กรุงเทพฯ ประเทศไทย - 21 กุมภาพันธ์ 2557 – การแข่งขันหุ่นยนต์บิน เป็นการแข่งขันที่ร่วมกันจัดขึ้นโดยความร่วมมือของบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กองทัพอากาศ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ) การแข่งขันนี้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์บินอัตโนมัติรวมถึงประดิษฐ์หุ่นยนต์บินแบบบังคับที่ใช้เทคโนโลยี เพื่อเข้าแข่งขันภายใต้หัวข้อ “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองในประเทศไทย โดยการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์บินอัตโนมัติ รอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศจะจัดในเดือนมีนาคม ศกนี้
การแข่งขันนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้นิสิต นักศึกษาไทย ก้าวเข้าสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง ซึ่งโอกาสต่าง ๆ จะช่วยกระตุ้นความสนใจและสนับสนุนให้นิสิต นักศึกษาศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์บินไร้คนขับเพื่อต่อยอดสู่อากาศยานไร้คนขับ
ทีมชนะเลิศจะได้รับถ้วยเกียรติยศจากพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเงินรางวัล จำนวน 120,000 บาท ในขณะที่ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 60,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษสองรางวัลคือรางวัลระบบอัตโนมัติยอดเยี่ยม และรางวัลระบบขับเคลื่อนยอดเยี่ยม ซึ่งแต่ละทีมที่ได้รับรางวัลพิเศษทั้งสองรางวัลนี้จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท ตัวแทนจากทั้งสี่ทีมเหล่านี้จะมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานเครื่องบินรบที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยสูงสุด ของกองทัพอากาศเพื่อต่อยอดความคิดต่อไป
นายเจฟฟรี่ ไนการ์ด รองประธานอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการหัวอ่านและบันทึกข้อมูลทั่วโลก บริษัทซีเกท เทคโนโลยี ล่าวว่า “ซีเกท ยินดีที่ได้สนับสนุนการจัดการแข่งขันภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยานเป็นปีที่สองซึ่งนอกจากซีเกทจะให้ การสนับสนุนในด้านงบประมาณในการจัดการแข่งขัน บริษัทฯยังช่วยตั้งโจทย์ซึ่งท้าทายศักยภาพของนิสิตนักศึกษาและช่วยยกระดับความชำนาญของพวกเขาด้วย ความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลมีความสำคัญในดิสก์ไดรฟ์ และเราหวังว่าการแข่งขันนี้จะช่วยสร้างไอเดียใหม่ ๆ และจุดประกายความสนใจของบรรดานิสิตนักศึกษา”
“การแข่งขันหุ่นยนต์เหล่านี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรและนักประดิษฐ์แห่งอนาคต นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยอีกด้วย” นายเจฟฟรี่กล่าว
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า “กองทัพอากาศยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์บิน ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่วิทยาการด้านอากาศ พลศาสตร์ วิศวกรรมอากาศยาน และคอมพิวเตอร์ ไปสู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม หากเยาวชนของชาติมีความรู้ ความสามารถและความใส่ใจในเทคโนโลยีการบินและคอมพิวเตอร์แล้ว ก็จะสามารถเป็นกำลังหลักที่สำคัญ ในการนำพาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค และรองรับต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“ในปีนี้ กองทัพอากาศจะยังคงจัดรางวัลพิเศษให้แก่น้อง ๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษาในการเดินทางเข้าเยี่ยมชมกิจการด้านการบินของกองทัพอากาศเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งรับรองว่าจะเป็นการเยี่ยมชมที่พิเศษอย่างแน่นอน” พลอากาศเอกประจิน กล่าวเสริม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การแข่งขันหุ่นยนต์บินที่จัดขึ้นเป็นปีที่สองนี้ท้าทายความสามารถทางด้านการประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์ทางด้านอากาศยาน ที่มีทั้งการแข่งขันแบบขับเคลื่อนด้วยผู้ควบคุมระยะไกลและอากาศยานแบบไร้คนขับอัตโนมัติ ซึ่งแต่ละทีมจะต้องใช้ความรู้และความสามารถในการบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้อากาศยานหุ่นยนต์ที่มีความสามารถตามโจทย์ที่ตั้งไว้ ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้การพัฒนาหุ่นยนต์ในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป”
“ความท้าทายของการแข่งขันในปีนี้คือการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์จำลองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย การสอดแนม การบินไปและกลับ รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดโดยไม่คาดคิด ซึ่งแต่ละทีมจะทราบในวันแข่งขัน ขึ้นอยู่กับแต่ละทีมว่าจะแก้โจทย์ได้ดีแค่ไหน ภายหลังการแข่งขัน สมาชิกในทีมทั้งสี่ทีมที่ได้รับรางวัลจะได้ไปเรียนรู้เทคโนโลยีจากกองทัพอากาศ หลังจากนั้น ทางผู้จัดจะพาสมาชิกของทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน 4 คนไปศึกษาเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นที่องค์การสำรวจอวกาศ JAXA ประเทศญี่ปุ่น” รองศาสตราจารย์ ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานจัดการแข่งขัน เลขานุการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าวิจัยสาขา Dynamics and Robotics แห่งศูนย์วิจัยวิศวกรรมคำนวณและทดสอบขั้นสูง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าว
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทางออนไลน์ได้ที่ http://www.tamech.com ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่ โทร. 0-2470-9721 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th
กองทัพอากาศ
กองทัพอากาศมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักรและดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศ หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเข้าไปที่ www.rtaf.mi.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือแบ่งออกเป็น 3 วิทยาเขตคือ วิทยาเขตกรุงเทพมหานคร วิทยาเขตระยองและวิทยาเขตปราจีนบุรี
ซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล ท่านสามารถพบข้อมูลเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ http://www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919, Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com