สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ” โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารของ ศธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 60 คน เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5
รมว.ศธ.กล่าวว่า เรื่องการผลิตและพัฒนาครูเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลและของ ศธ.ในขณะนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมหารือและจัดเสวนาในเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน มีการจัดนิทรรศการที่นำเอารูปแบบ วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ดีและประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศมาเสนอ เชิญผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเรียนการสอน การคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน และการทดสอบวัดผล ที่มีความต้องการให้นำการทดสอบกลางมาใช้ ทำให้เป็นมาตรฐานและสอดคล้องกับหลักสูตรมากขึ้น ระบบการรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยก็มีข้อสรุปที่คืบหน้าไปมาก แต่จะต้องมีการวางระบบร่วมกันในการงดหรือลดการสอบตรงของมหาวิทยาลัย และใช้การทดสอบกลางแทน
การที่ ศธ.ได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ก่อน โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอน ก็เพื่อทำให้เห็นว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนมาก และต้องคิดต่อว่าจะทำให้มีกระบวนการต่อเนื่องได้อย่างไร กระบวนการดังกล่าวจะมาเกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนาครู เพราะการพัฒนาครูเป็นจุดสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปและการจัดการศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของครู แต่ละประเทศจะมีกระบวนการ วิธีการ และการให้ความสำคัญต่างกันไป เราสามารถศึกษาจากประเทศต่างเหล่านี้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูจากสภาพความเป็นจริงของประเทศเราด้วยทั้ง 2 ส่วนที่ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน ทั้งการผลิตครูและพัฒนาครู
แนวทางที่สำคัญ คือ อาจจะเริ่มจากการสำรวจ การทำความเข้าใจกับสภาพที่เป็นอยู่ว่าครูของเราเป็นอย่างไร สามารถทำอะไรได้แค่ไหน ขาดแคลนหรือไม่ หรือมีปัญหาอย่างไรบ้างที่เกี่ยวกับเรื่องครูที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และในอนาคต ประเทศไทยจะต้องการอะไร ประสบกับปัญหาอะไร เช่น ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จะมีครูเกษียณประมาณ 2-2.8 แสนคน เฉลี่ยแล้วประมาณปีละ 2 หมื่นคน แต่ในขณะนี้มีการผลิตครูอยู่ปีละประมาณ 5 หมื่นคน หากยังมีการผลิตครูอยู่ในอัตราดังกล่าวหรือมากกว่า ใน 10 ปีข้างหน้าจะมีการผลิตครูเกินอยู่ประมาณ 3 แสนคน และในอีก 15 ปี ก็จะเกินอยู่ประมาณ 4.5 แสนคน หรือจะมีการผลิตครูมากถึง 2.5 เท่าของอัตราครูที่จะเกษียณ
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตครูมาทดแทนในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งเป็นทั้งปัญหาและโอกาสที่จะทำให้เราสามารถผลิตครูที่มีคุณลักษณะตามที่ต้องการเข้ามาทดแทนได้ โดยมีโจทย์ว่าเราจะพัฒนาหรือสร้างครูให้มีความสามารถในเรื่องต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง เช่น การสอนอย่างมีประสิทธิภาพ การสอนให้คิดวิเคราะห์เป็น และรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาได้
เมื่อวิเคราะห์ถึงระบบการทดสอบและประเมินผล ก็ทำให้เห็นปัญหาและพบว่า ครูเรียนเรื่องการทดสอบวัดผลน้อยมาก ในขณะที่เราปล่อยให้การศึกษาพึ่งการทดสอบวัดผลโดยครูเป็นหลักมา 30 กว่าปี หากจะผลิตหรือพัฒนาครูต่อไป จะต้องมีการดำเนินการเรื่องการทดสอบวัดผลอย่างไร หลักสูตรในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนมากว่า ให้ครูทำหลักสูตรเองโดยที่ครูไม่ต้องเรียนหรือเชี่ยวชาญเรื่องหลักสูตร แต่ครูทุกคนต้องทำเป็น จึงต้องมาช่วยกันคิด เริ่มต้นจากตั้งโจทย์แบบวิเคราะห์สภาพปัญหาของระบบการศึกษาของไทยในเรื่องครู แล้วจึงมาคิดวิธีการดูแลหัวข้อต่างๆ เพื่อนำไปสู่การวางระบบในการผลิตครู
ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดระบบ หรือวางหลักเกณฑ์มาตรฐานอะไรต่างๆ เพื่อให้ก้าวไปสู่การแก้ปัญหาในภาพรวม และจัดการกับปัญหาด้านต่างๆ ให้แต่ละเรื่องสัมพันธ์กัน ออกมาเป็นโมเดลหรือระบบสำหรับภาพรวมให้ได้ เพราะที่เราเผชิญอยู่ เป็นปัญหาที่เกิดจากการสะสมจากการไม่มีระบบ ดังนั้น โจทย์ของเราคือ จะผลิตครูให้ตรงกับความต้องการของการจัดการศึกษาได้อย่างไร
จากการประชุมในครั้งนี้ จะทำให้ได้ข้อสรุปที่ตั้งเป็นหัวข้อ ได้แก่
1) โรงเรียนต้องการครูที่มีคุณลักษณะ ความสามารถอย่างไร โดยคำนึงถึงหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะใช้ในอนาคตด้วย
2) ระบบหรือกลไกที่จะดูแล วางแผนการผลิตครูให้ได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วน คือการควบคุมจำนวนหรือปริมาณที่จะผลิตครูไม่ให้ล้นเกินตามที่คาดการณ์ไว้ ที่สำคัญคือการผลิตครูจะมีหลักสูตร การอบรม การฝึกเพื่อหาประสบการณ์ในโรงเรียนอย่างไร รวมถึงการกำหนดมาตรฐาน และระบบในการคัดเลือกสถาบันที่จะผลิตครู นอกจากนั้นมีปัญหาที่จะต้องดูแลก็คือ จะทำอย่างไรกับผู้ที่จบการศึกษาสายครูที่ล้นเกินอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งการดูแลครูอัตราจ้างที่มีอยู่ประมาณ 6 หมื่นคน
เมื่อรวบรวมหัวข้อได้แล้ว จะมีการจัดเสวนา ระดมความคิดจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันคิดและหาระบบ กลไกเพื่อดูแลการผลิตครูอย่างเร่งด่วนให้ทันปีการศึกษา 2557
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ