การปฏิรูประบบพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายเรื่อง "ปฏิรูประบบพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา" ในการประชุมเชิงปฏิบัติการปฏิรูประบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องแมจิก 3 ชั้น 2 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายชาญยุทธ เฮงตระกูล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมกว่า 50 คน
นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัด ศธ. ได้นำเสนอประเด็นการปฏิรูประบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสรุปสาระสำคัญการพัฒนาครูของประเทศต่างๆ เช่น
• รับสมัครผู้มีคุณภาพสูง โดยจะต้องมีหลักประกันเงินเดือนสูง มีเงินอุดหนุนสำหรับฝึกอบรม รวมทั้งมีการออกแบบหลักสูตรและเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาคุณภาพครูสามัญในรูปแบบเดียวกัน : ประเทศฟินแลนด์ สิงคโปร์
• ผสานภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ โดยการกำหนดงานประจำหลักสูตรและบูรณาการแบบคลินิก คือ วินิจฉัยและแก้ไขข้อผิดพลาด รวมทั้งมีการสร้างแบบจำลองใหม่ๆ : ประเทศฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ บางแห่งในสหรัฐอเมริกา
• ใช้มาตรฐานวิชาชีพครูที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ มีการประเมินความรู้และทักษะที่สำคัญ รวมทั้งการควบคุมอารมณ์ : สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์
• สร้างแบบประเมินการปฏิบัติงานของครูตามมาตรฐานวิชาชีพ เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของนักเรียนและการสอนในห้องเรียน ส่งผลต่อการพัฒนาด้านสมรรถนะของตัวบุคคลและพัฒนาหลักสูตร : สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย
• สร้างแบบจำลองจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ส่งเสริมและให้คำปรึกษาด้านทักษะแก่ครูที่เพิ่งสอน มีการวางแผนร่วมกัน รวมทั้งลดภาระด้านการสอนด้วยการจัดสัมมนาครูประจำการ และมีการจัดทำรายการข้อปฏิบัติ : สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และบางแห่งในสหรัฐอเมริกา
• สนับสนุนข้อคิดการพัฒนาวิชาชีพครู ที่จะช่วยส่งเสริมให้ครูเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งภายในและระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย : สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และแคนาดา
• ส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ที่จะช่วยให้ครูได้รับการพัฒนา แบ่งปันความชำนาญการในการสอน ให้คำปรึกษา หลักสูตร การพัฒนาและภาวะผู้นำร่วมกัน : สิงคโปร์ อังกฤษ
• การสร้างศักยภาพรอบด้าน โดยสร้างยุทธศาสตร์เพื่อแบ่งปันผลวิจัยและข้อปฏิบัติที่ดี ข้อปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในห้องเรียนและโรงเรียน รวมทั้งการให้ครูชำนาญการและผู้อำนวยการโรงเรียนได้เสนอภาวะผู้นำไว้ในระบบ : รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา
รมว.ศธ. กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ ยังไม่ต้องการคำตอบหรือข้อสรุปภายในวันนี้ เพราะเรื่องของการพัฒนาครูมีความซับซ้อน มีปัญหาสะสมมานาน แต่ได้ขอให้มีการตั้งหัวข้อสำคัญและโจทย์ของการพัฒนาครู แสดงถึงความเชื่อมโยงในแต่ละระบบ กระบวนการพัฒนารูปแบบ (Model) ตัวอย่างที่จะนำมาปรับใช้ ทรัพยากรที่จะใช้ จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงยกระดับคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จากนั้นจึงจะมาหาคำตอบกันต่อไป โดยขอให้ช่วยกันเสนอความคิดเห็น ตั้งโจทย์ ข้อเสนอต่างๆ อาจจะตรงกันหรือไม่ตรงกัน อาจมองจากคนละมุม มีแนวคิดคนละระบบ ซึ่งก็จะมีหลายประเด็นที่เป็นข้อดีแต่มาจากแนวคิดต่าง Model ซึ่งจะมีการรวบรวมไว้ เข้าสู่การสังเคราะห์ความคิด แนวทาง วิธีการ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้เสนอความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
• บทบาทการสอนของครูจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันเป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้ได้ผู้เรียนที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเองในโลกยุคข้อมูลข่าวสารที่ไร้ขีดจำกัด บทบาทของครูจะต้องเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความรู้จากภาคสนาม สภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปทั้งหลักสูตร การเรียนการสอน โลกต้องการเด็กที่มีทักษะด้านต่างๆ อีกแบบหนึ่งแล้ว เราจะพัฒนาด้วยวิธีการระบบอย่างไร ทั้งผู้บริหาร ครูอาจารย์ โรงเรียน ต้องช่วยคิดว่าครูที่เหมาะสม ขีดความสามารถ สมรรถนะของครูที่จำเป็นควรเป็นอย่างไร
• แนวโน้มการผลิตครูทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ระบบการผลิตครู จะต้องผลิตโดยคำถึงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ต้องกับความต้องการ ซึ่งต้องมีการสำรวจสภาพปัญหาจริงในปัจจุบัน และแนวโน้มความต้องการในอนาคต ซึ่งขณะนี้พบปัญหาที่ชัดเจนว่า ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนครูเกษียณอายุราชการเฉลี่ยปีละ 20,000 คน แต่เราผลิตครูปีละ 50,000 คน ซึ่งเป็นการผลิตเกินกว่าการทดแทนการเกษียณอายุราชการถึงปีละ 30,000 คน เท่ากับว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จะผลิตครูเกิน 300,000 คน ดังนั้นจึงต้องมาช่วยกันคิดวางระบบการผลิตเพื่อกำหนดจำนวนครูทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร
นอกจากนี้ จะต้องหารือกับผู้ผลิตครู คือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั้งระบบ ว่าจะมีระบบและกระบวนการผลิตอย่างไร จะใช้ Model ของประเทศใดมาประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องกับบริบทของความเป็นไทย โดยจะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการควบคุมการผลิต จะต้องหารือร่วมกันเกี่ยวกับระบบงบประมาณ แรงจูงใจ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการผลิต การปล่อยให้ดำเนินการแบบเดิม เท่ากับส่งเสริมให้มีการผลิตบุคลากรที่จะไปเป็นครูแต่ไม่ได้เป็นครูตกงานจำนวนมาก รวมทั้งการใช้ทรัพยากรครูของครูอย่างไม่มีคุณภาพ เพราะต้องใช้กำลังที่มีอยู่สอนคนจำนวนมากเกินความจำเป็น ไม่สามารถสอนนักศึกษาอย่างเข้มข้นได้ เพราะเน้นปริมาณจำนวนมาก แต่จะดำเนินการวางระบบการผลิตได้อย่างไรต้องอาศัยข้อสรุปความคิดเห็นจากที่ประชุม
• การกำหนดหลักเกณฑ์ให้โยงกับการพัฒนาครูทั้งระบบ ทั้งหน่วยงานใน ศธ. ได้แก่ คุรุสภา ก.ค.ศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนาครู เช่น การกำหนดคุณลักษณะครูที่จะได้ใบประกอบวิชาชีพ การต่ออายุ การประเมินวิทยฐานะจะโยงกับผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนของผู้เรียน โยงกับการพัฒนาสมรรถนะของครูได้อย่างไร ไม่ควรดำเนินการเพียงเพื่อรักษาสิ่งที่เป็นอยู่ โดยไม่เน้นการพัฒนา เราจะไม่สามารถพัฒนาได้ จึงต้องมาคิดถึงบทบาทองค์กรที่เกี่ยวข้อง กติกา หลักเกณฑ์ที่ใช้ มีการปรับอย่างไร เพื่อให้ได้ครูดีเข้ามาในระบบ มีการพัฒนาต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนครู ทั้งการเกลี่ยครู นำบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ แต่ไม่ได้เรียนด้านการสอน เข้ามาเป็นครูมาขึ้นได้อย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาและทดแทนครูที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
• การต่อใบประกอบวิชาชีพครู ควรส่งผลและส่งเสริมต่อการให้ได้คนเก่งในหลากหลายสาขาเข้ามาเป็นครูมากขึ้น ในการต่อใบประกอบวิชาชีพครู จะต้องมีวัตถุประสงค์ในการต่อใบประกอบวิชาชีพ ไม่ควรต่อโดยเสียค่าธรรมเนียมเท่านั้น แต่ควรเป็นการต่อใบประกอบวิชาชีพที่ส่งผลและส่งเสริมการพัฒนาครู รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการนำผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เช่น อักษรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ให้เข้ามาช่วยสอนในสถานศึกษามากขึ้น เพราะการผลิตครูในระบบไม่มีผู้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ มาสอนนักเรียนนักศึกษาอาชีวะ ไม่มีผู้สอนภาษาต่างประเทศในโรงเรียน เป็นต้น
จึงฝากให้ที่ประชุมพิจารณาการปรับระบบใบประกอบวิชาชีพ ที่จะทำให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาสอนมากขึ้น เป็นโจทย์ของประเทศ โจทย์สำหรับ ก.ค.ศ. และคุรุสภา ไม่ใช่ความมั่นคงวิชาชีพของครูและบุคลากรทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ความมั่นคงวิชาชีพของครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องขึ้นกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้วย
ทั้งนี้จะมีการรวบรวมโจทย์ ประเด็นปัญหาจากการประชุมครั้งนี้ ในรูปขององค์ความรู้ทางวิชาการและเทคนิคต่างๆ ประกอบกับการรวบรวมองค์ความรู้และการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ แต่ที่สำคัญคือ การตั้งหัวข้อและประเด็นที่ดีนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นระบบ และจะต้องมีการตัดสินใจเชิงนโยบายให้เกิดการผลิตพัฒนาครูอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ให้การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคน เพื่อไปพัฒนาประเทศต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ