นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายเสริมศักดิ์ พงษ์ พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายมานะ คงวุฒิปัญญา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 10/2556 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องประชุมอาคารราชวัลลภ
• ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2556-2558
รมว.ศธ.ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง ศธ.ได้จัดทำ Roadmap (หรืออาจเป็น Policy Review) การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2556-2558) ภายใต้ 8 นโยบายการศึกษา เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป ซึ่งหลายส่วนได้มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องในวงกว้างมากขึ้นแล้ว จึงจะนำข้อคิดเห็นต่างๆ จากการรับฟังไปสู่ข้อสรุปตามยุทธศาสตร์/แผนงานต่อไป เช่น เรื่อง PISA ที่มีการประชุมรับฟังไปแล้ว 2 ครั้ง เกือบสมบูรณ์แล้ว หรือเรื่องการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งต้องให้ สกอ./สพฐ./สป.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อตั้งคณะกรรมการคณะอนุกรรมการ เพื่อประชุมและวางระบบการผลิตและพัฒนาครูต่อไป และโครงการแผนงานต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์จะนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานโครงการปี 2557 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
คาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2556 น่าจะลงตัวหมดทุกเรื่องว่าเรื่องใดควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กลไกขับเคลื่อนการทำงาน เป็นไปตาม 52 มาตรการย่อย ใน 8 นโยบายการศึกษา
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญ รมว.ศธ./รมช.ศธ./ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการศึกษา ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ในประเด็นความก้าวหน้าแผนการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง) และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2556-2558 รวมทั้งแผนการศึกษาเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ที่จะดำเนินการในแต่ละช่วงอายุด้วย
• ความคืบหน้าการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
รมว.ศธ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ได้มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งการหารือในครั้งนี้ได้มีความคืบหน้าไปมาก เพราะประธาน กกอ. และ ทปอ.ซึ่งเป็นคณะกรรมการได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยข้อสรุปที่เห็นพ้องกันคือ ควรจะต้องมีการปรับปรุงระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอาจใช้ระบบแอดมิชชั่น หรือระบบรับตรง หรือระบบโควตาเหมือนเดิมก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ควรใช้ข้อสอบกลาง เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำไปใช้สอบได้ ไม่ควรสอบกันเอง โดยระยะเวลาที่สอบเข้า ก็ไม่ควรจัดสอบก่อนปิดเทอม เพื่อให้เด็กได้เรียนครบตามหลักสูตร ไม่ทิ้งห้องเรียน
นอกจากนี้ ได้เห็นพ้องให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเข้าระบบ Clearing House เพื่อต้องการให้เด็กสมัครที่เดียว เป็นการแก้ไขปัญหาเด็กวิ่งรอกไปสอบหลายแห่ง ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการ กกอ. เป็นประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการคัดเลือกฯ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบคัดเลือกฯ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปด้วย
• ความคืบหน้าการปฏิรูปหลักสูตร การเรียนการสอนภาษา และการคิดวิเคราะห์
ดร.กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการ กพฐ. ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าเกี่ยวกับการยกร่างหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากพอสมควร ที่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากสังคม ชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อนประกาศใช้ต่อไป หลังจากนั้น สพฐ.จะต้องวางแผนจัดการอบรมครูครั้งใหญ่เพื่อให้ครูสามารถสอนตามหลักสูตรใหม่ได้
รมว.ศธ.กล่าวว่า ทราบว่าจะมีการประชุมหารือการตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ จึงขอให้พิจารณาว่าคณะกรรมการจะมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง มีผู้รู้ หรือผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ที่สำคัญๆ เข้ามาร่วมดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรให้มากขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งกระบวนการใดที่ต้องเร่งดำเนินการตามลำดับ ให้มีการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปหลักสูตร กระบวนการ Transition ที่จะนำไปสู่การเห็นชอบและการนำหลักสูตรไปใช้ ที่จะต้องสอดคล้องกับระเบียบกฎหมายต่างๆ ด้วย ซึ่ง สพฐ.ในฐานะเจ้าภาพหลัก ต้องทำงานประสานร่วมมือกับหลายหน่วยงานให้กลมกลืนกันให้ได้ โดยกระบวนการในส่วนนี้อาจต้องใช้เวลาดำเนินการต่อเนื่องพอสมควร เพื่อไม่ให้สะดุด
ในส่วนของการเรียนการสอนภาษานั้น หากจะให้ได้ผล ต้องเรียนแบบเข้มข้น และการเรียนการสอนภาษาในโรงเรียน ไม่ควรเป็นการเรียนกึ่งบังคับ แต่ควรให้เป็นวิชาเลือก เพื่อให้เด็กเลือกเรียนตามความสนใจ ไม่ใช่บังคับเรียนทุกคน ซึ่งเด็กที่ไม่สนใจเรียนภาษาต่างประเทศ อาจเลือกเรียนวิชาอื่นๆ เช่น พลศึกษา ดนตรี ฯลฯ แทนก็ได้ รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนเทคนิคและวิธีการสอนของครู รวมทั้งจัดห้องเรียนให้มีความเหมาะสมมากขึ้นด้วย
• Workshop การปฏิรูประบบพัฒนาครู
ศธ.จะจัดการประชุมปฏิบัติการ เรื่อง การปฏิรูประบบการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา ในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันให้ได้แนวทางการปฏิรูประบบการพัฒนาครูในด้านต่างๆ เช่น การรับรองมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งเสนอโดยคุรุสภา, การประเมินวิทยฐานะครูและผู้บริหาร โดยสำนักงาน ก.ค.ศ., ระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เสนอโดย สคบศ. และการพัฒนาระบบสวัสดิการ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เสนอโดย สกสค. เป็นต้น
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ