10 เทคนิค...พูดอย่างมือโปร
ไม่แปลกอะไรหรอกค่ะ กับการที่เราจะประหม่าหรือตื่นเต้น เวลาที่ต้องออกไปพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ
แต่ถ้าเราไม่สามารถจัดการกับความตื่นเต้นนี้ได้ นั่นหละจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสาวทำงานยุคใหม่
ที่ต้องมั่นอกมั่นใจ และพรีเซนท์ตัวอย่างอยู่เสมอ หากว่าคุณยังขาดความมั่นใจในเรื่องนี้
มาดูเทคนิคที่จะช่วยสร้างความมั่นใจกันค่ะ
1. คุณจะต้องเตรียมพร้อมเสมอ ในการที่จะออกไปพูด
ถ้าหากรู้ตัวล่วงหน้าหลาย ๆ วัน คุณก็สามารถเตรียมได้ ทั้งรายละเอียด เนื้อหา เอกสารประกอบ
สิ่งเหล่านี้ จะทำให้คุณนำเสนอเรื่องที่พูดได้อย่างน่าสนใจ นอกจากการเตรียมเอกสารแล้ว
ต้องเตรียมสุขภาพด้วยนะคะ ระวังอย่าให้เป็นหวัด เพราะมันเป็นอุปสรรค์ต่อการพูดแบบมือโปรเป็นอย่างยิ่งค่ะ
2. วิเคราะห์กลุ่มผู้ฟัง ต้องรู้ว่าเราจะพูดให้ใครฟัง ผู้ฟังเขามีพื้นฐานความรู้มากน้อยแค่ไหน
จะได้รู้ว่าจะใช้วิธีการพูดอย่างเหมาะสมอย่างไร เช่น พูดให้เด็กเล็ก ๆ ฟัง ก็ต้องใช้นิทานช่วย
หรือจะไปพูดศัพท์วิชาการ ไทยคำอังกฤษคำให้คนความรู้น้อยฟัง ก็คงจะไม่เหมาะ
3. สร้างความคุ้นเคยกับสถานที่และอุปกรณ์ ควรจะไปถึงสถานที่ก่อนเวลา
เพื่อจะได้สร้างความคุ้นเคยและหัดใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ จะได้ไม่ขลุกขลักระหว่างการพูด
4. สร้างความเป็นกันเองกับผู้ฟัง จะทำให้ตัวเราลดความตื่นเต้นลงไปได้มาก
โดยคุณอาจจะพูดจา ทักทายกับผู้ฟังก่อนที่จะขึ้นพูด จะทำให้เขารู้สึกเป็นกันเองกับเราด้วยเหมือนกัน
5. มีอารมณ์ขัน ต้องหาเรื่องขำขันติดตัวเอาไว้บ้าง เพื่อสร้างบรรยากาศและคลายเครียด
เพราะในบางกรณีเรื่องที่เราพูดนั้น ยาว และเครียดเกินไป จะทำให้น่าเบื่อ แต่เรื่องขำขัน ต้องไม่หยาบนะคะ
6. สังเกตปฏิกริยาของผู้ฟัง
เวลาพูดให้กวาดสายตาไปอย่างทั่วถึง เป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่าผู้ฟังเขาตั้งใจฟังอยู่หรือไม่
ดูว่าเขาพยักหน้าเข้าใจ หรือทำคิ้วขมวดด้วยความสงสัย หรือมีใครหลับไปแล้วบ้าง จะได้แก้ไขบรรยากาศ
7. อย่าท่องจำหรือใช้วิธีอ่านให้คนฟัง เพราะมันน่าเบื่อ คุณจะไม่สนใจใคร ไม่เปิดโอกาสให้ใครถาม
เพราะกลัวว่าจะลืมสิ่งที่ท่องมา ทางที่ดี ควรซักซ้อม และทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่จะพูดทั้งหมดให้ดีเสียก่อน
จะได้ไม่ต้องมาท่องหรืออ่านให้ใครฟัง
8. ลืมความผิดพลาดไปเสีย หากว่าเกิดความผิดพลาดในระหว่างการพูด อย่านำมาวิตกกังวล
และเครียดไปกับมัน ให้ลืมไปก่อน แล้วพูดต่อให้จบ เพราะหากกังวล จะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่คิด
เมื่อพูดเสร็จแล้ว ค่อยมาทบทวนในสิ่งที่ทำพลาด และหาทางแก้ไขในโอกาสหน้า
9. อย่าแสดงอาการหรือคำพูดที่ดูหมิ่นคนฟัง
เพราะคนพูดบางคนชอบคิดว่าตัวเองเก่ง รู้มาก และยิ่งใหญ่กว่าผู้ฟัง ทำให้แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมออกมา
ซึ่งมันจะทำให้ผู้ฟังรับไม่ได้ ไม่ยอมรับนับถือในที่สุด
10. จินตนาการถึงความสำเร็จในการพูด
นึกภาพเสมอว่า คุณพูดสำเร็จอย่างงดงาม ได้รับเสียงปรบมือ ได้รับคำชมเชย
เพราะความคิดเหล่านี้ จะทำให้เกิดกำลังใจ และไม่วิตกกังวลมากจนเกินไป
ที่มา http://www.mettadham.ca/main.htm