นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าวผลการประเมินโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ Programme for International Student Assessment : PISA ประจำปี 2012 โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กิตติ ลิ่มสุกล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหาร และสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 100 คน จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556 ที่ห้องบอลรูม 2 ชั้น 5
รมว.ศธ.กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศนโยบายให้ผลการจัดอันดับการศึกษาไทย ผลการประเมิน PISA ของไทยให้ดีขึ้น และให้เป็นส่วนหนึ่งของการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าการประเมินของ PISA ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ การรู้เรื่องการอ่าน และการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นการประเมินที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้
โดย ศธ.จะศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการประเมิน PISA ปี 2012 ทั้งภายในประเทศ เป็นรายกลุ่มโรงเรียนและรายวิชา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจผลการจัดการศึกษาของประเทศ รวมทั้งเปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วย ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเลื่อนอันดับ PISA จะได้มีการหารือและจัดทำกลไก กระบวนการ แผนปฏิบัติการขึ้นมารองรับการทำงานอย่างต่อเนื่องจริงจังทั้งระบบ เพื่อยกระดับผลการประเมินให้ดีขึ้น รวมทั้งกำหนดอันดับในการประเมิน PISA ครั้งต่อไป (ปี 2558) ว่าควรจะอยู่ในอันดับที่เท่าใด ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่กำหนดจากเจตนารมณ์ด้านนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่จะอาศัยพื้นฐานทางด้านวิชาการและข้อเท็จจริงมาประกอบ โดยคาดว่าจะจัดกลไกและกระบวนการขึ้นมารองรับได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ จากนั้นจะเผยแพร่และรณรงค์อย่างกว้างขวางต่อไป
ทั้งนี้ ผลการประเมิน PISA ในปี 2012 ซึ่งประกาศและเผยแพร่ผล เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ตามเวลาในประเทศไทย โดยประเมินจากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปี จำนวน 510,000 คน จาก 65 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มตัวอย่างของนักเรียนไทย 6,606 คน จาก 239 โรงเรียนทุกสังกัด สรุปดังนี้
ผลการประเมินภาพรวม
-
ประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชีย ได้แก่ เซี่ยงไฮ้-จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง-จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และมาเก๊า-จีน มีผลการประเมินทั้ง 3 วิชา อยู่ในกลุ่มบนสุด
-
ประเทศตะวันตก ที่มีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มบนสุดทุกวิชาหรือบางวิชา ได้แก่ ฟินแลนด์และโปแลนด์ มีคะแนนการอ่านและวิทยาศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุด, ลิกเตนสไตน์ สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ มีคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุด, รวมทั้งเอสโตเนีย เวียดนาม และแคนาดา มีคะแนนวิทยาศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุด
-
ใน 10 อันดับแรก เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชีย 7 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งเวียดนามที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการในปีนี้เป็นครั้งแรกด้วย
-
สำหรับประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ทั้ง 3 วิชา ซึ่งลำดับการประเมินของไทย ยังคงอยู่ในอันดับที่ 50
ผลการประเมินรายวิชา
1. การรู้เรื่องคณิตศาสตร์
-
ค่าเฉลี่ย OECD ของคณิตศาสตร์ ในปี 2012 ใช้คะแนนมาตรฐานที่ 494 คะแนน โดยมี 10 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ เซี่ยงไฮ้-จีน 613 คะแนน สิงคโปร์ 573 คะแนน ฮ่องกง-จีน 561 คะแนน จีนไทเป 560 คะแนน เกาหลี 554 คะแนน มาเก๊า-จีน 538 คะแนน ญี่ปุ่น 536 คะแนน ลิกเตนสไตน์ 535 คะแนน สวิตเซอร์แลนด์ 531 คะแนน และเนเธอร์แลนด์ 523 คะแนน
-
สำหรับประเทศไทย มีคะแนนเฉลี่ย 427 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD เกือบถึงหนึ่งระดับ และอยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาซัคสถาน ชิลี และมาเลเซีย ทั้งนี้มีประเทศในเอเชียที่มีคะแนนต่ำกว่าไทยเพียงประเทศเดียว คือ อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มคณิตศาสตร์นักเรียนไทย เมื่อเทียบกับการประเมินคณิตศาสตร์ที่เป็นวิชาหลักใน PISA 2003-2009 พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่มีแนวโน้มลดต่ำลงเมื่อเทียบกับ PISA 2000 ซึ่งเป็นการประเมินครั้งแรก
2. การรู้เรื่องการอ่าน
-
ค่าเฉลี่ย OECD ของการอ่าน ในปี 2012 โดยมี 10 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ เซี่ยงไฮ้-จีน 570 คะแนน ฮ่องกง-จีน 545 คะแนน สิงคโปร์ 542 คะแนน ญี่ปุ่น 538 คะแนน เกาหลี 536 คะแนน ฟินแลนด์ 524 คะแนน ไอร์แลนด์,จีนไทเป,แคนาดา 523 คะแนน และโปแลนด์ 518 คะแนน
-
สำหรับประเทศไทย มีคะแนนเฉลี่ยการอ่าน 441 คะแนน มีสัญญาณทางบวกที่ชี้ว่า การอ่านของนักเรียนไทยหยุดตกต่ำลง นับจาก PISA 2009 นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD เกือบหนึ่งระดับ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับเซอร์เบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชิลี คอสตาริกา โรมาเนีย และบัลแกเรีย ทั้งนี้ แนวโน้มการอ่านของนักเรียนไทยต่างกลุ่มโรงเรียน พบว่า นักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยและกลุ่มโรงเรียนสาธิต มีคะแนนการอ่านสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนโรงเรียนอื่นๆ มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งหมด
3. การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์
-
ค่าเฉลี่ย OECD ของวิทยาศาสตร์ในปี 2012 โดยมี 10 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ เซี่ยงไฮ้-จีน 580 คะแนน ฮ่องกง-จีน 555 คะแนน สิงคโปร์ 551 คะแนน ญี่ปุ่น 547 คะแนน ฟินแลนด์ 545 คะแนน เอสโตเนีย 541 คะแนน เกาหลี 538 คะแนน เวียดนาม 528 คะแนน โปแลนด์ 526 และแคนาดาและลิกเตนสไตน์ 525 คะแนน ทั้งนี้ใน 10 อันดับแรกเป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจจากเอเชีย 6 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ
-
สำหรับประเทศไทย มีคะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์ 444 คะแนน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ PISA 2009 (425 คะแนน) และPISA 2000 (436 คะแนน) แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD มากกว่าครึ่งระดับ
|
|
ข้อสรุปและนัยทางการศึกษาในระดับนานาชาติ ของ สสวท.
-
ผลการประเมิน PISA 2012 พบว่า คุณภาพการศึกษาไทยยังห่างไกลจากความเป็นเลิศ เมื่อเทียบกับประเทศเอเชียตะวันออก แต่ความตกต่ำได้หยุดลงและการยกระดับได้เริ่มปรากฏใน PISA 2009 และเพิ่มสูงขึ้นในวิชาการอ่านและวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนใน PISA 2012
-
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ทำให้เกิดแปรปรวนทั้งระบบและต้องใช้เวลานานในการปรับตัว ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบ ควรมีการพิจารณาทบทวนผลกระทบที่จะทำให้เกิดความตกต่ำดังเช่นรอบที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงนั้นควรอยู่บนฐานของข้อมูลมากกว่าความคิดเห็น
-
ระบบการศึกษาต้องสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ทั้งโอกาสการเข้าโรงเรียนและคุณภาพการเรียนรู้
-
ควรพัฒนาทักษะด้านการอ่านของนักเรียนทั้งกลุ่มสูงและกลุ่มต่ำ เพราะทักษะทางภาษามีค่าสหสัมพันธ์สูงมากกับวิชาคณิตศาสตร์และใกล้เคียงกับวิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อคุณภาพการอ่านต่ำ ทำให้วิชาอื่นมีคะแนนต่ำไปด้วย
-
ควรใช้ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนกลุ่มคะแนนสูงเป็นตัวแบบ และศึกษารายละเอียดกรณีนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาส (สพฐ.1) มีคะแนนการประเมิน PISA 2012 สูงขึ้นมาก เพื่อใช้เป็นตัวแบบในการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วย
-
ระบบการศึกษาไทยดีอยู่แล้ว แต่กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะพื้นที่เท่านั้น หากระดับนโยบายสามารถขยายระบบการศึกษาที่ดีไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนในชนบท ไปสู่นักเรียนและโรงเรียนที่มีสถานะเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมต่ำ ก็จะทำให้ประเทศไทยมีผลการประเมินเทียมบ่าเทียมไหล่กับนานาชาติ
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ