เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เราให้ชื่อเรื่องนี้ว่า"บะหมี่น้ำหนึ่งชาม"
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว วันที่ 31 ธันวาคม 2528 ซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ร้านบะหมี่ " ฮอกไก " บนถนนซัปโปโร
การกินบะหมี่โซบะในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้นเป็นประเพณีของชาวญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ร้านบะหมี่ขายดีในวันสิ้นปี "ร้านฮอกไก" นี้ก็เช่นกัน
ในวันนี้คนแน่นร้านแทบทั้งวัน จนกระทั่งถึงเวลา 22.00 น. คนก็เริ่มน้อยลง โดยปกติแล้วบน ถนนสายนี้คนจะแน่นขนัดไปจนถึงเช้าตรู่ แต่วันนี้ทุกคนจะต้องรีบกลับบ้านเพื่อไปต้อนรับปีใหม่กัน ดังนั้นถนนสายนี้จึงปิดร้าน เร็วกว่าปกติ เถ้าแก่ของร้าน "ฮอกไก" เป็นคนซื่อ และเถ้าแก่เนี้ยก็เป็นคนอัธยาศัยใจคอดี
ในคืนวันส่งท้ายปีเก่า พอลูกค้าคนสุดท้ายกลับไปในขณะเถ้าแก่เนี้ยก็จะปิดร้าน ประตูร้านก็ถูกเปิดออกอย่างเบาๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งพาเด็กชายสองคน คนหนึ่งประมาณ 6 ขวบกับอีกคนหนึ่งประมาณ 10 ขวบเข้ามาในร้าน
เด็กชายทั้งสองคนสวมชุดกีฬาใหม่เอี่ยมเหมือนกันทั้งสองคน ส่วนหญิงคนนั้นสวมโอเวอร์โค้ท ลายสก๊อตเก่าๆ เชยๆ
"เชิญนั่งครับ" เถ้าแก่ร้องทักทายออกมา
หญิงคนนั้นเอ่ยปากอย่างขลาดกลัวว่า
"ขอบะหมี่น้ำสักชามได้ไหมคะ" เด็กชายสองคนที่อยู่ข้างหลังสบตากันอย่างไม่ค่อยสบายใจนัก
"ได้ค่ะ ได้ค่ะ ทำไมจะไม่ได้ล่ะค่ะ เชิญนั่งก่อนค่ะ"
เถ้าแก่เนี้ยพาพวกเขาไปนั่งที่โต๊ะเบอร์สองชิดกำแพง แล้วตะโกนบอกไปทางห้องครัวว่า
"บะหมี่น้ำหนึ่งชาม"
บะหมี่หนึ่งชามมีบะหมี่แค่หนึ่งก้อน เถ้าแก่คิดแล้วก็ใส่บะหมี่ เพิ่มไปอีกครึ่งก้อน ต้มบะหมี่ได้ชามเบ้อเริ่ม ทั้งเถ้าแก่เนี้ยและสามแม่ลูกต่างก็ไม่รู้เรื่อง สามแม่ลูกนั่งล้อมชามบะหมี่กินกันอย่างเอร็ดอร่อย กินพลางพูดพลาง
"ทานเถอะครับ" ลูกคนพี่พูด
"แม่ทานหน่อยสิครับ" ลูกคนน้องพูดไปก็คีบบะหมี่ให้แม่กิน ไม่นานก็กินบะหมี่หมดชาม จ่ายเงินไปหนึ่งร้อยห้าสิบเยน แล้วทั้งสามคนก็ชมว่า
"ขอบคุณมากค่ะ(ครับ) บะหมี่อร่อยมากค่ะ(ครับ)" พร้อมกับค้อมตัวเล็กน้อยแล้วลาจากไป
"ขอบคุณมากค่ะ(ครับ) สวัสดีปีใหม่ค่ะ(ครับ)" ทั้งเถ้าแก่และเถ้าแก่เนี้ยต่างก็กล่าวขอบคุณ
*****
ทำงานไปวันแล้ววันเล่ายุ่งตั้งแต่เช้าจรดเย็น และแล้วก็ผ่านไปอีกหนึ่งปี วันที่ 31 ธันวาคม ก็เวียนมาครบรอบอีกครั้งหนึ่ง ในวันส่งท้ายปีเก่า ร้านบะหมี่ "ฮอกไก" ก็ยังคงขายดีและดูเหมือนจะขายดีกว่าปีที่ผ่านมา สองตายายยังคงยุ่งวุ่นวายอยู่กับการค้าขาย
และแล้ววันที่วุ่นวายก็จบสิ้นลง 22.00 น.กว่า ในขณะที่เถ้าแก่เนี้ยกำลังจะปิดร้านอยู่นั้น ประตูร้านก็ถูกผลักออกเบา ๆ ผู้ที่เข้ามาก็คือหญิงวัยกลางคนกับเด็กชายสองคน พอเห็นเสื้อโอเวอร์โค้ทที่เก่า และเชย เถ้าแก่เนี้ยก็นึกขึ้นมาได้ว่าเป็นลูกค้าคนสุดท้ายในวันส่งท้ายปีเก่าของปีที่แล้วนั่นเอง
"ขอบะหมี่น้ำหนึ่งชามได้มั๊ยคะ"
"ได้ค่ะ ได้ค่ะ เชิญนั่งตามสบายนะคะ" เถ้าแก่เนี้ยนำพวกเขาไปนั่งที่เดิมที่เคยนั่งเมื่อปีที่แล้ว โต๊ะเบอร์สอง ตะโกนไปพลางว่า
"บะหมี่น้ำหนึ่งชาม" เถ้าแก่รับคำพลาง จุดเตาที่เพิ่งจะดับไปพลาง
"ได้ครับ บะหมี่น้ำหนึ่งชาม" เถ้าแก่เนี้ยแอบไปพูดที่ข้างหูของเถ้าแก่ว่า "นี่ตาแก่ ต้มบะหมี่ให้พวกเขาสามชามไม่ได้หรือ"
"ไม่ได้ ถ้าทำแบบนั้นจะทำให้พวกเขาอายและไม่สบายใจได้รู้มั๊ย"
สามีตอบพลางแล้วโยนบะหมี่อีกครึ่งก้อนลงไปในหม้อที่น้ำกำลังเดือดพล่าน เดินไปยืนข้างภรรยาแล้วก็ยิ้ม ภรรยาก็พูดขึ้นว่า
"เห็นเธอซื่อ ๆ ทึ่ม ๆ ไม่นึกเลยว่าจิตใจก็ดีเหมือนกันนะ"
ฝ่ายสามีเดินไปตักบะหมี่ชามใหญ่ที่กลิ่นหอมชวนกินชามนั้นแล้วให้ภรรยายกไปให้สาม แม่ลูก สามแม่ลูกนั่งล้อมชามบะหมี่ กินไปพลางคุยไปพลาง เสียงคุยของสามแม่ลูกดังถึงหูของตายาย
"หอมจังเลย…ยอดไปเลย…อร่อยจริงๆ "
"ปีนี้สามารถกินบะหมี่ของร้านฮอกไกได้ นับว่าไม่เลวทีเดียว"
"ถ้าปีหน้าสามารถมากินได้อีกก็ดีนะสิ"
กินเสร็จก็จ่ายเงินไปหนึ่งร้อยห้าสิบเยน แล้วสามแม่ลูกก็เดินออกจากร้านฮอกไกไป
"ขอบคุณค่ะ(ครับ) สวัสดีปีใหม่ค่ะ(ครับ)" มองตามหลังสามแม่ลูกจนลับหายไป
*****
สองตายายก็ยกเรื่องสามแม่ลูกมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกไปได้ระยะหนึ่ง ในวันสิ้นปีของสามปีมานี้ กิจการของร้านฮอกไกดีมาก สองตายายต่างก็ยุ่งจนไม่มีเวลาคุยกัน แต่พอเลย 21.00น.ไปแล้ว สองตายายก็เริ่มกระวนกระวายใจขึ้นมา พอถึง 22.00น. พนักงานในร้านต่างก็รับอั้งเปาแล้วก็แยกย้ายกันกลับไป
พอคนกลับไปหมดแล้วเจ้าของร้านทั้งสองก็ช่วยกันเอาป้ายราคาบะหมี่ในร้านที่เขียน ไว้ว่า "บะหมี่ชามละสองร้อยเยน" ที่แขวนไว้ตามผนังทั้งหมดพลิกกลับหลัง แล้วช่วยกันเขียนใหม่ว่า "บะหมี่ชามละร้อยห้าสิบเยน"
30 นาทีก่อน เถ้าแก่เนี้ยก็เอาป้าย "จองแล้ว" ไปวางไว้บนโต๊ะเบอร์สอง เหมือนกับว่าจะมีเจตนารอแขกที่ลูกค้าออกจากร้านไปหมดแล้วถึงจะมาอย่างนั้นแหละ
22.30 น. ในที่สุดสามแม่ลูกก็ปรากฏตัวขึ้น พี่ชายสวมเครื่องแบบมัธยมของรัฐแห่งหนึ่ง น้องชายสวมเสื้อแจ๊คเก็ทที่พี่ชายสวมเมื่อปีก่อนดูหลวมและไม่พอดีตัว เด็กทั้งสองคนโตขึ้นมาก ส่วนผู้เป็นแม่ก็ยังคงสวมเสื้อโค้ทลายสก๊อตที่ทั้งเก่าและเชยแถมสีซีดตัวเดิม
"เชิญค่ะ เชิญค่ะ" เถ้าแก่เนี้ยกล่าวทักทายอย่างมีน้ำใจ
มองใบหน้าอันยิ้มแย้มและท่าทางต้อนรับอย่างเต็มที่ของเถ้าแก่เนี้ย ทำให้ผู้เป็นแม่นั้นเปล่งคำพูดออกมาอย่างงกงก เงิ่นเงิ่นว่า
"รบกวนช่วยทำบะหมี่น้ำให้สักสองชามได้ไหมค่ะ"
"ได้ค่ะ เชิญนั่งทางนี้ค่ะ" เถ้าแก่เนี้ยนำแม่ลูกไปนั่งยังโต๊ะเบอร์สอง แล้วรีบเอาป้าย"จองแล้ว"ออกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วตะโกนบอกไปทางครัวว่า
"บะหมี่น้ำสองชาม"
"ได้ครับ บะหมี่น้ำสองชามได้เดี๋ยวนี้แหละครับ" เถ้าแก่พลางตอบ พลางโยนบะหมี่ลงไปในหม้อน้ำสามก้อน
สามแม่ลูกกินไปพูดไป ดูแล้วเหมือนมีความสุขกันมาก สองสามีภรรยาที่ยืนอยู่หลังโต๊ะทำบะหมี่ ได้รับรู้ถึงความสุขที่พวกเขาได้รับกัน ในใจก็พลอยเบิกบานไปด้วย
"ลูกรัก วันนี้แม่ต้องขอบคุณลูก ๆ เป็นอย่างมาก"
"ขอบคุณ ?"
"ทำไมครับ"
"เรื่องเป็นอย่างนี้ คือคุณพ่อของลูกที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปได้ทำให้คนอีกแปดคนได้รับบาดเจ็บ และทางบริษัทประกันก็ไม่รับผิดชอบในส่วนนั้น ในช่วงหลายปีมานี่ทำให้เราต้องจ่ายเงินเดือนละห้าหมื่นเยนทุกเดือน"
"เอ๊ะ เรื่องนี้เราก็ทราบกันอยู่แล้วนี่ครับ" ผู้เป็นพี่ตอบ
ส่วนเถ้าแก่เนี้ยได้แต่ตั้งใจฟังอย่างเงียบๆ อยู่หลังโต๊ะทำอาหาร
"แต่เดิมนั้นเราต้องชำระหนี้ไปจนถึงปีหน้าเดือนมีนาคม แต่ตอนนี้เราได้ชำระหนี้ไปหมดแล้ว"
"จริงๆ หรือครับ แม่"
"จริงสิจ๊ะ นี่เป็นเพราะว่าพี่ชายของลูกขยันไปส่งหนังสือพิมพ์ ส่วนตัวลูกเองก็ช่วยแม่ซื้อกับข้าวทำอาหาร ทำให้แม่ไปทำงานได้อย่างเต็มที่ ทางบริษัทจึงได้ให้เงินเบี้ยขยันพร้อมทั้งเงินโบนัสพิเศษอื่นๆ อีก จึงทำให้วันนี้สามารถชำระในส่วนที่เหลือได้หมด"
"ว้าว แม่ครับ พี่ครับ อย่างนี้ก็วิเศษสิครับ แต่ว่าต่อไปขอให้ผมได้ช่วยทำอาหารต่อไปเถอะนะครับ"
"ผมก็จะส่งหนังสือพิมพ์ต่อนะครับ ไอ้น้องชาย เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันสู้หน่อยแล้วนะ"
"ขอบใจลูกทั้งสองมาก ขอบใจจริงๆ "
"แม่ครับผมกับน้องก็มีความลับจะบอกกับแม่เหมือนกันครับ คือในวันอาทิตย์วันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายนโรงเรียนของน้อง ได้แจ้งให้ผู้ปกครองไปเยี่ยมชมนักเรียนในห้องเรียนในวันพบผู้ปกครอง คุณครูของน้องยังได้แนบจดหมายมาอีกหนึ่งฉบับว่า เรียงความของน้องได้ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของฮอกไกโด เพื่อไปแข่งขันเรียงความทั่วประเทศ นี่ผมได้ยินมาจากเพื่อนๆ ของน้องนะครับผมถึงทราบ ดังนั้นในวันนั้นผมจึงไปเป็นตัวแทนแม่ ไปร่วมในงานวันพบผู้ปกครองของน้อง"
"จริงหรือลูก แล้วต่อมาล่ะ"
"หัวข้อที่คุณครูให้เรียงความคือ ความปรารถนาของข้าพเจ้า" น้องได้เอาเรื่องของบะหมี่น้ำหนึ่งชามมาเขียนเป็นเรียงความ แล้วยังได้อ่านต่อหน้าทุกคนด้วย"
"เรียงความเขียนว่า…หลังจากที่คุณพ่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์แล้ว ได้ทิ้งหนี้สินให้เรามากมาย เพื่อที่จะชำระหนี้ คุณแม่ต้องทำงานดึกดื่นหาม รุ่งหามค่ำทุกวัน แม้แต่เรื่องของผมที่ต้องไปส่งหนังสือพิมพ์ น้องก็ยังเอาไปเขียนเลย…"
"ยังมีอีก น้องยังเขียนถึงในคืนวันที่ 31 ธันวาคม พวกเราสามคนแม่ลูกได้มาล้อมวงกันกินบะหมี่น้ำ อร่อยมาก… สามคนกินบะหมี่น้ำแค่ชามเดียว คุณตาคุณยายเจ้าของร้านยังกล่าวขอบคุณพวกเราอีก แล้วยังอวยพรวันปีใหม่ให้พวกเราอีก เสียงเหล่านั้นเหมือนกับว่าให้กำลังใจให้เข้มแข็งที่จะยืนหยัดมีชีวิตอยู่ต่อไป พยายามปลดเปลื้องหนี้สินทั้งหลายของคุณพ่อ ให้หมดให้เร็วที่สุด…"
"ด้วยเหตุนี้น้องจึงได้ตัดสินใจว่าโตขึ้นน้องจะเปิดกิจการร้านบะหมี่ แล้วจะต้องเป็นเจ้าของร้านบะหมี่ยอดเยี่ยม อันดับหนึ่งของญี่ปุ่นอีกด้วย แล้วยังจะให้กำลังใจแก่ลูกค้าทุกคน…ขอให้มีความสุขครับ…ขอบคุณครับ…"
สองตายายเจ้าของร้านบะหมี่ที่ยืนฟังอยู่หลังโต๊ะทำบะหมี่จู่ ๆ ก็หายตัวไป
พวกเขาไม่ได้หายไปไหนเลยเพียงแต่คุกเข่ากันอยู่ใต้โต๊ะ ในมือถือปลายผ้าขนหนูกันคนละข้าง พยายามซับน้ำตาที่ไหลไม่ยอมหยุดเหมือนทำนบพังนั้นอย่างไม่ลดละ
"พอน้องอ่านเรียงความจบ คุณครูก็พูดว่า "วันนี้พี่ชายได้มาเป็นตัวแทนของคุณแม่ ดังนั้นขอเชิญพี่ชายขึ้นมากล่าวอะไรสักหน่อยค่ะ"
"จริงหรือลูก แล้วลูกทำอย่างไรล่ะ"
"ก็มันกะทันหันเกินไป ตอนแรกๆ ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี ผมจึงพูดว่า…ขอบคุณทุกคนที่เอาใจใส่น้องผมเป็นอย่างดี น้องผมต้องไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวกลับมาหุงหาอาหารทุกวัน ดังนั้นในเวลาที่เพื่อนๆ ทุกคนมีกิจกรรมกันในตอนเย็นก็มักจะ อยู่ร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เพราะต้องรีบกลับบ้าน เมื่อเป็นอย่างนี้คงจะทำให้ทุกคนวุ่นวายกันพอสมควร"
"เมื่อครู่นี้ตอนที่ได้ยินน้องอ่านเรียงความเรื่องบะหมี่น้ำหนึ่งชาม ผมรู้สึกอายมาก แต่พอได้เห็นน้องยืดอกอ่านเรียงความเรื่องบะหมี่ น้ำหนึ่งชามด้วยเสียงอันดังนั้นจนจบ ถึงได้รู้สึกว่าความรู้สึกอายเมื่อ สักครู่นี้ถึงจะเรียกว่าเป็นความอายจริงๆ "
"หลายปีมานี้ ความกล้าของคุณแม่ที่จะสั่งบะหมี่น้ำหนึ่งชามนั้นเพื่อกิน กันสามคนนั้นผมกับน้องจะไม่มีวันลืมเป็นอันขาด ผมและน้องจะต้องขยัน และดูแลแม่เป็นอย่างดี และผมขอฝากน้องของผมให้ทุกคนช่วยดูแลด้วยครับ"
สามแม่ลูกกุมมือกันเงียบ ๆ ตบไหล่ กินบะหมี่หมดอย่างมีความสุขกว่าทุกๆ ปี จ่ายเงินไปสามร้อยเยนกล่าวขอบคุณ ค้อมตัวลงเคารพและเดินออกจากร้านไป
มองตามหลังสามแม่ลูกไป เจ้าของร้านจึงได้รู้สึกว่าปีนี้ได้ผ่านไปแล้วจริงๆ พร้อมกับกล่าวว่า
"ขอบคุณค่ะ(ครับ) สวัสดีปีใหม่ค่ะ(ครับ)"
และแล้วก็ผ่านไปอีกปีหนึ่ง
*****
พอถึงเวลา 21.00น.ทางร้านฮอกไกก็วางป้าย "โต๊ะจอง" ไว้บนโต๊ะเบอร์สองและเฝ้ารอคอย การมาเยือนของสามแม่ลูกเช่นเคย
แต่ในปีนั้นสามคนแม่ลูกไม่ได้มาปรากฏตัวที่ร้านเลย ปีที่สอง ปีที่สาม โต๊ะเบอร์สองก็ยังคงว่างอยู่เช่นเดิม
สามแม่ลูกไม่ได้มาที่ร้านฮอกไกอีกเลย กิจการของร้านฮอกไกดีมาก เรียกว่าดีวันดีคืนเลยทีเดียว ภายในร้านมีการตกแต่งใหม่
โต๊ะเก้าอี้ก็มีการเปลี่ยนใหม่ จะมีก็แต่โต๊ะเบอร์สองที่เก็บรักษาไว้เหมือนเดิม
"นี่มันเรื่องอะไรกัน" ลูกค้าหลายคนต่างก็ถามด้วยความกังขา
เถ้าแก่เนี้ยก็เลยเล่าเรื่องบะหมี่หนึ่งชามให้แก่ลูกค้าฟัง
โต๊ะเก่าตัวนั้นวางอยู่กลางร้านเหมือนกับว่าเป็นการให้กำลังใจตัวเองอย่างหนึ่ง และก้อไม่แน่ว่าวันใดวันหนึ่งลูกค้าทั้งสามอาจจะกลับมาอีก พวกเขาหวังว่าจะใช้โต๊ะเก่าตัวนั้นในการต้อนรับลูกค้าทั้งสามของเขา
โต๊ะเบอร์สองตัวนั้นเปลี่ยนเป็นชื่อว่า "โต๊ะแห่งความสุข" ลูกค้าต่างก็พูดต่อๆ กันไป
มีนักเรียนหลายคนอยากเห็นโต๊ะตัวนี้ถึงขนาดที่ว่านั่งรถมาจากที่ไกลแสนไกลมากิน บะหมี่ และเจาะจงที่จะนั่งโต๊ะตัวนี้
ผ่านวันที่ 31 ธันวาคม ไปอีกหลายๆ ปี
พอถึงวันสิ้นปีหลังจากปิดร้านแล้ว เจ้าของร้านค้าในละแวกใกล้เคียงร้านฮอกไก ก็มักจะมารวมตัวฉลอง โดยการกินบะหมี่ที่ร้านฮอกไก กินไปพลาง ก็รอเสียงระฆังส่งท้ายวันสิ้นปีเก่าไปพลาง แล้วทุกคนก็ไปวัดเพื่อไหว้พระด้วยกัน เป็นธรรมเนียมมา 5-6 ปีแล้ว
ในวันนี้พอเลย 21.30 น.ไปแล้ว เจ้าของร้านขายปลามาถึงก่อนพร้อมทั้งนำซาซิมิมาด้วย ต่อจากนั้นก็มีคนมาเรื่อยๆ เป็นระยะ บ้างก็เอาเหล้ามา บ้างก็เอาอาหารกับแกล้มมา ปกติแล้วก็จะรวมตัวกันได้ประมาณ 30-40 คน ต่างก็คึกคักกันมาก ทุกคนที่มานั้นต่างก็รู้ตำนานเกี่ยวกับโต๊ะเบอร์สอง ทุกคนก็พยายามไม่เอ่ยถึงมันแต่ในใจต่างก็คิดกันว่า วันนี้ "โต๊ะจอง" ตัวนั้นไม่มีคนที่พวกเขาเฝ้ารอมานั่ง มันคงจะว่างเปล่าเพื่อส่งท้ายปีเก่าอีกเช่นเดิม พวกเขาบ้างก็กินเหล้า บ้างก็กินบะหมี่ บ้างก็เข้าๆ ออกๆ
พอเตรียมกับข้าวกับแกล้ม ต่างก็กินกันไปคุยกันไป พูดเรื่องการค้าบ้าง คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ แม้แต่น้ำทะเลขึ้นลง ในระยะนี้บ้านไหนมีเด็กเกิดใหม่ ก็นำมาพูดคุยในวงสนทนา คุยมันทุกๆ เรื่อง จนเหมือนกับว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน
เวลาผ่านไปจนถึง 22.30 น. ทันใดนั้นเองประตูร้านก็ถูกผลักออกเบาๆ ทุกคนในร้านหยุดพูดคุยกัน สายตาทุกคู่มองตรงไปยังประตูร้าน ชายหนุ่มสองคนยืนสง่าในชุดสูทสากล พาดโอเวอร์โค้ทไว้บนแขน
พอเห็นว่าผู้ที่มาเป็นใครทุกคนก็รู้สึกว่าบรรยากาศเริ่มผ่อนคลายลง และเริ่มสนทนากันต่อไปอย่างคึกคัก ในขณะที่เถ้าแก่เนี้ยกำลังจะพูดว่า
"ขอโทษค่ะ ที่นั่งเต็มหมดแล้วค่ะ" เพื่อปฏิเสธลูกค้าที่ไม่ได้รับเชิญอยู่นั้น ก็มีหญิงคนหนึ่งสวมชุดกิโมโน เดินเข้ามายืนระหว่างกลางของชายหนุ่มทั้งสองคน ทุกคนในร้านแทบจะหยุดหายใจเมื่อได้ยินคุณนายผู้นั้นพูดว่า
"เอ้อ…รบกวน…รบกวนช่วยทำบะหมี่ให้สามชามได้ไหมคะ"
ทันทีที่เถ้าแก่เนี้ยได้ยินสีหน้าก็เปลี่ยนไปทันที เวลาผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว ภาพของสามแม่ลูกในความทรงจำ กับภาพของสามแม่ลูกตรงหน้า เธอพยายามจะนำทั้งสองภาพมาวางซ้อนกัน
เถ้าแก่ที่ยืนตะลึงอยู่ที่โต๊ะทำบะหมี่ ชี้นิ้วไปยังทั้งสามแม่ลูก "พวกคุณ .. พวกคุณ" เขาพูดได้เพียงแค่นั้น คำพูดทุกคำจุกอยู่ที่คอ
ชายหนุ่มหนึ่งในสองคนเห็นท่าทีของเถ้าแก่เนี้ยที่ทำอะไรไม่ถูกก็เลยพูดกับ เถ้าแก่เนี้ยว่า
"พวกเราสามคนแม่ลูกที่เมื่อสิบสี่ปีก่อนในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มา สั่งบะหมี่น้ำหนึ่งชามทานกันสามคนไงครับ และพวกเราก็ได้รับกำลังใจจากบะหมี่น้ำชามนั้น พวกเราจึงได้สามารถยืนหยัดมาถึงวันนี้ได้"
"หลังจากนั้นก็อพยพครอบครัวไปอาศัยอยู่กับยายที่อำเภอชิกะ ปีนี้ผมสอบผ่านได้เป็นนายแพทย์แล้ว ตอนนี้ผมเป็นแพทย์ฝึกหัดแผนกกุมารเวชที่โรงพยาบาลเกียวโต ปีหน้าเดือนเมษายนก็จะย้ายมาประจำโรงพยาบาลกลางของซัปโปโรแล้ว"
"วันนี้พวกเราก็เลยแวะมาที่โรงพยาบาลเพื่อทำความรู้จักและฝากเนื้อฝากตัว แล้วเลยไปไหว้สุสานของคุณพ่อ
และน้องชายที่ครั้งหนึ่งเคยใฝ่ฝันว่าจะเป็นเจ้าของกิจการร้านบะหมี่นั้น ขณะนี้ได้ทำงานในธนาคารเกียวโต ได้เสนอความคิดที่เลิศเลออย่างหนึ่งก็คือ
ปีนี้ในวันส่งท้ายปีเก่า พวกเราสามคนแม่ลูกจะมาเยี่ยมคารวะเจ้าของร้านบะหมี่ฮอกไกที่ซัปโปโร และทานบะหมี่น้ำสามชามของร้านฮอกไกด้วย"
สองตายายฟังไปพลาง พยักหน้าไปพลางด้วยน้ำตาคลอเบ้า เถ้าแก่ร้านขายผักที่นั่งอยู่ตรงหน้าประตู พยายามใช้แรงอย่างเต็มที่ที่จะกลืนบะหมี่คำที่คาอยู่ในปากลงไปในคอ แล้วลุกขึ้นยืนพูดว่า
"อ้าว…เถ้าแก่… เป็นอะไรไปล่ะ อุตสาห์เตรียมการมาตลอดสิบปีเพื่อเฝ้าคอยวันนี้ "โต๊ะจอง" ตัวนั้นไงที่พวกเถ้าแก่จองให้ลูกค้าที่จะมาตอนหลังสิบโมงของคืนวันสิ้นปีไง รีบๆ ต้อนรับพวกเขาสิ เร็วเข้า"
ในที่สุดเถ้าแก่เนี้ยก็ได้สติ ตบไหล่ของเถ้าแก่ร้านขายผัก แล้วพูดว่า
"ยินดีต้อนรับค่ะ…เชิญนั่งข้างในค่ะ…นี่ตาเฒ่า…บะหมี่น้ำสามชามโต๊ะสอง"
เถ้าแก่ที่ยืนตะลึงอยู่ก็รีบปาดน้ำตาแล้วรับคำว่า
"ครับ..บะหมี่น้ำสามชาม"
หากดูกันตามจริงแล้ว สิ่งที่เถ้าแก่ร้านบะหมี่ทั้งสองได้ให้ไปมันไม่ได้มีค่ามากมายอะไรเลย มันเป็นแค่เพียงบะหมี่ไม่กี่ก้อน คำพูดที่จริงใจและให้กำลังใจเพียงไม่กี่คำ รวมทั้งคำอวยพรว่า "ขอบคุณค่ะ(ครับ) สวัสดีปีใหม่ค่ะ(ครับ)"ก็เท่านั้นเอง
แต่มันกลับให้ผู้ที่ถูกความจริงอันโหดร้ายบีบให้จมอยู่ในสถานการณ์ คับขันได้สามารถกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
*****
เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า --- อย่าพยายามมองข้ามตัวเอง
ตัวเราเองสามารถมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ได้ บางทีมันอาจจะเป็นแค่เพียงความใส่ใจความห่วงใยอันจริงใจ ของคุณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็สามารถนำพาเอาแสงสว่างอันเจิดจรัสอย่างไม่มีขีดจำกัดมาสู่โลกได้
ด้วยเหตุนี้ความหวังความใฝ่ฝันที่แรงกล้าของพวกเรา …
เพื่อนพ้องทั้งหลาย …
อย่ามัวเห็นแก่ตัวกันหรือเสียดายมันอยู่เลย หวังว่านับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
พวกเราจะสามารถมอบหัวใจแห่งความรักและความเมตตาที่เราอัดเก็บ ไว้ในใจมาเป็นเวลานานแสนนานนั้นมอบให้กับคนอื่นด้วยความเต็มใจ จุดประกายแห่งความสว่างแก่โลก….
ถึงแม้จะเป็นแสงเพียงริบหรี่เท่านั้น
แต่สำหรับคืนอันหนาวเหน็บอันเย็นยะเยือกของฤดูหนาว มันเป็นประกายแห่งความอบอุ่นและแสงสว่างอันสุกสกาวจริงๆ
ไงจ๊ะ…อ่านบทความนี้จบแล้วรู้สึกเมื่อยตาบ้างหรือเปล่า
บริหารสายตาหน่อย กรอกตาซ้ายไปมา เสร็จแล้วก็หันมากรอกตาขวา
หลังจากนั้นก็กรอกตาทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน
หากทำแล้วลูกตากระเด็นออกมานอกเบ้าแล้วล่ะก้อไม่ต้องมาหาฉันนะจ๊ะ ไปหาหมอเถอะ…
เรื่องนี้ตอนที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกประทับใจมานับไม่ถ้วนแล้ว ดังนั้นจึงมีคนพูดกันว่า
"ใครที่อ่านเรื่องแล้ว ไม่มีใครเลยที่จะไม่หลั่งน้ำตาให้"
ถึงแม้คำพูดนี้ออกจะเกินจริงไปบ้าง
แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ได้อ่านเรื่องนี้แล้ว รู้สึกประทับใจจริงๆ จนน้ำตาร่วง และน้ำตาที่ร่วงรินเหล่านั้น มันไม่ใช่น้ำตาจากความรันทดใจ
แต่เป็นน้ำตาที่หลั่งให้แก่ความประทับใจต่อความห่วงใยอย่างจริงใจ และน้ำใจไมตรีอันกว้างขวางที่มอบให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ....
|