ต้นกำเนิด "ร่ม"
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
.....
ร่มกำเนิดขึ้นเมื่อ ๓,๔๐๐ ปีมาแล้วในดินแดนเมโสโปเตเมียเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งและเกียรติยศ ร่มเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ต่อเติมเสริมขึ้นจากพัด ร่มยุคแรกเริ่มไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องชาวเมโสโปเตเมียนจากการเปียกฝน เพราะฝนแทบจะไม่ตกเลยในดินแดนทะเลทายแห่งนี้ แต่ร่มช่วยป้องกันพวกเขาจากแสงแดดอันร้อนแรง เป็นเวลาต่อมาอีกหลายศตวรรษที่ร่มทำหน้าที่เพียงบังแดด ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากคำว่า ร่ม-umbrella มีรากศัพท์จากคำภาษาลาติน “umbra” ซึ่งแปลว่า “บังแดด”
พอถึงราว ๑,๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ร่มของชาวอียิปต์เริ่มมีความสำคัญในแง่ของศาสนา ในยุคนั้นเชื่อกันว่าแผ่นฟ้าทั้งหมดคือร่างกายของเทพธิดานัต ซึ่งแผ่ปกคลุมโลกเฉกเช่นร่มคันใหญ่มหึมา เทพธิดานัตสัมผัสพื้นผิวโลกด้วยนิ้วเท้าและปลายนิ้วมือของเธอเท่านั้น ด้วยความเชื่อดังกล่าว ร่มซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นจึงเปรียบเสมือนภาคหนึ่งขององค์เทพธิดานัตบนพื้นโลก และจะกางเหนือศีรษะของผู้สูงศักดิ์เท่านั้น การได้รบเชิญให้ยืนภายใต้ร่มของกษัตริย์ถือเป็นเกียรติยศสูงสุด ร่มเงานั้นเปรียบได้กับการปกป้องคุ้มครองของกษัตริย์ วัสดุที่ใช้ทำร่มในสมัยนั้นเป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ทำพัด ได้แก่ ใบเฟินขนนก และต้นกกที่ตีแผ่ออก
ชาวกรีกและชาวโรมันได้หยิบยืมหลายสิ่งจากวัฒนธรรมของชาวอียิปต์ รวมทั้งการใช้ร่ม แต่พวกเขาถือต่างออกไปว่าร่มเป็นของใช้เฉพาะสตรีเท่านั้น ผู้ชายแทบจะไม่ใช้ร่มกันเลยมีเพียงโอกาสเดียวเท่านั้นที่ผู้ชายกรีกจะถือร่มได้โดยไม่ถูกมองจากผู้คนรอบข้างว่าประหลาด นั่นคือเมื่อเขากางร่มนั้นให้แก่เพื่อนหญิงที่มาด้วยกัน
ผู้หญิงโรมันเป็นผู้ริเริ่มทาน้ำมันลงบนร่มกระดาษเพื่อให้สามารถกันน้ำได้ นักประวัติศาสตร์โรมันบันทึกไว้ว่า ฝนตกปรอย ๆ ที่โรงละครครึ่งวงกลมกลางแจ้ง เป็นสาเหตุให้ผู้ชมสตรีนับร้อยพากันกางร่มขึ้นจนปิดบังสายตาและก่อความรำคาญให้แก่ผู้ชมเพศชายยิ่งนัก ข้อถกเถียงเรื่องการใช้ร่มกันฝนตามงานสาธารณะเกิดขึ้นและลุกลามใหญ่โต จนกระทั่งในศตวรรษที่ ๑ แห่งคริสตกาล ประเด็นโต้แย้งนี้ขึ้นไปถึงจักรพรรดิโดมิเทียนในที่สุดทรงตัดสินเข้าข้างฝ่ายสตรี โดยอนุญาตให้สามารถใช้ร่มกันฝนได้ในที่สาธารณะ
ร่มบังแดดและร่มกันฝนยังคงเป็นของใช้เฉพาะสตรีมาจนถึงศตวรรษที่ ๑๘ ในยุโรปและหลังจากนั้นในอเมริกา ส่วนผู้ชายจะสวมเพียงหมวกและยอมเปียกปอนเมื่อฝนตก นักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเขียนบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของคนยุโรปต่อ
ผู้ชายที่ถือร่มไว้ว่า “ถ้าผู้หญิงฝรั่งเศสเห็นผู้ชายคนใดถือร่มติดตัว พวกหล่อนจะลงความเห็นว่า ชายผู้นั้นช่างอ่อนแอไม่สมเป็นชายเลย”
โจนาส แฮนเวย์ สุภาพบุรุษชาวอังกฤษ คือบุคคลแรกที่ทำให้ร่มเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นเครื่องช่วยป้องกันฝนสำหรับผู้ชาย ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จ สามารถเปลี่ยนค่านิยมเก่าได้ เขาต้องใช้ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ฟันฝ่าการดูถูกเหยียดหยามล้อเลียนจากสังคม เริ่มในปี ค.ศ. ๑๗๕๐ แฮนเวย์จะพกร่มติดตัวเสมอเวลาออกนอกบ้าน ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก บรรดาคนรู้จักในวงการธุรกิจต่างมองว่าเขาเป็นกะเทย พวกวัยรุ่นตามข้างถนนจะโห่ฮาเมื่อเขาเดินผ่านไปส่วนพวกคนขับรถม้าก็มักจะแกล้งแล่นรถผ่านหลุมบ่อที่มีน้ำขังให้โคลนกระเซ็นเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าของแฮนเวย์ เพราะพวกเขาเกรงว่าถ้าการใช้ร่มเพื่อกันฝนเกิดเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย การทำมาหากินของพวกเขาจะถูกกระทบโดยตรง
แต่แฮนเวยไม่เคยท้อแท้ เขาถือร่มติดตัวเสมอตลอดช่วง ๓๐ ปีหลังของชีวิต ในไม่ช้าพวกผู้ชายค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการลงทุนซื้อร่มเพียงครั้งเดียว ถูกกว่าการเรียกรถม้าทุกครั้งที่ฝนตก ยิ่งโดยเฉพาะในกรุงลอนดอนด้วยแล้วจะเป็นการประหยัดอย่างมหาศาล บางทีอาจจะเป็นเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ หรือจะเป็นด้วยความคุ้นชินตา ในที่สุดตราประทับของความอ่อนแอ ความไม่เป็นชายที่ติดมากับร่มก็ถูกลบล้างไป ก่อนที่โจนาส แฮนเวย์ จะถึงแก่กรรม ในปี ๑๗๘๖ สุภาพบุรุษชาวอังกฤษต่างพกพาร่มติดตัวกันทั่วหน้าในวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝ