความขยายความอีกจำนวนหนึ่ง แล้วจึงเริ่มต้นตอนต่อไปด้วยโคลง แล้วขยายความด้วยกาพย์ต่อไปอีกรูปแบบฉบับ เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาภัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น นอกจากนี้ บทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งยังใช้เห่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในปัจจุบันด้วย
เนื้อหาของบทเห่เรือคือ การชมเรือพระที่นั่งและการเคลื่อนขบวนเรือตามลำน้ำที่มีธรรมชาติสวยงาม โดยนำมาเปรียบกับความรักนาง และความรู้สึกเป็นทุกข์ เนื่องด้วยการพรากจากนางตามธรรมเนียมของการแต่งนิราศ
การใช้ภาษาของเจ้าฟ้ากุ้งมีความไพเราะสละสลวยจับใจ คนไทยจำนวนมากมีความซาบซึ้งและจดจำบทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งได้อย่างขึ้นใจ เช่น
พระเสด็จโดยแดนชล
ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย
พายอ่อนหยับจับงามงอน
และอีกตอนหนึ่งในบทเห่ครวญ
ขาวสุดพุดจีบจีน
เจ้ามีสินพี่มีศักดิ์
ทั้งวังเขาชังนัก
แต่พี่รักเจ้าคนเดียว
สมัยอยุธยาตอนปลาย บทละครได้รับความนิยมอย่างเห็นได้ชัดกว่าสมัยก่อนๆ ตามจดหมายเหตุของลาลูแบร์ กล่าวว่า ในกรุงศรีอยุธยา ละครเป็นมหรสพที่เล่นกันเป็นปกติ รวมทั้งโขน และระบำ
บทละครสมัยอยุธยาเรียกกันทั่วไปว่า "บทละครครั้งกรุงเก่า" ส่วนมากไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและปีที่แต่ง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ การเกษ (การะเกด) คาวี มโนห์รา สังข์ทอง เป็นต้น ส่วนบทละครเรื่อง
ดาหลัง ที่ใช้เล่นในพระบรมมหาราชวังนั้น เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงพระนิพนธ์และเรื่อง
อิเหนา เจ้าฟ้าหญิงมงกุฎทรงพระนิพนธ์ทั้งสองเรื่องแต่งในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
[กลับหัวข้อหลัก]