การประชุม คกก.กำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงแรมสุโกศล - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องกมลมาศ ชั้น 6
รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ "การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ" โดยกำหนดให้ปี 2556 เป็นปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งหมายความว่า จะทำตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยพลังของสังคมทั้งสังคมมาช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล และสานต่องานที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน 6 ด้าน ทั้งการปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูปการเรียนการสอน การทดสอบ/วัดและประเมินผลผู้เรียน การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย การประเมินวิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู และการประเมินสถานศึกษา โดยมีความคืบหน้าไปมากพอสมควร เช่น
1- การปฏิรูปหลักสูตร รมว.ศธ.ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สร 862/2556 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2556 โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการย่อยรวม 3 ชุด คือ 1) คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน 2) คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี ศ.พิเศษภาวิช ทองโรจน์ เป็นประธาน และ 3) คณะทำงานจัดทำรายละเอียดหลักสูตร โดยมี ผศ.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ เป็นประธานคณะทำงาน
ในส่วนของคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพื่อสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดที่ 2 รวมทั้งรับทราบสรุปการจัดทำร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับ (ป.1-ป.3 พ.ศ.2557) รวมทั้งพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินงานการจัดทำหลักสูตรสำหรับระดับมัธยมปลายทั้ง 6 กลุ่มความรู้
2 - การปฏิรูปการเรียนการสอน ศธ.ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็น Best Practices ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ มีการนำมาจัดทำเป็นนิทรรศการเผยแพร่ รวมทั้งมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
3 - การทดสอบ/วัดและประเมินผลผู้เรียน ได้มีการหารือกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจะเชื่อมโยงการทดสอบ/วัดประเมินผล กับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องกัน และให้มีแบบทดสอบที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น โดยต้องการให้นำระบบการทดสอบกลางเข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อให้ทราบว่าระบบการศึกษาของประเทศมีความเป้นอย่างอย่างไรในปัจจุบัน
4 - การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการวัดและประเมินผลผู้เรียน มีความก้าวหน้า คือ ในปีนี้ได้ขอความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยที่กำลังวางแผนการสอบคัดเลือกหรือยังไม่ได้วางแผนลงตัว โดยขอให้เลื่อนไปจัดสอบหลังจากที่เด็กจบการศึกษาในปีการศึกษานี้ไปแล้ว ส่วนปีการศึกษาถัดไปก็จะพยายามให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งไปจัดสอบหลังปิดเทอมปลาย และถัดจากนโยบายดังกล่าว ก็ได้คิดระบบการทดสอบกลางร่วมกัน เพื่อลดการจัดสอบเองของแต่ละมหาวิทยาลัยที่มักจะจัดสอบนอกหลักสูตร ทำให้เด็กไม่สนใจการเรียนในระบบหรือในห้องเรียน และต้องออกไปติว เพื่อให้สามารถทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทำให้ขาดการเรียนแบบคิดวิเคราะห์ไปด้วย
5 - การประเมินวิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู ก็ควรจะต้องเชื่อมโยงกับหลักสูตรการเรียนการสอน
6 - การประเมินสถานศึกษา มีผู้กล่าวว่าควรให้เด็กคิดเป็นวิเคราะห์เป็น แต่ในบางครั้งก็ยังไม่ได้หารือร่วมกันว่าการเรียนการสอนและหลักสูตรเป็นอย่างไร จึงต้องใช้หลักสูตรเป็นแกนหลักเพื่อมุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และมีผลต่อการพัฒนาครู ประเมินวิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพครูด้วย
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้ขอให้ที่ประชุมช่วยพิจารณาวิธีและกระบวนการที่เหมาะสมในการออกแบบ จัดทำ ปรับปรุงหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินผล ดังนี้
- ขอให้มีกระบวนการส่งต่อ (Transition Process) หลักสูตร ก่อนนำไปใช้ ตามปกติสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องเป็นผู้รับรองหลักสูตร และต้องเสนอให้ รมว.ศธ.ลงนามก่อนประกาศใช้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงฝากว่าเมื่อจัดทำหลักสูตรเสร็จแล้วจะมีการส่งต่อ (Transition Process) ให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ สพฐ. สสวท.ฯลฯ ได้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่เพียงให้ สพฐ. มาเซ็นรับ แต่เมื่อนำไปแล้ว สพฐ.ก็ไม่รู้จะไปชี้แจงต่อผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไร
- ควรให้หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ฯลฯ เพราะเท่าที่ตนรับฟังมา แม้จะมีการประชุมรับฟังที่เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) มาแล้วหลายจุด พบว่ายังมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องหลักสูตร บางรายเห็นว่าหลักสูตรในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร บางรายอาจจะเห็นว่าต้องปรับปรุงเป็นบางส่วน ฯลฯ ดังนั้นหากจัดให้มีการประชุมแสดงความคิดเห็น (Forum) ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องมากๆ ได้มาพูดคุยหารือร่วมกันในประเด็นตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 จนถึงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างไรบ้าง
- ให้คนทั้งสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะหลักสูตรเกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครองทุกคน หากประชาชนในวงกว้างได้รับความรู้ความเข้าใจในความจำเป็น เนื้อหา รายละเอียดของการปรับปรุงหลักสูตร ก็จะสร้างความเข้าใจ เห็นดีเห็นงามตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้การปฏิรูปหลักสูตรประสบผลสำเร็จ ไม่เป็นอุปสรรค และที่สำคัญคือเป็นไปตามนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการให้กระบวนการต่างๆ ในการปฏิรูปการศึกษา ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของ ศธ. และคนทั้งสังคม เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ