เรื่อง “ข้าว” ในสมัยพุทธกาลอีกชนิดหนึ่งมีอธิบายไว้ในหนังสือรู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๒ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ “ข้าวต้มลูกโยน”
“ข้าว”นอกจากเป็นอาหารหลักของคนไทยในปัจจุบันแล้ว ยังมีความสำคัญในสมัยพุทธกาลอีกด้วย หนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๕ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายเรื่อง “ข้าว” ในสมัยพุทธกาลไว้ ๒ ชนิด คือ ข้าวมธุปายาสและ ข้าวยาคู “ข้าวมธุปายาส” เป็นข้าวที่หุงด้วยน้ำนมเจือน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อยมีลักษณะเป็นข้าวเปียก ตามพุทธประวัติกล่าวว่านางสุชาดาเป็นบุคคลแรกที่ปรุงข้าวมธุปายาสมาถวายพระสิทธัตถะก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาปรุงนี้มาจากน้ำนมที่เข้มข้นเป็นพิเศษของแม่โคและน้ำผึ้งที่คั้นสด ๆ จากรวง เดิมนางสุชาดาจะหุงข้าวมธุปายาสไปถวายเทวดาเพื่อแก้บนแต่เมื่อพบพระสิทธัตถะซึ่งมีลักษณะงามราวกับเทวดา จึงถวายข้าวมธุปายาสแก่พระสิทธัตถะแทน
“ข้าวยาคู” เป็นคำเรียกข้าวต้มหรือขนมชนิดหนึ่งที่ทำด้วยข้าวอ่อน ในสมัยพุทธกาลจะแช่ข้าวหรือธัญพืชชนิดอื่นในน้ำในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๑๖แช่ทิ้งไว้จนเปลือกธัญพืชเหล่านี้อ่อนตัว จึงนำมาเคี่ยวให้เหลือเพียงครึ่งเดียว ตามพุทธประวัติกล่าวถึงข้าวยาคูไว้ว่ามีพราหมณ์ผู้หนึ่งหุงข้าวยาคู และทำขนมหวานมาถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกโดยที่ขนมอื่น ๆ นั้นเป็นขนมหวาน ส่วนข้าวยาคูไม่มีรสหวาน ในวินัยปิฎกและพระสูตรอังคุตตรนิกายกล่าวถึงประโยชน์ของข้าวยาคูไว้๕ ประการ คือ ช่วยบรรเทาความหิว บรรเทาความกระหาย ทำให้ลมเดินสะดวก ช่วยชำระลำไส้และช่วยย่อยอาหาร
เรื่อง “ข้าว” ในสมัยพุทธกาลอีกชนิดหนึ่งมีอธิบายไว้ในหนังสือรู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๒ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ “ข้าวต้มลูกโยน” เป็นชื่อขนมอย่างหนึ่งทำจากข้าวเหนียวผัดกับน้ำกะทิที่ผสมเกลือและน้ำตาลห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อนหรือใบเตยเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มียอดแหลม และไว้หางยาวที่ปลายยอดแล้วนำไปต้มให้สุก เหตุของการห่ออาหารด้วยใบมะพร้าวหรือใบเตยแล้วไว้หางนั้นเนื่องมาจากครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อออกพรรษาก็เสด็จลงมาทางบันไดแก้ว แต่ประชาชนจำนวนมากที่มาเฝ้าตักบาตรไม่สามารถเข้าถึงพุทธองค์ได้จึงจับหางของห่ออาหารหรือขนมทั้งหมดนี้โยนไป เพื่อจะให้ตกลงสู่บาตรของพระพุทธองค์.
อารยา ถิรมงคลจิต
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์