ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 79.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ที่ปัจจุบันจีดีพีไทยอยู่ 12 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วจากปลายปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.6 % ของจีดีพี เท่านั้น
นั่นคือตัวเลขหนี้รวมของคนทั้งประเทศ แต่การจะกล่าวว่าหนี้ของใครมีมากน้อยแค่ไหนก็จะต้องจำแนกเป็นรายบุคคลไป ในภาวะที่คนมีภาระหนี้สูง ไม่ว่าจะเป็นผ่อนบ้าน รถยนต์ เครื่องใช้อุปโภคและบริโภค บัตรเครดิตในแต่ละเดือน ทำให้หลายคนจึงมักจะหาข้ออ้างให้กับตัวเองว่า มีเงินไม่พอที่จะออมได้เพราะมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้แบบชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว
แต่ในความเป็นจริง คนที่เป็นหนี้ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถที่จะมีเงินออมได้ นั่นขึ้นอยู่กับ “ความตั้งใจ” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าหากตัวเรามีความตั้งใจ และมีวินัยเพียงพอ ย่อมทำได้แน่นอน
ทำอย่างไรให้มีเงินออม
ขั้นแรกทำบัญชีรับจ่าย หรือ บัญชีครัวเรือน
ต้องเริ่มจาก มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีเงินเก็บออมเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือยามเข้าสู่วัยเกษียณซึ่งเราจะไม่มีรายได้อีกต่อไปสักหนึ่งก้อน ลำดับต่อมา ให้เริ่มทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ว่าในแต่ละเดือนเรามีรายรับเท่าไหร่ เช่น เงินเดือนหรือรายได้พิเศษ เช่นเดียวกับรายจ่าย ให้รวบรวมรายจ่ายประจำออกมา เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าเสื้อผ้า ค่าผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน
ขั้นที่สอง อุดรูรั่วลดใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
เมื่อมีลิสต์รายรับ-รายจ่ายแล้ว จะช่วยให้เราพบรูรั่วจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่ยังสามารถประหยัดได้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือ อุดรูรั่วนั้นซะ เช่น ค่ากิน อาจลดปริมาณการทานอาหารนอกบ้านลง ค่าเสื้อผ้า กระเป๋า หากมีอยู่แล้วหลายใบก็ไม่ควรซื้อของใหม่เข้ามาเพิ่มเติม แต่อาจใช้วิธีการดัดแปลงของเดิมให้ดูเหมือนใหม่แทน
ขั้นที่สาม ลดการใช้สินค้าทำลายสุขภาพ
ขณะที่ รายจ่ายประจำอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หากสามารถเพิ่มการประหยัดได้ก็จะช่วยให้เรามีเงินอีกส่วนหนึ่งที่สามารถผันมาเป็นเงินออมได้ และสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่หรือกินเหล้า ให้ลองนับเงินที่ต้องเสียไปกับค่าเหล้าและบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมาดูว่า หากเปลี่ยนมาเป็นเงินออม ป่านนี้จะคิดเป็นเงินออมเท่าไหร่แล้ว ถ้าเลิกได้ก็ควรเลิก แต่ถ้าเลิกไม่ได้ก็ควรลด
ผลจากความตั้งใจ
เมื่อทำได้เช่นนี้แล้วในเดือนแรก เราจะตระหนักขึ้นว่าหากลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลงหมายถึงเงินออมที่เพิ่มขึ้น ในเดือนต่อมาเมื่อเงินเดือนออกมาปุ๊ปให้แบ่งส่วนออกมาเก็บก่อนทันที และพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในงบที่เหลือให้ได้ เพียงแค่นี้ก็เริ่มเก็บเงินได้แล้ว มากหรือน้อยไม่สำคัญ ถึงแม้จะออมได้เพียงเดือนละ 300-400 บาทก็ยังดีกว่าเก็บเงินไม่ได้เลยสักบาท
หลังจากเก็บออมเล็กผสมน้อยมาได้ระยะหนึ่ง เราจะได้เงินออมก้อนย่อมๆมาหนึ่งก้อน ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับผู้ที่มีหนี้สินอยู่กับตัวล้วนต้องการปลดหนี้ให้หมดไป เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจากดอกเบี้ย ต้นเหตุของมูลหนี้ที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการจัดการกับหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้เสียที
วิธีการที่อยากแนะนำ คือ
1.เมื่อมีเงินก้อนจากการออมแล้วควรใช้เงินออมเพื่อชำระหนี้ก่อนเพราะดอกเบี้ยที่เราได้รับจากการออมย่อมน้อยกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับการกู้ยืมอยู่แล้ว โดยให้เลือกจ่ายหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน เช่นหนี้นอกระบบหรือหนี้ในระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุด
2.หากเงินออมหมดแล้วหรือไม่พอจะโปะหนี้ให้หมดไป ให้ทำการย้ายหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงไปยังแหล่งที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า เช่น หนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบ้าน ที่ปัจจุบันมีหลายธนาคารยอมให้โอนหนี้โดยคิดดอกเบี้ยถูกกว่าหรือที่เรียกว่ารีไฟแนนซ์ แต่ต้องดูค่าใช้ในการย้ายหนี้ด้วย เช่น ค่าจดจำนอง ค่าปรับต่างๆว่าคุ้มกับดอกเบี้ยที่ถูกลงหรือไม่
3.หาทางเจรจากับเจ้าหนี้เมื่อเรารู้ตัวว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระได้เพื่อหาทางออก เช่น ขอลดดอกเบี้ย ขอยืดระยะเวลาชำระหรือขอขยายงวดเวลาในการชำระ โดยทำควบคู่ไปกับแผนลดรายจ่ายต่างๆ
4.หารายได้เสริม โดยหาอาชีพเสริมอื่นๆ หลังเลิกงานประจำหรือในวัยหยุด เพื่อเพิ่มช่องทางที่มาของรายได้
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าวิธีการทั้งหมดทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เราควรย้อนกลับไปดูต้นเหตุของหนี้สินที่เกิดขึ้นด้วยว่าเกิดจากอะไร เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวใช้หรือไม่?
หากทุกคนรู้จักการใช้จ่ายให้พอประมาณสมควรแก่ตัวเอง รู้จักการเก็บออม หากจำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้ก็ต้องรู้ถึงความสามารถในการผ่อนชำระและมีวินัยในการผ่อนชำระอย่างสม่ำเสมอ เพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้เราไม่ต้องประสบกับภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว
โดย....ชลลดา อิงศรีสว่าง....
ขอบคุณที่มาจาก โพสต์ทูเดย์