นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2557 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม โดยมีประเด็นสำคัญสรุปดังนี้
►การทำงานของ ศธ.ในช่วงภาวะวิกฤตทางการเมือง
ได้มีการหารือเพื่อเตรียมรับสถานการณ์จากเหตุชุมนุมและปิดการจราจรแยกต่างๆ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 เป็นต้นไป โดยจะวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่บัดนี้ไปจนสิ้นสุดการชุมนุม เพื่อปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นระยะๆ สำหรับโรงเรียนและสถานศึกษาให้ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจได้ทันทีในกรณีไม่มีความปลอดภัยและไม่สะดวกในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ศธ.มีคณะกรรมการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อติดตามข้อมูล สถานการณ์ พร้อมทั้งประสานกับต้นสังกัดเพื่อตัดสินใจในกรณีมีเหตุจำเป็นต่างๆ
ทั้งนี้ ได้มีการรายงานข้อมูลโรงเรียนและสถานศึกษาที่อาจจะได้รับผลกระทบกรณีเหตุชุมนุมปิดสี่แยกรวม 20 จุด พบว่า โดยรวมมีโรงเรียนและสถานศึกษาได้รับผลกระทบจำนวน 159 แห่ง (ไม่รวมโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร) ได้แก่ โรงเรียนสังกัด สพฐ. 33 แห่ง โรงเรียนสังกัด สช. 117 แห่ง และสถานศึกษาสังกัด สอศ. 9 แห่ง ซึ่งหลายโรงเรียนได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ไว้บ้างแล้ว ในส่วนของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา ยังไม่ได้รับข้อมูล แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลายแห่ง
จึงขอให้ทุกโรงเรียนเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายวัน อาจจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน จึงขอให้ดูเวลาเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้น ในกรณีโรงเรียนหรือนักเรียนส่วนใดได้รับผลกระทบมาก จะต้องมีการดูแลเกี่ยวกับการสอนชดเชยอย่างไร แต่สิ่งที่น่าห่วงใยคือ ช่วงนี้เป็นช่วงการเตรียมสอบ ดังนั้นยังไม่แน่ชัดว่าการเรียนการสอนชดเชยจะทำให้เด็กเรียนทันเพื่อไปสอบหรือไม่
นอกจากนี้ ในส่วนของสถานที่ทำงานของ ศธ.ในกรณีไม่สามารถเข้าออกหรือเดินทางมา ศธ.ได้ตามปกติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะเดินทางมาไม่ได้ จึงได้เตรียมหาสถานที่ที่อยู่ในบริเวณที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อดูแลและให้บริการแก่ประชาชน รวมทั้งครู และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ วิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการทำงานของ ศธ.ในหลายส่วน อาทิ สพฐ. ได้แก่ การขอเทียบวุฒิการศึกษา การเบิกค่ารักษาพยาบาล เรื่องเกี่ยวข้องกับผู้พิการ, สป. ได้แก่ การเบิกค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จตกทอด การขอพระราชทานเพลิงศพ, คุรุสภา ได้แก่ การขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การเบิกค่ารักษาพยาบาล เงินทุนเลี้ยงชีพที่เกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์ รวมทั้งงานบริการหลายๆ ด้านของ สอศ. สช. กศน. สำนักงาน ก.ค.ศ. สำหรับ สอศ. คาดว่าจะย้ายไปทำงานที่สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ถ.รามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางบอน กรุงเทพฯ 10230 อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ข้อสรุปของสถานที่แล้ว จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบ เพื่อจะได้เผยแพร่ให้ประชาชนและสาธารณชนทราบต่อไป
● การยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยโครงการ PISA
จากการรวบรวมประสบการณ์และบทเรียนการเข้าร่วมการประเมิน "โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ" (Programme for International Student Assessment : PISA) ที่ผ่านมา พบว่าคะแนนของเด็กไทยสูงขึ้นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่อันดับยังคงที่ ซึ่ง ศธ.ได้ตั้งเป้าหมายให้เด็กไทยมีอันดับสูงขึ้นในการจัดอันดับครั้งต่อไป โดยในขณะนี้จะจัดประชุมหารือเพื่อวิเคราะห์และกำหนดมาตรการ รวมทั้งประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้ง สพฐ. สช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนักเรียนอยู่ในช่วงอายุ 13 ปี เพื่อชี้แจงรายละเอียด เตรียมการดูแลเกี่ยวกับการเรียนการสอนไปจนถึงการสอบโครงการ PISA ในปี 2558 และปี 2561 และจะจัดให้มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์อย่างต่อเนื่องจริงจัง
ในเบื้องต้นมีมาตรการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยโครงการ PISA 6 มาตรการ ได้แก่
1. สร้างความตระหนักให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ
2. การจัดหาและจัดทำคลังข้อสอบมาตรฐานตามแนวของ PISA
3. สร้างบทอ่านและแบบฝึกหัดท้ายบท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการอ่าน วิเคราะห์
4. สร้างและใช้เครื่องมือมาตรฐานการวัดความสามารถการอ่าน การเขียน
5. สนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนกลุ่มที่คะแนน PISA 2012 ค่อนข้างน้อย
6. สร้างความเข้มแข็งของระบบติดตาม
ทั้งนี้ จะจัดประชุมคณะกรรมการอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อสรุปและรายงานผลการประชุมต่อที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตนได้มอบแนวทางให้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ โดยนำองค์ความรู้ ประสบการณ์จากการประเมินโครงการ PISA ให้สูงขึ้น มาใช้ในการยกระดับและพัฒนาการเรียนการสอนของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการคิดวิเคราะห์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้ขอให้เน้นการรณรงค์ ให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจให้ทั้งสังคม โดยเริ่มต้นจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรง คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง และให้คลอบคลุมไปยังผู้ที่มีความสนใจทั่วประเทศ แต่จะไม่มีการติวแน่นอน เพราะจะไม่รู้ว่าเด็กคนไหนจะเข้าสอบ เป็นการเลือกสุ่มเด็กไปเข้าสอบ ซึ่งในทางเทคนิคอาจจะเน้นนักเรียนที่ได้คะแนนน้อย ผลการเรียนอ่อน แต่สิ่งสำคัญคือ จะสร้างความเข้าใจกับทั้งสังคมเพื่อให้เห็นปัญหาร่วมกัน และเห็นแนวทางร่วมกันในการพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร
● แผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
ศธ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 70 แล้ว จากนั้นจะจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อไป โดยแผนแม่บทนี้จะแก้ปัญหาการไม่มีแผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทำให้ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้เด็กหรือผู้เรียนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาได้อย่างทั่วถึง และทำให้เด็กหรือผู้เรียนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ ทั้งในแง่เนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักสูตร เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร ซึ่งหมายถึง มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื้อหา ระบบคัดกรอง ระบบสรรหา คัดเลือก และระบบผลิตสื่อการเรียนการสอน ทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการศึกษา ที่เป็นระบบและครอบคลุม
ในเบื้องต้นแผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ
1. เพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถของผู้สอนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT)
2. พัฒนามาตรฐาน สาระความรู้ และสื่อการเรียนรู้แบบอิเล็กทรอนิกส์
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT
4. พัฒนาระบบ ICT เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการบริการ
5. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการศึกษา
● แนวทางการดำเนินงานของ ศธ.
รมว.ศธ.กล่าวา แม้จะเป็นช่วงของการยุบสภาและรอให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด เพราะการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบทุกเขต การเลือกตั้งมีปัญหาการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งอาจจะทำให้การเลือกตั้งยืดเยื้อออกไปอีก
ดังนั้น ศธ.จึงได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินงานนับจากนี้จนกระทั่งมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ โดยจะยังดำเนินการเรื่องสำคัญทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษาโครงการ PISA แผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การปฏิรูปการเรียนการสอน การจัดนิทรรศการและการสัมมนาเรื่องการเรียนการสอน และมีเรื่องที่ได้มีการตั้งโจทย์หรือประเด็นปัญหาไว้แล้วที่จะต้องเร่งจัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปและวางแผนปฏิบัติการต่อไป คือ การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ที่จะต้องออกประกาศของ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ จะเตรียมการงบประมาณโครงการเหล่านี้คู่ขนานไปกับการรอให้มีรัฐบาลใหม่ด้วย เพราะเป็นโครงการที่มีความต่อเนื่อง มีความชัดเจนและเป็นไปตามกฎหมาย จะรอให้ได้รัฐบาลใหม่แล้วค่อยดำเนินการคงจะไม่ได้ อย่างไรก็ตามงบประมาณที่ตั้งไว้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามนโยบายรัฐบาลใหม่ได้
ส่วนเรื่องหลักสูตรใหม่นั้น จะต้องมีการติดตามความก้าวหน้าว่าดำเนินการถึงขั้นตอนใด เพราะได้มอบหมายให้คณะกรรมการไปรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจชัดเจนตรงกัน ซึ่งยังมีความยากเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการนำไปใช้ ว่าควรเป็นอย่างไร เช่น การนำร่องใช้หลักสูตร ระยะเวลาของการเตรียมการ ซึ่งยังมีความเห็นที่ต่างกัน จึงต้องการให้หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก่อน คาดว่ามีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในส่วนนี้นานพอสมควร
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ