คำว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ และความ เฉลียวฉลาดของชาวบ้าน รวมทั้งความรู้ที่สั่งสม มาแต่บรรพบุรุษ สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คน อีกรุ่นหนึ่ง ระหว่างการสืบทอดมีการปรับ ประยุกต์ และเปลี่ยนแปลง จนอาจเกิดเป็นความรู้ใหม่ตาม สภาพการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
ภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่ประกอบไปด้วยคุณ ธรรม ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน ในวิถีดั้งเดิมนั้น ชีวิตของชาวบ้านไม่ได้แบ่งแยกเป็นส่วน ๆ หากแต่ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน การทำมาหากิน การอยู่ร่วมกันในชุมชน การ ปฏิบัติศาสนา พิธีกรรมและประเพณี
ความรู้เป็นคุณธรรม เมื่อผู้คนใช้ความรู้นั้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง คนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นความสัมพันธ์ที่มีความ สมดุล ที่เคารพกันและกัน ไม่ทำร้ายทำลายกัน ทำให้ทุกฝ่ายทุกส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ชุมชนดั้งเดิมจึงมีกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน มีคน เฒ่าคนแก่ เป็นผู้นำ คอยให้คำแนะนำตักเตือน แก่
ตัดสิน และลงโทษหากมีการละเมิด ชาวบ้าน เคารพธรรมชาติรอบตัว ดิน น้ำ ป่า เขา ข้าวแดด ลม ฝน โลก และจักรวาล ชาวบ้านเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว
ภูมิปัญญาจึงเป็นความรู้ที่มีคุณธรรม เป็นความรู้ที่มีเอกภาพของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างมีความสมดุลเราจึงยกย่องความรู้ขั้นสูงส่งอันเป็นความรู้แจ้งในความจริงแห่งชีวิตนี้ว่า "ภูมิปัญญา"
ฮีตสิบสอง
ชีวิตของชาวบ้านในรอบหนึ่งปีจึงมีพิธีกรรมทุกเดือน เพื่อแสดงออกถึงความเชื่อและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ระหว่างคนกับ ธรรมชาติ และระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆดังกรณีงานบุญประเพณีของชาวอีสานที่เรียกว่าฮีตสิบสอง คือ
เดือนอ้าย (เดือนที่หนึ่ง) บุญเข้ากรรม ให้ พระภิกษุเข้าปริวาสกรรม
เดือนยี่ (เดือนที่สอง) บุญคูณลาน ให้นำ ข้าวมากองกันที่ลาน ทำพิธีก่อนนวด
เดือนสาม บุญข้าวจี่ ให้ถวายข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นชุบไข่ทาเกลือนำไปย่างไฟ)
เดือนสี่ บุญพระเวส ให้ฟังเทศน์มหาชาติ คือ เทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก
เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือบุญสงกรานต์ให้สรงน้ำพระ ผู้เฒ่าผู้แก่
เดือนหก บุญบั้งไฟ บูชาพญาแถน ตามความเชื่อเดิม และบุญวิสาขบูชา ตามความเชื่อ ของชาวพุทธ
เดือนเจ็ด บุญซำฮะ (บุญชำระ) ให้บน บานพระภูมิเจ้าที่ เลี้ยงผีปู่ตา
เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน ทำบุญอุทิศ ส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
เดือนสิบ บุญข้าวสาก ทำบุญเช่นเดือนเก้า รวมให้ผีไม่มีญาติ (ภาคใต้มีพิธีคล้ายกัน คืองานพิธีเดือนสิบ ทำบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วง ลับไปแล้ว แบ่งข้าวปลาอาหารส่วนหนึ่งให้แก่ผีไม่มีญาติ พวกเด็ก ๆ ชอบแย่งกันเอาของที่แบ่งให้ผีไม่มีญาติหรือเปรต เรียกว่า "การชิงเปรต") เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
เดือนสิบสอง บุญกฐิน จัดงานกฐินและ ลอยกระทง
ภูมิปัญญาชาวบ้านในสังคมปัจจุบัน
ภูมิปัญญาชาวบ้านได้ก่อเกิดและสืบทอด กันมาในชุมชนหมู่บ้าน เมื่อหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสังคมสมัยใหม่ ภูมิปัญญาชาวบ้านก็มีการปรับตัวเช่นเดียวกัน
ความรู้จำนวนมากได้สูญหายไปเพราะไม่มีการปฏิบัติสืบทอด เช่น การรักษาพื้นบ้านบาง อย่าง การใช้ยาสมุนไพรบางชนิด เพราะ หมอยาที่เก่ง ๆ ได้เสียชีวิตโดยไม่ได้ถ่ายทอดให้ กับคนอื่น หรือถ่ายทอดแต่คนต่อมาไม่ได้ปฏิบัติ เพราะชาวบ้านไม่นิยมเหมือนเมื่อก่อน ใช้ยา สมัยใหม่และไปหาหมอที่โรงพยาบาลหรือคลินิก ง่ายกว่า งานหัตถกรรมทอผ้าหรือเครื่องเงินเครื่องเขิน แม้จะยังเหลืออยู่ไม่น้อย แต่ก็ได้ถูก พัฒนาไปเป็นการค้า ไม่สามารถรักษาคุณภาพ และฝีมือแบบดั้งเดิมไว้ได้ ในการทำมาหากิน มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ใช้รถไถแทนควาย รถอีแต๋นแทนเกวียน
การลงแขกทำนาและปลูกสร้างบ้านเรือนก็ เกือบจะหมดไป มีการจ้างงานกันมากขึ้น แรงงานก็หายากกว่าแต่ก่อน ผู้คนอพยพย้ายถิ่น บ้างก็ เข้าเมือง บ้างก็ไปทำงานที่อื่น ประเพณีงานบุญ ก็เหลือไม่มาก ทำได้ก็ต่อเมื่อลูกหลานที่จากบ้านไปทำงานกลับมาเยี่ยมบ้านในเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา เป็นต้น
สังคมสมัยใหม่มีระบบการศึกษาในโรงเรียน มีอนามัยและโรงพยาบาล มีโรงหนัง วิทยุโทรทัศน์ และเครื่องบันเทิงต่าง ๆ ทำให้ชีวิต ทางสังคมของชุมชนหมู่บ้านเปลี่ยนไป มีตำรวจ มีโรงมีศาล มีเจ้าหน้าที่ราชการฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนา และอื่น ๆ เข้าไปในหมู่บ้าน บทบาทของวัด พระสงฆ์ และคนเฒ่าคนแก่เริ่มลดน้อย ลงไป
การทำมาหากินก็เปลี่ยนจากการทำเพื่อ ยังชีพไปเป็นการผลิตเพื่อการขาย ผู้คนต้องการเงินเพื่อซื้อเครื่องบริโภคต่าง ๆ ทำให้สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนไป ผลิตผลจากป่าก็หมด สถานการณ์ เช่นนี้ทำให้ผู้นำการพัฒนาชุมชนหลายคนที่มี
บทบาทสำคัญในระดับจังหวัด ระดับภาค และ ระดับประเทศ เริ่มเห็นความสำคัญของภูมิปัญญา ชาวบ้าน หน่วยงานทางภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ประยุกต์ และค้นคิดสิ่งใหม่ ความรู้
ใหม่เพื่อประโยชน์สุขของสังคม