การประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู : นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2557 ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา (อ่านรายละเอียดการประชุมครั้งที่ 1) http://www.moe.go.th/websm/2013/nov/409.html
• การพิจารณาระบบการผลิตและพัฒนาครู
รมว.ศธ.แถลงผลการประชุมครั้งนี้ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงระบบการผลิตและพัฒนาครูให้ตรงกับความต้องการ โดยคำนึงถึงความสมดุลในการผลิตระหว่างครูที่จบการศึกษามาแล้วจำนวนมาก กับครูที่อยู่ในระบบเดิม เพื่อให้ระบบการผลิตครูใหม่เป็นระบบมากขึ้น และสอดคล้องกับสาขาที่เป็นความจำเป็น เพราะระบบการผลิตครูเป็นระบบปิด
ที่ประชุมมีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น การให้ทุน, การมีงานทำ, การผลิตครูในสัดส่วนระหว่างครูพันธุ์ใหม่ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการครูมืออาชีพ) กับครูที่จบมาก่อนแล้ว เป็น 50:50, การคัดเลือกผู้ผลิตครู คือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่มีคุณภาพ, การวางหลักเกณฑ์เรื่องคุณภาพและการกำหนดจำนวน ประเภท คุณลักษณะของครูที่ต้องการผลิต, การจัดให้มีระบบประกันคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้ครูที่ผลิตออกมามีคุณภาพมากขึ้น ฯลฯ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบประเด็นปัญหาที่ผ่านมาของการผลิตครู อาทิ
-
การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น รูปแบบการพัฒนาแบบเดิมเน้นหลักการมากว่าการลงมือปฏิบัติ ความรู้ความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของครูไม่เพียงพอ ขาดหน่วยงานหลักทำหน้าที่ดูแลและวางระบบพัฒนา ขาดระบบติดตาม ขาดฐานข้อมูลการพัฒนาครู เนื้อหาไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน ขาดเครือข่ายที่มีคุณภาพ
-
การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพและความก้าวหน้าวิชาชีพ เช่น การเสนอผลปฏิบัติงานและผลงานไม่สะท้อนคุณภาพผู้เรียน สมรรถนะกลางในการพัฒนาครูไม่มีเอกภาพ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาครูและผู้ที่จะเข้ามาเป็นครู รวมทั้งครูต่างประเทศ
-
การสร้างขวัญกำลังใจและธำรงรักษาครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครูขาดขวัญกำลังใจ ความก้าวหน้าในการทำงาน ระบบสภาพสวัสดิภาพ สวัสดิการ ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ปัญหาหนี้สิน อัตรากำลังขาด/เกิน การย้ายครูไม่เป็นธรรม
-
การบริหารจัดการทรัพยากรฯ เช่น การกระจายงบประมาณ งบประมาณพัฒนาครูสายอาชีพไม่เพียงพอ และแหล่งเรียนรู้ไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม แนวทางการผลิตพัฒนาครูให้สอดคล้องทั้งระบบนั้น จะต้องพิจารณาถึงขั้นตอนการวางแผนดำเนินการก่อน-หลัง การกระจายอำนาจ การใช้ระบบเปิดเข้ามาในการผลิตครู การส่งเสริมให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ความต้องการหรือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศ และภาคเอกชน การส่งเสริมบทบาทองค์กรต่างๆ โดย ศธ.เป็นผู้ทำหน้าที่อำนวยการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การตั้งหัวข้อ ระบบและวิธีการในการพัฒนาครู ซึ่งจะนำไปสู่แผนงานและงบประมาณรองรับที่ชัดเจนต่อไป และคาดว่าการประชุมในครั้งต่อไปจะได้ข้อสรุปสำคัญที่จะทำให้เกิดกระบวนการและวิธีการผลิตและพัฒนาครูที่ชัดเจน
รูปแบบในการพัฒนาครูของต่างประเทศ
นอกจากประเด็นปัญหาที่ผ่านมาของการผลิตครู และระบบการผลิตและพัฒนาครูให้ตรงกับความต้องการแล้ว ที่ประชุมได้รับทราบรูปแบบในการพัฒนาครูของต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการนำมาเปรียบเทียบและใช้เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาครูของไทย ที่น่าสนใจหลายด้าน เช่น
- ระบบการรับสมัครผู้ที่มีคุณภาพสูงตามหลักสูตรที่ต้องการ (ฟินแลนด์ สิงคโปร์)
- การผสานภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ (ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ บางสถาบันในสหรัฐอเมริกา)
- การใช้มาตรฐานวิชาชีพครูที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ (สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์)
- การสร้างระบบประเมินการปฏิบัติงานของครู (สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย) สร้างแบบจำลองอุปนัย (สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และบางสถาบันในสหรัฐอเมริกา)
- การสนับสนุนข้อคิดการพัฒนาวิชาชีพครู (สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา)
- การส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาชีพ (สิงคโปร์ อังกฤษ)
- การสร้างศักยภาพรอบด้าน โดยสร้างยุทธศาสตร์เพื่อแบ่งปันผลวิจัยและข้อปฏิบัติที่ดี (รัฐออนตาริโอ แคนาดา)
ส่วนปัญหาท้าทายในการศึกษาครุศาสตร์ของประเทศต่างๆ ก็มีปัญหาแตกต่างกันไป เช่น
- ปัญหาระยะต้น จะเป็นด้านการฝึกอบรมหรือปัญหาในด้านการศึกษาของครู และการกำหนดหลักสูตรการศึกษาของครูที่ได้รับการกำหนดจากสถาบันฝึกหัดครู ควรจะครอบคลุมถึงผลสัมฤทธิ์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาด้านนโยบาย
- ปัญหาด้านเงินเดือนและเงินสนับสนุนในด้านการสอนมีไม่เพียงพอ
- ปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งมีการปรับแก้โดยลดมาตรฐานในการรับบรรจุครู ทำให้ครูมีมาตรฐานต่ำลง ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กด้อยโอกาส และชนกลุ่มน้อย
ประชุมได้มอบให้ สป.ศธ. วิเคราะห์เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างการพัฒนาครูไทยกับประเทศต่างๆ โดยให้วิเคราะห์ระบบของการผลิตและพัฒนาครูไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและดำเนินการแก้ไขได้ตรงจุด รวมทั้งนำข้อปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของประเทศต่างๆ ปรับใช้ตามบริบทของระบบการผลิตและพัฒนาครูไทยต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ