โดย นางวิไลวรรณ ขนิษฐานันท์
นักภาษาจำแนกภาษาต่างๆ ในโลกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะรูปประโยคที่ใช้ คือ
๑. ภาษาที่เรียงบทกรรมของประโยคไว้หลังบทกริยาของประโยค หรือเรียกว่า ภาษาแบบกริยา + กรรม ตัวอย่างเช่น
เขาปล่อยนก (นกเป็นบทกรรม ปล่อยเป็นบทกริยา)
ภาษาไทย อังกฤษ มาเลย์ เขมร ฯลฯ เรียงประโยคแบบนี้และจัดเป็นภาษาประเภทนี้
๒. ภาษาที่เรียงบทกรรมของประโยคไว้หน้าบทกริยา หรือเรียกว่า ภาษาแบบ กรรม + กริยา ตัวอย่างเช่น
เขานกปล่อย (มีความหมายว่า เขาปล่อยนก)
ภาษาญี่ปุ่น พม่า สิงหล ฯลฯ เรียงประโยคแบบนี้และจัดเป็นภาษาประเภทนี้
นอกจากการเรียงรูปประโยคต่างกันดังกล่าวแล้ว ภาษา ๒ ประเภทนี้ยังมีลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่แตกต่างตรงข้ามกันอีกหลายประการ เป็นต้นว่าการเรียงลำดับคำเรียกชื่อกับคำบอกตำแหน่ง ชื่อกับนามสกุล บทขยายนามกับคำนาม บทขยายกริยากับกริยา คำปฏิเสธกับคำกริยา ฯลฯ ตัวอย่าง เช่น ภาษาสิงหลเรียงนามสกุลมาก่อนชื่ออนุประโยคที่ขยายนามอยู่หน้าคำนาม คำปฏิเสธอยู่หลังคำกริยา
ภาษาไทยจัดว่าเป็นภาษาแบบกริยา + กรรมและมีลักษณะสำคัญต่างๆ ดังนี้
๑. เรียงคำบุพบทไว้หน้าคำนาม เช่น ในบ้าน บนโต๊ะ
๒. คำแสดงการเปรียบเทียบ "กว่า" ตามหลังคำที่ใช้เปรียบเทียบ เช่น ใหญ่กว่า
๓. เรียงตำแหน่งและชื่อ ไว้หน้านามสกุล เช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
๔. คำแสดงความเป็นเจ้าของอยู่หลังคำนาม เช่น หนังสือของเรา
๕. คำขยายคำนามอยู่หลังคำนาม เช่น หนังสือเล่มใหญ่
๖. อนุประโยคอยู่หลังคำนามที่ขยาย เช่น คนที่ช่วยเราทำงาน
๗. คำปฏิเสธอยู่หน้าคำกริยา เช่น ไม่ชอบ
บรรณานุกรม
• นางวิไลวรรณ ขนิษฐานันท์