ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมการงานอาชีพ  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

การลำดับรุ่นเครื่องคอมพิวเตอร์


การงานอาชีพ เปิดอ่าน : 17,188 ครั้ง
Advertisement

การลำดับรุ่นเครื่องคอมพิวเตอร์

Advertisement

การลำดับรุ่นเครื่องคอมพิวเตอร์ โดย นายวิชัย ศังขจันทรานนท์ และนายศรีศักดิ์ จามรมาน

          เมื่อได้มีการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์เจริญขึ้นมากจนกระทั่งสามารถนำไปใช้ในกิจการทางธุรกิจได้แล้ว จึงมีการจัดลำดับเครื่องคอมพิวเตอร์ออกเป็นรุ่นดังต่อไปนี้


[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]

หัวข้อ

เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑
          ยุคของคอมพิวเตอร์รุ่นที่หนึ่งเริ่มขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๕ และมีระยะเวลา ๖ ปี โดยเป็นช่วงเวลาที่สามารถแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทดลองสร้างขึ้นก่อนหน้านี้ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งมีการพัฒนาที่สำคัญมากดังต่อไปนี้

          หลอดสุญญากาศ (vacuum tube)  การใช้หลอดสุญญากาศในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้ต้องการกำลังไฟฟ้าเลี้ยงวงจรซึ่งมีปริมาณมาก มีความร้อนเกิดขึ้นเป็นปริมาณมากมาย ต้องใช้เครื่องปรับอากาศเข้าควบคุมอุณหภูมิ จึงกลายเป็นปัญหาที่สำคัญในการติดตั้งปัญหาหนึ่ง
          ส่วนความจำ ในตอนเริ่มแรกส่วนความจำใช้ดรัมแม่เหล็กเป็นที่เก็บชุดคำสั่งและข้อมูล ซึ่งต่อมาได้มีการนำแกนแม่เหล็กเข้าใช้แทนดรัมแม่เหล็ก  เนื่องจากแกนแม่เหล็กทำงานได้เร็วกว่าดรัมแม่เหล็กมาก 
          การบัฟเฟอร์ (buffering)  มีลักษณะสำคัญที่ควรสังเกตอย่างหนึ่งคือ  การทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณตรรกในบางขั้นตอน เช่น ในการรับส่งข้อมูลและในการประมวลผลโดยทำหน้าที่เป็นส่วนความจำสำหรับพักข้อมูลชั่วคราวที่อ่านเข้าหรือออกจากคอมพิวเตอร์ เป็นผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านข้อมูลเข้าหรือออกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะมีข้อมูลเตรียมพร้อมอยู่แล้วภายในเครื่องคอมพิวเตอร์   จึงทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง  โดยไม่ต้องหยุดชุดคำสั่งทุกๆ ครั้ง หรือพิมพ์แล้วจึงส่งให้ปฏิบัติในการที่จะให้เครื่องอ่านและเขียน
          การประมวลผลเรียกหาแบบสุ่ม  (random access processing) สิ่งใหม่ที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑ คือ  การเรียกหาข้อมูลที่เก็บไว้ได้อย่างทันทีทันใด ไม่ว่าจะเก็บข้อมูลไว้ที่ส่วนใดของส่วนความจำ วิธีการนี้เป็นวิธีการเรียกหาแบบสุ่มของระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์   ซึ่งใช้แฟ้มจานแม่เหล็กเป็นส่วนความจำรองหรือใช้แฟ้มคอมพิวเตอร์ระบบออนไลน์ (on-line computerfiles) สำหรับยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑  เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนมากประมวลผลในรูปแบบอนุกรมหรือเรียงตามลำดับ ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงจะนำเข้าประมวลผล ตอนที่รับข้อมูลเข้ากับตอนที่ประมวลผลเสร็จแล้วอาจมีเวลาห่างกันหลายวัน วิธีการประมวลผลแบบสุ่มนี้  สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้ตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลทางธุรกิจทันสมัยอยู่เสมอ
          ภาษาเครื่อง (machine language) ชุดคำสั่งที่เก็บไว้ภายในส่วนความจำจะเป็นรูปแบบของภาษาเครื่องซึ่งเป็นรหัสต่างๆ เข้าควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ตามขั้นตอนต่างๆ ของชุดคำสั่งตามแบบที่วิศวกรคอมพิวเตอร์ออกแบบไว้
          คอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑ นี้เริ่มต้นขึ้นด้วยเครื่องยูนิแว็ก๑ (UNIVAC; Universal Automatic Company) สร้างขึ้นโดยบริษัทสเปอร์รีแรนด์  (Sperry Rand Corporation) ซึ่งเป็นเครื่องที่พัฒนาสืบต่อโดยตรงจากระบบคอมพิวเตอร์อีนิแอ็กและไบแน็ก ส่วนความจำสามารถบรรจุข้อมูลหรือ
คำสั่งได้ ๑,๐๐๐ คำ แต่ละคำประกอบด้วยตัวเลขฐานสิบหรือตัวอักษรเป็นรหัส ๑๒ ตัว สามารถปฏิบัติงานได้แตกต่างกัน ๔๔ อย่าง สามารถทำงานเกี่ยวข้องกับตัวอักษร  แก้ไขข้อผิดพลาดเป็น สื่อกลางที่ใช้ในการบันทึกเพื่อใช้อ่านและเขียนข้อมูลของระบบเป็นแถบแม่เหล็ก  และที่สำคัญคือสามารถอ่าน  คำนวณ  และเขียนรายงานในเวลาเดียวกัน นับเป็นเครื่องแรกที่สามารถทำได้ดังที่กล่าวนี้ สามารถทำงานไว้ใจได้ดีทำให้เป็นที่นิยมใช้กันมาก โดยมียูนิแว็ก ๑ ใช้งานอยู่ถึง ๔๘ เครื่อง
          คอมพิวเตอร์แบบที่ ๒ ของรุ่นที่ ๑  คือ ซีอาร์ซี ๑๐๒ (CRC 102) หรือเอ็นซีอาร์ ๑๐๒ (NCR 102) สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยบริษัทคอมพิวเตอร์รีเสิร์ช (Computer Research Corporation) เครื่อง ๑๐๒ นี้สร้างขึ้นมาเพื่อความประสงค์เบื้องต้นที่จะใช้ในกิจการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้มุ่งหวังที่จะใช้กับการประมวลผลทางธุรกิจ
          เครื่องคอมพิวเตอร์แบบที่สามของรุ่นที่หนึ่งที่สร้างออกมาจำหน่าย คือ  ไอบีเอ็ม ๗๐๑ (IBM 701) สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยมุ่งหวังจะใช้ในกิจการทางวิทยาศาสตร์แต่ด้วยความสามารถของบริษัทไอบีเอ็ม สามารถปรับปรุงเครื่องนี้ให้ใช้ได้กับการประมวลผลทางธุรกิจได้ ใน พ.ศ.๒๔๙๖  ได้มีการสร้างเครื่องไอบีเอ็ม ๗๐๒ (IBM 702)  ซึ่งเป็นเครื่องขนาดเล็ก มุ่งหวังจะใช้กับการค้า และเครื่องไอบีเอ็ม๖๕๐ (IBM 650)  ซึ่งเป็นเครื่องใช้ในกิจการทั่วไป โดยสามารถใช้กับธุรกิจได้เป็นพิเศษ แต่สามารถใช้กับงานทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วย และมีลักษณะที่สำคัญ คือ ใช้หลอดสุญญากาศทำหน้าที่เป็นเสมือนสวิตช์  ใช้ส่วนความจำแบบดรัมแม่เหล็ก  มีคำที่สามารถแอดเดรสได้ (addressablewords) ๒,๐๐๐ คำ แต่ละคำมี ๑๐ ตัวอักษร และส่วนรับส่งข้อมูลใช้บัตรคอมพิวเตอร์
          ไอบีเอ็ม ๖๕๐ ได้เป็นที่นิยมกันมากที่สุด ทำให้มีการติดตั้งเครื่องไอบีเอ็ม ๖๕๐ นี้มากกว่า ๑,๐๐๐ เครื่อง ต่อจากนี้ไอบีเอ็มได้สร้างเครื่องอื่นๆ ออกมาอีกตามลำดับ เช่น ไอบีเอ็ม ๗๐๔, ๗๐๕ และ ๗๐๙ เป็นผลให้ไอบีเอ็ม เป็นผู้นำหน้าในการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

[กลับหัวข้อหลัก]

การใช้หลอดสุญญากาศ ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑


เครื่องยูนิแว็ก ๑ มีการนำเครื่องนี้มาใช้ในการทำนายและวิเคราะห์การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]
เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๒
          เทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในทางอิเล็กทรอนิกส์และทางโซลิดสเตต (solid-state) นั้น เป็นผลทำให้คอมพิวเตอร์รุ่นที่สองเกิดขึ้น  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๖ นับเป็นระยะเวลา ๖ ปีเท่ากับยุคของคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑  การพัฒนาที่สำคัญๆ ของรุ่นนี้มีดังต่อไปนี้
          ทรานซิสเตอร์และไดโอด (transistor and diodes) คอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๒ ใช้ทรานซิสเตอร์ ไดโอดและวงจร พิมพ์ไว้บนแผ่นพิมพ์   ความก้าวหน้าทางเทคนิคเหล่านี้  ทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ในเครื่องมีการสูญเสียพลังงานน้อย ทำให้มีความร้อนเกิดขึ้นน้อย  ทำงานเป็นที่ไว้วางใจมากขึ้น  และมีขนาดลดลงมาก ไม่เพียงแต่ทำให้สามารถลดขนาดของคอมพิวเตอร์ลงได้มากเท่านั้น ยังทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ  มีกำลังปฏิบัติงานได้มากขึ้น  และมีราคาลดลง
          เพิ่มขยายขนาดแกนแม่เหล็ก  แกนแม่เหล็ก (magnetic core) เป็นที่นิยมใช้เป็นส่วนความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมาก   การเพิ่มเทคโนโลยีของแกนแม่เหล็ก  ทำให้มีอัตราเร็วในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ดรัมแม่เหล็กเป็นส่วนความจำอยู่บ้าง
          แถบแม่เหล็ก (magnetic tape) ขณะเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑ จำนวนมากใช้บัตรคอมพิวเตอร์เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๒ ใช้เครื่องแถบแม่เหล็กอัตราเร็วสูงสำหรับอ่านและเขียนข้อมูลกันมาก  เราอาจใช้แถบแม่เหล็กเป็นที่เก็บข้อมูลสำรอง ในขณะที่ข้อมูลนั้นกำลังถูกประมวลผลอยู่อย่างเรียงลำดับ นอกจากนี้ แถบแม่เหล็กมีราคาถูกจึงเป็นเครื่องช่วยให้ระบบคอมพิวเตอร์เจริญก้าวหน้า
          ดิสก์แพ็กแม่เหล็ก (magnetic disk pack) ความก้าวหน้าขั้นต่อไปเกิดขึ้นเมื่อมีการประมวลผลเรียกหาข้อมูลแบบสุ่ม ได้มีการพัฒนาดิสก์แพ็กที่สามารถยกเข้าออกจากเครื่องได้มาใช้งาน สามารถทำให้เก็บและเปลี่ยนจานแม่เหล็กที่ต้องการเข้าและออกจากเครื่องจานแม่เหล็กได้อย่างรวดเร็ว  และเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านข้อมูลได้รวดเร็วกว่าการใช้แถบแม่เหล็ก ดังนั้น  แฟ้มของบัญชีเงินบัญชีรับจ่าย บัญชีพัสดุ สามารถเตรียมไว้ใช้กับการประมวลผลได้เสมอโดยการใช้ดิสก์แพ็ก
          ความสามารถในการปฏิบัติงานตามเวลาจริงและตามการแบ่งเวลา (real time  and time-sharing capabilities)  ในระหว่างช่วงเวลานี้ได้มีการพัฒนาเครื่องรับส่งการสื่อสารข้อมูล เพื่อใช้รับส่งข้อมูลทั้งอยู่ใกล้และไกลกับศูนย์การประมวลผล โดยนำเครื่องและเทคนิคเหล่านี้มาใช้ร่วมกันในระบบคอมพิวเตอร์  ซึ่งใช้สิ่งประดิษฐ์ส่วนความจำระบบออนไลน์ ทำให้เกิดแนวความคิดที่จะใช้การประมวลผลบน "เวลาจริงของระบบออนไลน์" (on-line real time) ระบบเซเบรอ (SABRE) ของสายการบินอเมริกันนำแนวความคิดนี้ไปใช้อย่างได้ผล โดยระบบที่จัดไว้สามารถสอบถามถึงสถานการณ์การบินแต่ละเที่ยว และได้รับคำตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว ได้มีการพยายามอย่างยิ่งที่จะนำแนวความคิดเรื่องเวลาจริงของระบบออนไลน์มาประยุกต์ต่อไปอีก เพื่อใช้บริหารข่าวสารต่างๆ ในทำนองเดียวกันได้มีการกระตือรือร้นที่จะใช้ระบบแบ่งเวลาทั้งในสถาบันการศึกษาและการวิจัยในตอนต้น พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วิทยาลัยดาร์ตมัจ (Dartmough College) ได้พัฒนาชุดคำสั่งระบบแบ่งเวลาสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์จีอี (GE computer) ขนาดกลาง และสร้างภาษาชุดคำสั่งง่ายๆ ขึ้นมา เรียกว่า ภาษาเบสิก (BASIC; Beginner's All-purpose Symbolic Instruction Code)
          แนวความคิดในการสร้างวงจรเป็นกลุ่มก้อน หรือเป็นกล่อง (modular or building block concept) ในการที่มีแนวความคิดออกแบบและสร้างวงจรต่างๆ ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นกล่องมีสายต่อยื่นออกจากกล่องเตรียมไว้  สามารถเพิ่มขยายระบบคอมพิวเตอร์ให้ใหญ่ขึ้น  และมีความสามารถมากขึ้นตามต้องการโดยสามารถขยายระบบขึ้นตามลักษณะของบริษัทห้างร้านที่เจริญเติบโตขึ้นมากกว่าที่จะเป็นระบบประมวลผลใหม่เข้าแทนที่
          ภาษาเขียนที่เป็นสัญลักษณ์ (symbolic language) การปรับปรุงการเขียนชุดคำสั่งให้ดีขึ้น  ที่สำคัญคือแทนที่จะใช้รหัสแทนคำสั่งและข้อมูลซึ่งนิยามโดยผู้ออกแบบคอมพิวเตอร์ ก็เปลี่ยนเป็นการเขียนชุดคำสั่งให้ง่ายลง โดยการใช้สัญลักษณ์ เช่น ถ้าเป็นภาษาเครื่องจักร การบวกใช้รหัส ๒๕ ภาษาเขียนที่เป็นสัญลักษณ์อาจเป็น ADD 
         
การปรับปรุงอื่นๆ สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๒ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้รอบๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ (peripheraldevices) คือ การเพิ่มอัตราเร็วของการอ่านบัตร  การเจาะบัตร  และการพิมพ์ผลลัพธ์  นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ในการสืบเสาะข้อผิดพลาด แก้ไขคำผิดที่คิดสร้างไว้ภายใน  และการปรับปรุงการเขียนชุดคำสั่งให้ดีขึ้น ซึ่งทำให้ลดการเข้าขัดจังหวะของพนักงานคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ลง
          ในยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๒   ได้มีการสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมามากมาย ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ออกจำหน่ายในท้องตลาด เครื่องไอบีเอ็ม ๑๔๐๑ เป็นเครื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุด  มีการนำไปใช้งานมากกว่า ๑๗,๐๐๐ เครื่อง เครื่องแบบอื่นอีก ๒ แบบคือ ไอบีเอ็ม ๑๔๑๐ และ ๑๔๔๐ ได้เป็นที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไปเท่าๆ กันกับเครื่องไอบี
เอ็ม ๑๖๒๐,๗๐๗๐,๗๐๘๐ และ ๗๐๙๐ สำหรับบริษัทอื่นๆ เครื่องที่ขายดี คือ เบอร์โรอนุกรม-บี-๒๐๐ เจเนอรัลอิเล็กทริก-จีอี-๒๒๕   ฮันนีเวลล์-เอช-๔๐๐เนชันแนลแคเรจิสเตอร์-เอ็นซีอาร์  ๓๑๕  และ ๕๐๐ บริษัทวิทยุแห่งอเมริกา-อาร์ซีเอ ๓๐๑ และ ๕๐๑ สเปอร์รีแรนด์เอสเอส ๘๐/๙๐ และ ยูนิแว็ก ๑๐๐๔

[กลับหัวข้อหลัก]
[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]
เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓

          ยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ เริ่มจาก  พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๑๒ นับเป็นระยะเวลา ๖ ปีเท่ากันกับยุคของคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑ และที่ ๒ ในยุคนี้ได้มีการพัฒนา เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้คอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ ก้าวหน้ามากขึ้น และมีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิมดังต่อไปนี้
          วงจรเบ็ดเสร็จหรือไอซี (integrated circuits;IC)  ได้มีการพัฒนาวงจรรวมขึ้นเป็นกลุ่มเดียวกันเรียกว่าวงจรเบ็ดเสร็จ  หรือไอซี และพัฒนาวงจรผสม  (hybrid integrated  circuits) ขึ้น เข้าใช้แทนที่วงจรโซลิดสเตต  (solidstate circuitry) แบบเก่า วงจรเบ็ดเสร็จเป็นวงจรรวมของส่วนประกอบต่างๆ เช่น ทรานซิสเตอร์ ไดโอด และความต้านทานอยู่บนแผ่นพิมพ์เล็กๆ แผ่นเดียวกัน ซึ่งวงจรนี้ได้ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์บางโมเดลของอาร์ซีเอ  เช่น สเปกตรา (spectra) อนุกรม ๗๐  วงจรผสมนี้บางทีเรียกว่า "เทคโนโลยีโซลิดตรรก"  หรือ เอสแอลที (solid logic technology; SLT) เป็นวงจรที่ผลิตทรานซิสเตอร์และไดโอดแยกต่างหากแล้วนำมารวมทีหลังโดยการบัดกรี  วงจรแบบนี้บริษัทไอบีเอ็มได้นำมาใช้ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ในอนุกรม๓๖๐ วงจรเอสแอลทีนี้ต้องการกำลังไฟฟ้าเลี้ยงวงจรต่ำ มีความร้อนเกิดขึ้นน้อย ทำงานไว้ใจได้ดีกว่าวงจรเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ในสมัยเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีขนาดเล็กมาก เป็นผลทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์เล็กลงด้วยทำให้เกิดมีการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือมินิคอมพิวเตอร์ (minicomputer) ที่สามารถคำนวณได้อย่างรวดเร็วขึ้นมา และสิ่งที่สำคัญที่สุด  คือ  การที่ส่วนประกอบต่างๆลดขนาดลงเป็นผลให้สัญญาณไฟฟ้าเสียเวลาน้อยลงในการวิ่งผ่าน จึงทำให้อัตราเร็วในการทำงานเพิ่มขึ้น
           ส่วนความจำ ในยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓  ได้มีการปรับปรุงเทคนิคการผลิตวงจรพิมพ์ให้ดีขึ้น  ทำให้มีความก้าวหน้าทางวงจรคอมพิวเตอร์ขึ้น เป็นผลให้ส่วนความจำแบบแกนแม่เหล็กสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น และทำให้ราคาการผลิตลดลงด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาส่วนความจำแบบฟิล์มบาง (thin-film memories) ที่ทำงานได้อย่างรวดเร็วมาใช้ ในยุคนี้สามารถประดิษฐ์ให้ส่วนความจำทำงานได้เร็วในขนาดนาโนวินาที (เศษหนึ่งส่วนพันล้านของวินาที) และสามารถจัดสร้างส่วนความจำที่มีความจุจำนวนมาก ที่สามารถทำงานไว้ใจได้ดีและสามารถเรียกหาข้อมูลที่เก็บไว้ได้ด้วยอัตราเร็วสูง
          ขยายความสามารถของการทำงานตามเวลาจริงและตามการแบ่งเวลา สามารถขยายพื้นที่ของการเก็บข้อมูล การสื่อสารข้อมูล และการรับส่งข้อมูล ทำให้สามารถใช้เทอร์มินัลและหน่วยแสดงผลติดตั้งในที่ห่างไกลได้โดยต่อสายติดอยู่กับศูนย์คอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ไม่เพียงแต่สามารถทำให้ระบบเวลาจริงต่อสายเป็นจริงขึ้น  ในการปฏิบัติสำหรับบริษัทธุรกิจส่วนมากแล้ว ยังสามารถทำให้บริษัทเล็กๆ ใช้บริการแบ่งเวลาเพื่อที่จะได้ข่าวสาร "เดี๋ยวนั้น" เป็นจริงขึ้นมาในการปฏิบัติอีกด้วย เป็นผลให้ราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้แก้ปัญหาทางธุรกิจมีราคาต่ำลงมากพอสำหรับผู้ใช้ที่มีความต้องการปรับปรุงกิจการให้ทันสมัยจะหาไว้ใช้ได้
          การสั่งงานและการประมวลผลอเนกประสงค์(multiprogramming  and multiprocessing) เทคนิคการสั่งงานและการประมวลผลอเนกประสงค์ เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓  ซึ่งได้มีการพัฒนาให้มีการปฏิบัติงานตามชุดคำสั่งควบคุมที่สามารถทำได้หลายชุดคำสั่งพร้อมกันซึ่งเรียกว่า ชุดคำสั่งอเนกประสงค์ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้คอมพิวเตอร์ทำการสื่อสารระหว่างกันและกันเป็นผลให้มีการประมวลผลพร้อมกันหลายอย่าง และเป็นผลให้คอมพิวเตอร์ของบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทที่สัมพันธ์กันสามารถสื่อสารติดต่อกันเพื่อสามารถเฉลี่ยงานกันทำระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้น
           การขยายแนวความคิดของการสร้างกลุ่มก้อน ของส่วนประกอบ (extension of building block concept) คุณสมบัติที่สำคัญอย่างอื่นของคอมพิวเตอร์คือการขยายแนวความคิดของการสร้างกลุ่มก้อนของส่วนประกอบเป็นกล่อง ซึ่งสามารถนำมาต่อเข้าด้วยกันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ เป็นผลให้สามารถขยายระบบคอมพิวเตอร์ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงระบบมูลฐานของคอมพิวเตอร์ จึงมีความยืดหยุ่น (flexibility) ดีมาก บริษัทผู้ผลิตส่วนมากได้ใช้แนวความคิดนี้ มาสร้างอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓  สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ สามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งทางธุรกิจและทางวิทยาศาสตร์ด้วยความสะดวกเท่าๆ กัน
          ภาษาระดับสูง (higher-level languages) ในยุคของคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ นี้ได้มีการปรับปรุงการเขียนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ให้กว้างขวางขึ้น ได้มีการใช้ภาษาใหม่เช่น พีแอลวัน (PL/1) สำหรับไอบีเอ็มระบบ /๓๖๐  ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับของการเขียนชุดคำสั่ง  ได้มีการปรับปรุงการเขียนภาษาต่างๆ เช่น เบสิก โคบอล (COBOL)และฟอร์แทรน (FORTRAN)  เป็นต้น  ให้ดีขึ้น สามารถลดเวลาการปฏิบัติงานของชุดคำสั่งให้น้อยลง  ได้มีการทดสอบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้กับระบบแบ่งเวลา ทำให้สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพกว้างขวางมากขึ้น
          เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ เริ่มขึ้นด้วยเครื่องไอบีเอ็มอนุกรมระบบ /๓๖๐ และสเปกตราอนุกรม ๗๐ ของอาร์ซีเอเครื่องทั้งสองได้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๗ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทได้พัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ ขึ้นเป็นอนุกรมต่างๆ หลายบริษัทได้สร้างคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กออกจำหน่ายให้แก่บริษัทเล็กๆ ที่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์เช่น ระบบ/๓ ของไอบีเอ็ม (โมเดล ๑๐ ได้สร้างขึ้นใน พ.ศ.๒๕๑๒) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีการเริ่มสร้างมินิคอมพิวเตอร์ออกจำหน่ายในราคาถูกลงมาก แม้กระทั่งบริษัทที่เล็กที่สุดก็อาจสามารถหามาใช้ทำงานได้ ในยุคนี้การใช้คอมพิวเตอร์ได้แพร่หลายออกไปมาก


[กลับหัวข้อหลัก]
[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]
เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔

          ยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ เริ่มขึ้นใน พ.ศ.๒๕๑๓ แม้จะมีเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เด่นกว่ายุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ มากนัก นอกจากจะมีการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่สามารถทำงานได้ด้วยอัตราเร็วสูงขึ้นเท่านั้น จึงยังไม่สิ้นสุดยุคของคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔  แม้ว่าจะล่วงเลยระยะเวลา ๖ ปีมาแล้ว โดยมีการพัฒนาต่างๆ ดังต่อไปนี้
         
วงจรเบ็ดเสร็จขนาดจิ๋ว (microscopic integrated circuits) โดยเทคโนโลยีระบบก้อนเดียวหรือเอ็มเอสที(monolithic system technology; MST) ซึ่งบรรจุวงจรจำนวนมากลงบนแผ่นชิป (chip) เล็กๆที่ผลิตขึ้นมาจากแผ่นซิลิคอนเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๑๘ ตารางนิ้ว มีชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์บรรจุอยู่แผ่นละ ๑,๔๐๐ สมาชิก (บนแผ่นชิพเล็กๆ นี้มีจำนวนวงจรมากกว่าแผ่นชิพที่ใช้กับคอมเตอร์ยุคที่ ๓ ถึง ๘ เท่า) และบรรจุแผ่นเล็กๆ นี้ลงในก้อนพลาสติกแข็ง เล็ก และมีขาต่อยื่นออกมาไม่กี่ขา  ซึ่งได้นำมาใช้ในไอบีเอ็มระบบ/๓๗๐ สามารถทำงานได้เร็วกว่าระบบ/๓๖๐ หลายเท่า
          ความก้าวหน้าที่น่าประทับใจมากที่สุด คือ ไอบีเอ็มระบบ/๓๗๐ โมเดล ๑๔๕  ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดกลางที่นำวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่หรือแอลเอสไอ (LSI;large-scale integration) มาใช้เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์และส่วนความจำของคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องแรก วงจรแอลเอสไอของคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เล็กกว่าเอ็มเอสที โดยใช้แผ่นซิลิคอนสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๑๑๐ ตารางนิ้ว   สามารถบรรจุวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้สูงถึง ๑๐,๐๐๐สมาชิก  กินกำลังไฟฟ้าเลี้ยงวงจรน้อยลง และทำงานได้รวดเร็วมาก โดยเครื่องอิลลิแอ็ก ๔ (ILLIAC IV) ของบริษัทเบอร์โร สร้างขึ้นด้วยวงจรแอลเอสไอ สามารถทำงานได้เร็วเท่ากับเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ ช่วยกันทำ ๑๒๘เครื่อง
          ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ บริษัทอินเทล (Intel Corporation) ได้ผลิตโพรเซสเซอร์ (microprocessor) เล็กๆ เบอร์ ๔๐๐๔ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และยังได้ผลิตรอม (read-only memory; ROM) เบอร์ ๔๐๐๑ และแรม (random-access memory; RAM) เบอร์ ๔๐๐๒ มาใช้ประกอบในการสร้างคอมพิวเตอร์  ในตอนแรกโพรเซสเซอร์  ๔๐๐๔ ไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ตื่นเต้นเนื่องจากมีความยาวข้อมูล ๔ บิต  และมีอัตราเร็วในการทำงานช้ามาก  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีการประดิษฐ์วงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่มาก หรือวีแอลเอสไอ (VLSI;very-large-scale-integration) ขึ้นได้ โดยวงจรนี้จะบรรจุวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นซิลิคอนเล็กๆ ได้มากกว่า ๑๐,๐๐๐สมาชิก ทำให้การปรับปรุงโพรเซสเซอร์ออกเป็นแบบต่างๆ มีลักษณะวงจรและสถาปัตยกรรมต่างๆ มีอัตราเร็วสูง มีความยาวข้อมูล ๘ หรือ ๑๖ บิต และมีประสิทธิภาพดีขึ้น ออกมาจำหน่ายอีกหลายแบบโดยบริษัทอีกหลายบริษัท ทำให้เกิดมีการนำเอาโพรเซสเซอร์มาใช้สร้างคอมพิวเตอร์ออกเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (super computer) และอีกแนวทางเป็นการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วหรือไมโครคอมพิวเตอร์ (microcomputer) เป็นผลให้มีการสร้างเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (personalcomputer)
         
ส่วนความจำ ในยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ ได้มีการพัฒนานำเอาระบบความจำแบบวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่ หรือแอลเอสไอ (LSI; large-scale integration)และแบบเลเซอร์ (laser mass memory) มาใช้งาน การใช้ระบบความจำแบบวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่เป็นที่นิยมกันมากโดยจะต้องใช้ร่วมกับวิธีการเก็บข่าวสารด้วยวิธีที่เรียกว่า"เก็บความจำแบบแอสโซซิเอทีฟ" (associative  memory)ซึ่งเป็นวิธีการระบุตำแหน่งที่เก็บข่าวสารในส่วนความจำด้วยข้อความในข่าวสาร แทนที่จะระบุตำแหน่งของส่วนความจำวิธีการนี้จะทำให้มีราคาลดลงประมาณ ๒ เท่า (ถ้านำวิธีการนี้ไปใช้กับส่วนความจำแบบเก่าที่นิยมใช้กันอยู่ ราคาจะลดลง๔ เท่า) ถ้าหากนิยมใช้กันมากและทำการผลิตวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่จำนวนมาก จะทำให้ราคาลดต่ำลงกว่านี้มากและสิ่งที่สำคัญมากที่สุดนั้นก็คือ จะทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบสั่งงานถูกลงมาก นอกจากนี้ จะสามารถปฏิบัติงานกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้ดีขึ้น และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
          ระบบความจำแบบเลเซอร์นิยมใช้เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้เป็นส่วนความจำรอง ระบบความจำแบบเลเซอร์เป็นแถบแม่เหล็กที่เจาะเป็นรูเล็กๆ ด้วยลำแสงเลเซอร์  รูเหล่านี้ไม่สามารถปะติดกันตามเดิม ซึ่งหมายความว่าส่วนความจำแบบนี้ไม่สามารถลบออกหรือเขียนใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการบันทึกจะคงที่แต่สามารถทำให้ทันสมัยได้ด้วยการทิ้งช่องว่างไว้บนแถบเพื่อที่จะเพิ่มข้อมูลลงไปในภายหลัง ระบบความจำแบบเลเซอร์สามารถเก็บข้อมูลได้หลายพันล้านบิตเพื่อใช้งานในระบบออนไลน์
         
ชุดคำสั่งไมโคร (microprogramming) เป็นพัฒนาการที่สำคัญมาก  โดยเฉพาะชุดคำสั่งเป็นวิธีปฏิบัติของส่วนควบคุม เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ตามคำสั่งที่เป็นขั้นตอนเล็กๆ ตามลำดับ ในลักษณะของการปฏิบัติงานเบื้องต้น แทนที่จะสร้างสัญญาณควบคุมขึ้นโดยตรง  แล้วนำไปควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์  วิธีการนี้ได้เคยใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่๓  มาแล้ว คือ ไอบีเอ็มระบบ/๓๖๐ และอาร์ซีเอสเปกตรา ๗๐ แต่เมื่อมาถึงเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔  ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างกว้างขวาง สามารถทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้คำสั่งชุดเดียวกับที่ได้เตรียมไว้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นตามแนวทางเดียวกัน จึงได้เป็นที่ยอมรับกันว่า ชุดคำสั่งเป็นวิธีการของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔
         
ระบบการสั่งงาน ได้มีการพัฒนาระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ ให้ดีขึ้น แต่ยังไม่เป็นที่สำคัญเด่นชัด เช่น ได้มีการใช้คำสั่งแบบใหม่ ๑๔ แบบ กับไอบีเอ็มระบบ/๓๖๐  (เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓) แต่สามารถนำไปใช้ได้กับระบบ/๓๗๐ แบบ (เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔) ในปัจจุบันมีระบบสั่งงาน ๓๖๐ แบบ สามารถใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์อนุกรม ๓๗๐ ยกเว้นระบบสั่งงานบางแบบที่ชุดคำสั่งขึ้นอยู่กับเวลาและขึ้นอยู่กับอุปกรณ์เครื่องใช้ ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยระบบการสั่งงาน "ซิสเจน" (SYSGEN; systemgenerator) โดยจะสามารถเปลี่ยนคำสั่งเหล่านั้นให้ใช้กับระบบ/๓๗๐ ได้
          การพัฒนาที่สำคัญนอกจากนี้ได้ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดตอนกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ไอบีเอ็มได้โฆษณาถึงโครงการใช้ระบบการสั่งงานอัตโนมัติ ซึ่งใช้แสงกวาดไปตามแผนภูมิ(flow chart) แล้วทำให้สามารถเขียนเป็นภาษาฟอร์แทรนอย่างง่ายๆ ออกมาได้
          การสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์  คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์นี้นิยมเรียกว่า  ซูเปอร์คอมพิวเตอร์  ในยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ มีการสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และยักษ์ โดยระบุลักษณะสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ด้วยการมีคำสั่งระดับล้านคำสั่งต่อวินาที (mips; million instruction per second)และคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ ด้วยการมีคำสั่งระดับสิบล้านคำสั่งขึ้นไปต่อวินาที บริษัทซีดีซี (CDC) ได้เป็นผู้นำในการสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ ซีดีซี ๗๖๐๐ (CDC 7600) ขึ้นต่อมาบริษัทไอบีเอ็มได้สร้าง ไอบีเอ็ม ๓๖๐/๑๙๕ (IBM360/195) เครื่องทั้งสองนี้ทำงานด้วยอัตราเร็วประมาณ ๑๕ล้านคำสั่งต่อวินาที
          ต่อมาบริษัทซีดีซีได้สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ ที่มีความเร็วสูงขึ้นถึงประมาณ ๑๐๐ ล้านคำสั่งต่อวินาทีเรียกว่า สตาร์ (STAR; string aray)  นอกจากนี้บริษัทเบอร์โรก็ได้สร้างเครื่องอิลลิแอ็ก ๔ ขึ้นมา มีความเร็วใกล้เคียงกับเครื่องสตาร์ ซึ่งอัตราเร็วขนาดนี้นับว่าสูงมาก และเป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง
        บริษัทที่มีชื่อเสียงในการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์อีกบริษัทหนึ่งคือ บริษัทเครย์ (Cray) สร้างเครื่องเครย์ ๑(Cray 1)  และเครย์ ๒ (Cray 2)
          มินิคอมพิวเตอร์ วิวัฒนาการด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่หรือที่นิยมเรียกว่า  เมนเฟรม (mainframe) ได้เริ่มด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑ ถึงรุ่นที่ ๔  และในระหว่างการพัฒนาคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่จากรุ่นที่ ๓ เป็นรุ่นที่ ๔ ให้เป็นเครื่องที่ใหญ่ขึ้น ทำงานได้มากขึ้น มีความเร็วสูงขึ้นนั้น ได้มีผู้มองเห็นตลาดอีกแห่งหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครผลิตคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือมินิคอมพิวเตอร์ราคาต่ำ พอใช้ทำงานได้ในกิจการที่ไม่ใหญ่นัก
          ผู้ที่เห็นลู่ทางการตลาดสำหรับมินิคอมพิวเตอร์ในช่วงแรกๆ ของพ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๒ จึงตั้งบริษัทขึ้น จัดจำหน่ายมินิคอมพิวเตอร์  ซึ่งทำงานได้ทุกอย่างคล้ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ แต่ทำงานได้ปริมาณน้อยกว่าและมีความเร็วน้อยกว่า
          บริษัทแรกคือ เดก (DEC; Digital EquipmentCorporation) ผลิตเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ขนาดตั้งโต๊ะออกมาขาย เมื่อขายได้ดีก็มีบริษัทอื่นๆ ผลิตตามบ้าง เช่น ดาตาเจเนอรัล (Data General) ดาตาพอยนต์ (Datapoint)เท็กซัสอินสตรูเมนต์หรือทีไอ (TI) แทนเด็ม (Tandem)เพอร์กิน-เอลเมอร์ (Perkin-Elmer)  ไพรม์(Prime)  แวง(Wang) เอชพี  (HP) เอ็นอีซี (NEC) ไอบีเอ็ม (IBM)ฮันนีเวลล์ (Honeywell) และฮิตาชิ (Hitachi)
          มินิคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ นั้นเป็นขนาด ๑๖ บิต แต่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ บริษัทโกลด์ (Gould) ได้พัฒนาซูเปอร์มินิ (super mini) ขนาด ๓๒ บิตออกสู่ตลาด และใน พ.ศ.๒๕๒๐ เดก (DEC) ได้ประกาศเครื่องแวกซ์ ๑๑/๗๘๐ (Wax11/780) เป็นซูเปอร์มินิขนาด ๓๒ บิต ที่ช่วยให้ตลาดขยายได้อย่างกว้างขวาง
          ไมโครคอมพิวเตอร์ หลังจากที่มีผู้ผลิตมินิคอมพิวเตอร์ออกสู่ตลาดเพียง ๒-๓ ปี ประวัติศาสตร์ด้านวิวัฒนาการคอมพิวเตอร์ก็ได้ซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่งด้วยการที่มีผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วหรือคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ราคาต่ำกว่าและทำงานได้ทุกอย่างเหมือนมินิคอมพิวเตอร์ แต่น้อยกว่าและช้ากว่า
          บริษัทที่ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์บริษัทแรกคือ  บริษัท อินเทล ซึ่งได้ผลิตโพรเซสเซอร์ ขนาด ๔ บิต ชื่ออินเทล ๔๐๐๔ และสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ขนาด ๔ บิต ชื่อ ซิม ๐๔ (SIM 04)  แต่มิได้เอาออกวางตลาด
          ถึงปลาย พ.ศ. ๒๕๑๗ บริษัทอัลแทร์ (Altari) ได้นำไมโครคอมพิวเตอร์ ขนาด ๘ บิต ออกสู่ตลาดเป็นแบบชิ้นส่วนให้ผู้สนใจซื้อไปประกอบเอง ราคาชุดละไม่ถึง ๔๐๐ เหรียญสหรัฐ และใช้โพรเซสเซอร์  อินเทล ๘๐๐๘
          จากการที่ได้เห็นเครื่องอัลแทร์ขายดี  ก็มีผู้สนใจรายอื่นๆ ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นมาขายอีกรวมกว่า  ๑๕๐บริษัท บริษัทที่มีชื่อเสียงมากสำหรับเครื่องขนาด  ๘  บิตได้แก่ แอปเปิล (Apple) เรดิโอแช็ค (Radio Shack) เป็นต้น
          ไมโครคอมพิวเตอร์ ขนาด ๘ บิตนั้น มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ สามารถมีส่วนความจำหลักได้เพียงอย่างมาก๖๔ KB (KB = kilobyte  ๑ KB = ๑,๐๒๔ หน่วยของส่วนความจำ)
          ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาไมโครคอมพิวเตอร์ขนาด ๑๖บิตขึ้น มีส่วนความจำได้ถึง ๖๔๐ KB  และบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดด้านไมโครคอมพิวเตอร์ขนาด ๑๖ บิต ก็คือ ไอบีเอ็มซึ่งประกาศ ไอบีเอ็ม พีซี (PC) ออกตลาดใน พ.ศ. ๒๕๒๖และยึดครองตลาดไมโครคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าบริษัทอื่นๆ


[กลับหัวข้อหลัก]

ภาพแสดงส่วนภายในไอซี NSC ๘๐๐ ซึ่งเป็นไมโครโพรเซสเซอร์ ๘ บิต จัดเป็นวงจรเบ็ดเสร็จขนาดใหญ่ มีทรานซิสเตอร์มากกว่า ๑๐,๐๐๐ ตัว บรรจุลงบนแผ่นซิลิคอนเล็ก ๆ ขนาดไม่เกิน ๑ ตารางเซนติเมตร


แผ่นจานเลเซอร์ สามารถเก็บข้อมูลได้เป็นพันล้านตัวอักษรต่อ ๑ แผ่นความจุขนาดนี้เทียบเท่ากับความจุของแถบแม่เหล็ก ๒๐ ม้วน ที่วางอยู่ด้านหลังแผ่นจานเลเซอร์ในรูป


การป้อนข้อมูลหรือการติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในรุ่นที่ ๔ จนถึงรุ่นปัจจุบันจะกระทำผ่านทางเทอร์มินัล ซึ่งประกอบด้วยจอภาพและแป้นพิมพ์ แทนการใช้เครื่องเจาะและอ่านบัตรอย่างในสมัยก่อน


เครื่องเครย์ เอ็กซ์-เอ็มพี (Cray X-MP) เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงานได้เร็วที่สุดในโลก


เครื่องมินิคอมพิวเตอร์ในตระกูลแวกซ์ ในภาพคือ แวกซ์ ๘๘๐๐


เครื่องมินิคอมพิวเตอร์ในตระกูลแวกซ์ ในภาพคือ ไมโครแวกซ์ ๒

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]
เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๕

          เมื่อ  พ.ศ.  ๒๕๒๒ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาจัดวางมาตรการที่จะทำให้ญี่ปุ่นมีความสามารถในด้านคอมพิวเตอร์นำหน้าสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการดังกล่าวได้ประชุมปรึกษาหารือกันจนถึง พ.ศ.๒๕๒๔ จึงเสนอรายงานที่มีข้อสรุปสำคัญว่าญี่ปุ่นจะต้องออกแบบและสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๕ ให้ได้ภายใน พ.ศ.๒๕๓๓ รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบ แล้วตั้งคณะกรรมการดำเนินการ  เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๒๕  ซึ่งคณะกรรมการศึกษาและวิจัยเรื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่  ๕ มีศาสตราจารย์  โมโตโอกะ  แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นประธาน มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ และมีสำนักงานเลขานุการอยู่ที่ศูนย์พัฒนาการประมวลผลแห่งญี่ปุ่น
          คอมพิวเตอร์รุ่นที่  ๕ ของญี่ปุ่นนี้ กำหนดจะสร้างเครื่องแรกให้ทดลองใช้ได้ใน พ.ศ. ๒๕๓๓ การลงมือสร้างจริงๆ คงใช้เวลาเพียง ๑-๒ ปี ฉะนั้นที่เหลือก็เป็นการศึกษาวิจัยให้ได้แบบที่ดี โดยจะเริ่มจากวิทยาการใหม่ๆ ที่สำคัญรวม ๔ เรื่องคือ
          ๑. ระบบข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ
          ๒. ภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงมาก
          ๓. การประมวลผลแบบกระจายหรือแบบขนาน
          ๔. เทคโนโลยีวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่มาก

          ระบบข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ ระบบนี้ทางญี่ปุ่นเชื่อว่าการใช้คอมพิวเตอร์ในอนาคต จะเป็นระบบนี้ทั้งนั้น หลักการก็คือ จะรวบรวมความรู้ของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าไว้ในคอมพิวเตอร์ให้หมด ให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญนั้นๆ  ได้ ตัวอย่างสมัยนี้ก็มีแล้วหลายด้าน เช่น ด้านการเล่นหมากรุก ในอเมริกามีชุดคำสั่งให้คอมพิวเตอร์เรียนจากประสบการณ์ จ้างนักเล่นหมากรุกฝีมือเยี่ยมของโลกมาเล่นแข่งกับคอมพิวเตอร์   แล้วให้คอมพิวเตอร์จดจำวิธีการเล่นไว้จนหมด ให้คอมพิวเตอร์เรียนวิทยายุทธ์ของคู่แข่งทุกกระบวน และให้คอมพิวเตอร์พัฒนาเอาวิทยายุทธ์ต่างๆประกอบกันเข้า จนในที่สุดคอมพิวเตอร์ก็เป็นนักหมากรุกฝีมือเยี่ยมได้ ตัวอย่างด้านอื่นซึ่งคงจะมีประโยชน์มากกว่าก็คือด้านการวิเคราะห์โรค และการสำรวจแร่ เช่น ในด้านการวิเคราะห์โรค  พอบอกอาการ  คอมพิวเตอร์ก็จะบอกได้ว่า อาจจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง จะต้องตรวจวิเคราะห์อย่างไรต่อจึงจะตัดสินใจได้แน่นอน เมื่อตัดสินใจได้แน่นอนแล้วคอมพิวเตอร์ก็จะเสนอการสั่งยา เป็นต้น
          ในระบบข้อมูลผู้เชี่ยวชาญนี้  ญี่ปุ่นหวังว่าคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๕ จะพูดจาโต้ตอบกับคนได้ และแสดงภาพแสดงกราฟต่างๆ ได้
         
ภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงมาก ญี่ปุ่นต้องการให้คนสามารถสั่งคอมพิวเตอร์ว่าจะทำอะไร  โดยไม่ต้องบอกว่าจะทำอย่างไรแล้วให้คอมพิวเตอร์จัดการหาวิธีทำงานเอาเองเพื่อความเข้าใจจะขอกล่าวถึงเรื่องภาษาคอมพิวเตอร์เล็กน้อยกล่าวคือ  แต่เดิมถึงปัจจุบันนี้ ในวงการคอมพิวเตอร์ถือกันว่าภาษาคอมพิวเตอร์มี ๒ ระดับ  คือ  ภาษาระดับต่ำ กับภาษาระดับสูง ในภาษาระดับต่ำจะต้องสั่งคอมพิวเตอร์ละเอียดทุกขั้นตอน เช่น ถ้าต้องการเอาเลข ๒ ตัวบวกกันแล้วเก็บผลลัพธ์ไว้อีกที่หนึ่ง  ก็จะต้องสั่งละเอียดเป็นขั้นๆคือ ขั้นที่ ๑ ให้เอาเลขตัวที่ ๑ มาใส่ในที่สำหรับบวกเลขขั้นที่ ๒ ให้ไปเอาตัวเลขที่ ๒ มาบวกกับเลขตัวที่ ๑  ขั้นที่๓ ให้เอาผลลัพธ์ไปไว้ที่ที่ต้องการ เป็นต้น ถ้าเป็นภาษาระดับสูงแทนที่จะต้องสั่งถึง ๓ คำสั่ง เราก็สั่งเพียงคำสั่งเดียวว่า A = B + C ถ้าเป็นปัญหายากๆ ยาวๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ในงานบัญชีเดินสะพัดของธนาคาร ถ้าใช้ภาษาระดับสูงก็ยังต้องเขียนคำสั่งเป็นพันเป็นหมื่นคำสั่ง  แต่ถ้าใช้ภาษาระดับสูงมาก  ก็สั่งเพียงว่าให้ทำงานบัญชีเดินสะพัดคอมพิวเตอร์ก็จะจัดการทำคำสั่งของมันเอง
         
การประมวลผลแบบกระจายหรือแบบขนาน เป็นการรวมวิทยาการด้านโทรคมนาคมกับด้านการประมวลผลซึ่งเป็นการต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งขนาดใหญ่  ขนาดกลางขนาดเล็ก ขนาดจิ๋ว ตามเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน ใครมีงานอะไร  ก็ส่งเข้าคอมพิวเตอร์ของตน ถ้าเครื่องนั้นทำได้ก็ทำไป ถ้าทำไม่ได้เพราะไม่มีเวลา  หรือไม่มีความสามารถ  ก็ส่งไปให้เครื่องอื่นช่วยทำให้ เพราะฉะนั้นทุกๆ คนจะมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์เท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดหรือมีเครื่องเล็ก เครื่องใหญ่อย่างไร
          เทคโนโลยีวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่มาก
เป็นวิทยาการที่เริ่มมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยมีการผลิตวงจรเบ็ดเสร็จขึ้น โดยเอาวงจรหลายๆ วงจรรวมไว้ในแผ่นซิลิคอนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ หรือเรียกว่า ชิป ซึ่งมีผู้พัฒนากันต่อมาอย่างรวดเร็วมาก  กระทั่ง  พ.ศ. ๒๕๐๗ ก็มีวงจรเบ็ดเสร็จชนิดเล็ก (SSI;small scale integration) แต่ละชิปมีความสามารถเท่ากับทรานซิสเตอร์ ถึง ๑๐ ตัว ในพ.ศ. ๒๕๑๑มีชิปวงจรเบ็ดเสร็จชนิดกลาง (MSI; medium. scale. integration) แต่ละชิปมีความสามารถเท่ากับทรานซิสเตอร์ ๑๐-๑๐๐ตัว ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ มีชิปวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่ แต่ละชิปวงจรมีความสามารถเท่ากับทรานซิสเตอร์ ๑๐๐-๑๐,๐๐๐ตัว จนถึงปัจจุบันนี้มีชิปวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่มาก แต่ละชิปเทียบเท่ากับทรานซิสเตอร์กว่า  ๑๐,๐๐๐ ตัว ฉะนั้น
          จึงสามารถใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่มาก ซึ่งแต่ละชิปมีขนาดเล็กกว่า ๑ ตารางเซนติเมตร ให้ทำหน้าที่เป็นคอมพิวเตอร์อเนกประสงค์ มีความสามารถเท่าคอมพิวเตอร์ใหญ่ๆ ในปัจจุบัน หรือจะใช้ชิปวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่มากขนาดเล็กๆ นั้นทำหน้าที่เป็นคอมพิวเตอร์เฉพาะกิจที่มีความสามารถมากมายก็ได้
          ในการประกาศจะสร้างคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๕ นั้น ได้มีการอ้างว่าคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ ไม่ดีอย่างไร โดยโจมตีหลักการที่สำคัญของรุ่นเก่าๆ คือ หลักการของ "ฟอน นอยมันน์" ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า คอมพิวเตอร์ปัจจุบันนั้นมีลักษณะดังต่อไปนี้
          ๑. คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง มีส่วนประมวลผลส่วนรับส่งข้อมูล และส่วนความจำ
          ๒. ส่วนความจำหลักของคอมพิวเตอร์ มีขนาดที่ตกลงกันไว้แน่นอน
          ๓. การจัดส่วนความจำกลาง เป็นระดับเดียวกันหมด จัดเรียงกันไปจากตัวที่ ๑ ไปตัวที่ ๒   ๓   ๔ เรื่อยๆ ไม่แยกเป็นชั้นเป็นกลุ่ม
          ๔. ภาษาที่เครื่องเข้าใจเป็นภาษาระดับต่ำ แต่ละคำสั่งทำงานง่ายๆ อย่างเดียว ถ้าจะใช้ภาษาระดับสูง จะต้องแปลเป็นภาษาระดับต่ำก่อน
          ๕. การควบคุมการประมวลผล เป็นแบบจุดรวมอยู่ที่จุดเดียวหมด  ทุกอย่างต้องกลับมาที่ส่วนควบคุมกลาง ไม่มีการกระจายอำนาจ ไม่มีการแบ่งงานไปทำพร้อมๆกัน
          ๖. ความสามารถในการรับส่งข้อมูลค่อนข้างจำกัด และไม่สมดุลกับความสามารถด้านอื่นๆ เช่น พิมพ์ได้เพียงนาทีละ  ๒,๐๐๐ บรรทัด ทั้งๆ ที่มีผลงานรอให้พิมพ์อยู่เป็นล้านบรรทัด

          ข้อคัดค้านคอมพิวเตอร์ที่ใช้หลักการ ๖ ประการนี้พอจะสรุปได้เป็นข้อใหญ่ได้ดังนี้
          ๑. คอมพิวเตอร์แบบ  "ฟอน นอยมันน์" ปัจจุบันไม่เหมาะสมที่จะทำงานที่ผู้ใช้อยากให้ทำ คือ เมื่อประมวลผลกับข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลข  เช่น ข้อมูลเป็นอักษร เป็นประโยค ข้อมูลเป็นเสียง เป็นคำพูด ข้อมูลเป็นรูปภาพ เป็นต้น แม้คอมพิวเตอร์ปัจจุบันจะทำได้ ก็ทำได้อย่างลำบาก
          ๒. คอมพิวเตอร์ "ฟอน นอยมันน์" ทำงานบางอย่างไม่ได้ดีเท่าที่ควร เช่น งานด้านความฉลาด มีไหวพริบ
          ๓. ความพยายามที่จะปรับปรุงคอมพิวเตอร์ปัจจุบันไม่ได้ผลเท่าที่ควร ตราบใดที่ยังยึดหลักโบราณ ๖ประการนี้อยู่จะปรับปรุงอย่างไรก็ไม่ได้ดี
          ๔. การกระจายกำลังความสามารถของคอมพิวเตอร์ปัจจุบันไปให้ผู้ใช้ตามที่ต่างๆ เสียค่าใช้จ่ายมากและยุ่งยาก เพราะโครงสร้างของคอมพิวเตอร์ปัจจุบันไม่ดีพอ
          ๕. คอมพิวเตอร์ปัจจุบันใช้หลักการวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่มากในด้านความจำเท่านั้น น่าจะนำหลักการนี้ไปใช้ในด้านอื่นๆ อีก เช่น ในการต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วเข้าด้วยกันหลายๆ เครื่อง

         คอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๕ นี้หวังกันว่าจะสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้คือ
          ๑. สามารถประมวลผลภาษาคน เช่น ภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษได้แบบเดียวกับคน  ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงอย่างโคบอล หรือฟอร์แทรนและไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาระดับต่ำ
          ๒. สามารถประมวลผลและรับส่งข้อมูลได้ทุกรูปแบบ ไม่จำเป็นว่าข้อมูลเข้าจะต้องเป็นจานแม่เหล็กหรือพิมพ์เข้าทางแป้นพิมพ์ กล่าวคือ ยอมให้ข้อมูลเป็นกระดาษแผ่นๆ ได้ เป็นหนังสือทั้งเล่มก็ได้ เป็นภาพวาดหรือภาพถ่ายก็ได้ เป็นเสียงก็ได้
          ๓. สามารถให้คำปรึกษาและหาประสบการณ์เองได้ ผู้ใช้สามารถจะขอให้คอมพิวเตอร์ให้คำปรึกษาด้านต่างๆ เช่น ด้านการลงทุน ด้านการก่อสร้าง  ด้านโภชนาการ  หรือแม้แต่ด้านชีวิตครอบครัว  และให้คอมพิวเตอร์  จดจำปัญหาและผลการให้คำปรึกษาว่าให้ผลดีไม่ดีเพียงใด จำประสบการณ์ไว้ใช้ในการให้คำปรึกษาต่อๆ ไปได้
          ๔. สามารถเก็บข้อมูลได้หลายประเภท  ไม่มีข้อจำกัดในด้านความจำ  จะถามประวัติศาสตร์ของทุกประเทศทั่วโลกก็บอกได้หมด จะถามข้อมูลด้านการเงินการธนาคารก็มีครบหมด  ข้อมูลด้านเกษตร  ด้านอุตสาหกรรม ด้านการสาธารณสุข ฯลฯ มีหมดทุกเรื่อง ครบถ้วนทุกประการ
          ความคาดหวังเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๕ ก็คือการที่จะทำคอมพิวเตอร์ให้มีความสามารถคล้ายคน ให้เข้าใจภาษาคน ให้รับส่งข้อมูลทุกอย่างที่คนรับส่งได้ ให้ศึกษาหาประสบการณ์เองได้ ให้รู้จักให้คำปรึกษา และให้เก็บข้อมูลไว้ให้พร้อมเสมอทุกด้าน


[กลับหัวข้อหลัก]
[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]

บรรณานุกรม
นายวิชัย ศังขจันทรานนท์


การลำดับรุ่นเครื่องคอมพิวเตอร์

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

พันธุ์หอมแดง

พันธุ์หอมแดง


เปิดอ่าน 5,600 ครั้ง
สูตร "วิธีทำข้าวซอย"

สูตร "วิธีทำข้าวซอย"


เปิดอ่าน 3,043 ครั้ง
วิธีเพาะทานตะวันงอก

วิธีเพาะทานตะวันงอก


เปิดอ่าน 30,714 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

รามี (ramie) สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17

รามี (ramie) สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17

เปิดอ่าน 28,467 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
กำยาน
กำยาน
เปิดอ่าน 10,088 ☕ คลิกอ่านเลย

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
เปิดอ่าน 28,749 ☕ คลิกอ่านเลย

ฝรั่งสายพันธุ์ใหม่ "พิจิตร3" ทรงผลยาวคล้ายลูกแพร์
ฝรั่งสายพันธุ์ใหม่ "พิจิตร3" ทรงผลยาวคล้ายลูกแพร์
เปิดอ่าน 21,064 ☕ คลิกอ่านเลย

ต้นสัตบรรณ - ต้นตีนเป็ด
ต้นสัตบรรณ - ต้นตีนเป็ด
เปิดอ่าน 36,896 ☕ คลิกอ่านเลย

ทำไมแป้นพิมพ์ ไม่เรียง A B C
ทำไมแป้นพิมพ์ ไม่เรียง A B C
เปิดอ่าน 33,131 ☕ คลิกอ่านเลย

“รังผึ้ง” นวัตกรรมใหม่…สามารถเก็บน้ำผึ้งโดยไม่ต้องกวนผึ้งเลย
“รังผึ้ง” นวัตกรรมใหม่…สามารถเก็บน้ำผึ้งโดยไม่ต้องกวนผึ้งเลย
เปิดอ่าน 25,827 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

20 เรื่องเหลือเชื่อทางวิทยาศาสตร์
20 เรื่องเหลือเชื่อทางวิทยาศาสตร์
เปิดอ่าน 21,115 ครั้ง

5 วิธีดื่มเบียร์ไม่ให้หนุ่ม ๆ อ้วนจนพุงปลิ้น
5 วิธีดื่มเบียร์ไม่ให้หนุ่ม ๆ อ้วนจนพุงปลิ้น
เปิดอ่าน 40,889 ครั้ง

เคาน์เตอร์ต้อนรับในโรงเรียน มีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด
เคาน์เตอร์ต้อนรับในโรงเรียน มีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด
เปิดอ่าน 18,239 ครั้ง

ตำนานกระต่ายในดวงจันทร์
ตำนานกระต่ายในดวงจันทร์
เปิดอ่าน 34,471 ครั้ง

การปลูก กระทกรกฝรั่ง
การปลูก กระทกรกฝรั่ง
เปิดอ่าน 5,675 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ