ชี้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาชาติทำงานกลับตาลปัตร แนะ สมศ.หยุดทำหน้าที่ชั่วคราว เพื่อวางระบบพัฒนาคุณภาพร่วมกันก่อน
วันนี้(11ธ.ค.) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) จัดการประชุม เรื่อง การทบทวนมาตรฐานการศึกษาชาติเพื่อพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพตลอดช่วงชีวิต โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยพัฒนาและประเมินระบบ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ระบบประกันคุณภาพการศึกษา เจตนารมณ์และการปฏิบัติ” ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันระบบประเมินคุณภาพการศึกษาไทยยังไม่สามารถสะท้อนผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้ รวมถึงยังไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษาที่จะส่งผลถึงคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญเป็นเพราะการปฏิบัติงานภายใต้ระบบประกันคุณภาพของหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ยังมีความสับสนและไม่สอดประสานกัน โดยเฉพาะการทำงานของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งรับผิดชอบงานประกันคุณภาพภายใน หรือ ไอคิวเอ ที่จะต้องเป็นตัวแปรหลักสำคัญที่จะส่งผลต่อมาตรฐานการศึกษา หรือ ผลลัพธ์ คือ ตัวผู้เรียน แต่กลับตาลปัตรกลายเป็นว่างานประกันคุณภาพภายในต้องทำเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกที่จัดทำโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ทั้งที่ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้ สมศ.มีหน้าที่ในการรับรองมาตรฐาน ซึ่งก็คือรับรองผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และประเมินคุณภาพ คือการประเมินโอกาสในการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าแต่ละสถานศึกษาสามารถดำเนินการให้ผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพหรือไม่เท่านั้น
“สมศ.ไม่มีอำนาจอิสระที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการศึกษาได้ แต่สามารถพัฒนาวิธีการประเมินคุณภาพได้ตามกฎหมาย ซึ่งด้วยข้อจำกัดขององค์การมหาชนที่ไม่สามารถบังคับส่วนราชการได้ ดังนั้น สมศ.จึงไม่สามารถวางระบบแล้วไปบอกให้โรงเรียนหรือกระทรวงทำตามได้ ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก และผมไม่แน่ใจว่าบอร์ด สมศ.เข้าใจหรือไม่ ดังนั้นผมอยากเสนอให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สมศ. ได้ร่วมหารือกับองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปรับปรุงการทำงานและร่วมกันทำระบบพัฒนาคุณภาพขึ้นมา โดยก่อนอื่นต้องหยุดการทำงาน สมศ.ไว้ชั่วคราวก่อน เพื่อดึงเขากลับมาทำงานร่วมกัน มิฉะนั้นเราจะพลาดพลั้งไปอีก 5 ปี เนื่องจากเวลานี้ สมศ.กำลังแอคทีฟมากและกำลังวางแนวทางประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 แล้ว แต่ยังไม่ใช่การทำงานที่สอดคล้องกัน ในขณะที่งานประกันคุณภาพนั้น ทั้งภายในและภายนอกจะต้องเป็นระบบเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว ไม่เช่นนั้นคุณภาพไม่เกิดขึ้นและจะสิ้นเปลืองงบประมาณไปฟรีๆ” ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าว.
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 11 ธันวาคม 2556