ศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพบกันอีกเช่นเคยทุกวันจันทร์ค่ะ สำหรับจันทร์นี้ขอเสนอกรณีการดำเนินการทางวินัยกับการสอบสวนความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53
เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการสอบสวนให้ได้ความจริงและความยุติธรรม โดยมิชักช้า และในการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยมักพบอยู่บ่อยครั้งว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนรายงานไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาว่ามีข้าราชการครูกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แต่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเห็นว่า การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการครูในสถานศึกษาเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน จึงมอบอำนาจให้แต่งตั้งนิติกรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นกรรมการสอบสวนได้ ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการครูดังกล่าว
อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ (ที่ทำการแทน ก.ค.ศ.) พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์เป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบมาตรา 53 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และไม่สามารถมอบอำนาจตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ได้ เนื่องจากไม่มีระเบียบให้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนด การที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง จึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจเป็นผลให้การดำเนินการทางวินัย รวมทั้งการออกคำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ (1) ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง (2) เพิกถอนมติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีมติให้ลงโทษปลดข้าราชการครูรายดังกล่าวออกจากราชการ (3) ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการและสั่งให้กลับเข้ารับราชการแล้วดำเนินการทางวินัยใหม่โดยสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบมาตรา 53 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และดำเนินการให้ถูกต้องตาม กระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ดังนี้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินการทางวินัยเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการให้ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญ มิฉะนั้นจะเป็นการดำเนินการทางวินัยรวมทั้งการออกคำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยจำต้องดำเนินการใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าและอาจจะเกิดผลกระทบตามมาอีกหลายประการ ดังนั้น ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 จึงต้องพึงระมัดระวังและปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยเคร่งครัดด้วย แล้วพบกันใหม่ในวันจันทร์หน้าค่ะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน