ศึกษาธิการ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 10/2556 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุม โดยมีประเด็นสำคัญสรุปดังนี้
• ร่าง Roadmap การขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2556-2558)
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าของร่าง Roadmap ดังกล่าว ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ได้รวบรวมวิเคราะห์และจัดทำเป็นมาตรการที่จะดำเนินการภายใต้ 8 นโยบายการศึกษา ซึ่งที่ประชุมขอให้ สป. รวบรวมข้อคิดเห็นจากที่ประชุมเพื่อปรับปรุงให้เป็นแนวดำเนินการตามนโยบาย แผนงาน มาตรการ รวมทั้งตัวชี้วัดต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังให้สังคมเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าเมื่อ Roadmap ที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วจะเป็นคู่มือ แผนการทำงาน การบริหารงานโครงการ ที่มีความชัดเจนในการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งแต่ละส่วนจะได้รู้วิธีการทำงานให้เกิดความเชื่อมโยงในการขับเคลื่อนร่วมกัน และจะนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานโครงการปี 2557 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
รมว.ศธ.ฝากในที่ประชุมว่า เรื่องใดที่มีเจ้าภาพดำเนินการชัดเจนแล้ว ขอให้จัดทำแผนปฏิทินการดำเนินงานการขับเคลื่อนให้เกิดความชัดเจน
• สรุปผลการประชุมเพื่อกำหนดประเด็นปฏิรูปการผลิตและพัฒนาครู
รศ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงสรุปผลการประชุมเพื่อกำหนดประเด็นปฏิรูปในการผลิตและพัฒนาครู ที่มีความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ เช่น
- ข้อมูลจำนวนครูที่เกษียณอายุราชการและจำนวนความต้องการครูที่ขาดแคลนในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งข้อมูลระหว่างสำนักงาน ก.ค.ศ. กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังแตกต่างกันมาก เนื่องจาก สพฐ.แบ่งตามสาขาวิชาที่สอน ในขณะที่สำนักงาน ก.ค.ศ.แบ่งตามสาขาวิชาเอกที่จบ ซึ่งเห็นว่าควรมีการรวบรวมข้อมูลโดยกำหนดคำนิยามและช่วงเวลา (5 ปี หรือ 10 ปี) ให้ตรงกัน
- เกณฑ์ที่ใช้ระบุจำนวนครูที่เหมาะสมกับโรงเรียน ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้กำหนดโดยพิจารณาจากจำนวนนักเรียน เช่น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 20 คน จะมีครูประถมศึกษาไม่เกิน 3 คน เป็นต้น เกณฑ์ดังกล่าวจะนำมาใช้ระบุโรงเรียนที่ขาดครู ดังนั้นเพื่อจำแนกเป็นโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ตามเกณฑ์ และเกินเกณฑ์ แต่ละหน่วยงานควรกำหนดเกณฑ์ให้ตรงกัน
- การวิเคราะห์ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ตกต่ำ อาจะพิจารณาสาเหตุจากการขาดแคลนครูก่อน แต่หากโรงเรียนใดที่มีครูเพียงพอแล้ว แต่ยังพบปัญหาดังกล่าว ควรพิจารณาถึงคุณภาพด้านการเรียนการสอน หรือทักษะของครู โดยมุ่งเน้นใน 4 วิชาหลักก่อน คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
- ปัญหาครูสอนไม่ตรงกับสาขาวิชาเอกที่จบ ส่วนหนึ่งมาจากอำนาจของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ในเขตพื้นที่การศึกษาที่พิจารณาบรรจุครูลงไม่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งพื้นที่กันดารและเสี่ยงภัย มักไม่มีครูที่มีความสามารถไปบรรจุ ขณะที่ครูประถมศึกษาไม่มีการแยกสาขาวิชาพื้นฐานที่สอน ยกเว้นสาขาวิชาเฉพาะ เช่น พลศึกษา จึงต้องสอนได้ทุกวิชาและอาจกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน
- ปัญหาการเรียนซ้ำชั้น มีข้อเสนอต่างๆ เช่น ควรตั้งเงื่อนไขการซ้ำชั้นให้ละเอียดขึ้น เช่น หากนักเรียนสอบไม่ผ่านเพียงหนึ่งวิชา อาจให้เรียนซ่อมเฉพาะวิชานั้นเหมือนเรียนภาคฤดูร้อนในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น หรืออาจพิจารณาผูกวิทยฐานะของครูกับผลการเรียนของนักเรียน เป็นต้น
- ปัญหาคะแนนสอบ PISA ที่ตกต่ำ แต่ผลการเรียนของนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี อาจมีสาเหตุมาจากข้อสอบที่ไม่เป็นมาตรฐานของแต่ละโรงเรียน ควรใช้ข้อสอบกลางในการสอบ
- ปัญหาของครูเอกชน ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนขาดแคลนครูผู้สอนสาขาวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งมีปัญหาเรื่องเงินเดือน ใบประกอบวิชาชีพครู ไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ ซึ่งอาจจะต้องนำความต้องการเหล่านี้มารวบรวมวิเคราะห์เพิ่มเติมในการวางแผนผลิตและพัฒนาครูด้วย
- ปัญหาของครูอาชีวศึกษา คือ การเรียนการสอนอาชีวศึกษาเป็นการเรียนที่มีลักษณะเฉพาะ เน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ผู้ที่จะมาเป็นครูอาชีวะส่วนใหญ่ไม่ได้จบสาขาครู ทำให้ไม่สามารถขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ ประกอบกับปัจจุบันอาชีวะกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน เนื่องจากไม่มีอัตราบรรจุ เพราะระบบการคืนอัตราเกษียณมีความล่าช้ามาก จึงควรแก้ปัญหาโดยให้ครูอาชีวะสามารถใช้ใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพ แทนใบประกอบวิชาชีพครู
- ปัญหาของครู กศน. ปัจจุบัน กศน.มีกรอบอัตรากำลังครูจำนวน 7,164 อัตรา มีครู 1,413 คน และมีอัตราขาดแคลน 5,751 อัตรา ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีอัตราเกษียณ 494 อัตรา แต่กว่าจะได้อัตราเกษียณคืนมา จะต้องใช้เวลารอถึง 2-3 ปี รวมทั้งกรอบอัตรากำลังถูกจำกัดมานาน แม้จะมีอัตรารับแต่สำนักงบประมาณไม่อนุมัติงบประมาณสำหรับเงินเดือนครู จึงไม่สามารถรับครูเพิ่มได้
รมว.ศธ.ฝากให้ที่ประชุมพิจารณาในเรื่องความขาดแคลนครูใน Concept ปัจจุบันคืออะไร ซึ่งจะต้องมีการหารือและทำความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจนก่อนที่จะวางแผนผลิตและพัฒนาครู นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงประเด็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการจัดการศึกษา ควรมีการพัฒนาครูให้สามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพิจารณาถึงความจำเป็นว่าควรมีอัตราครูสาขาวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษาในโรงเรียนหรือไม่ ส่วนกรณีครูผู้ช่วยที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 60,000 คน อาจจะรับจากผู้ที่สอบผ่านและรอบรรจุแต่งตั้งด้วยเงื่อนไขที่เข้มข้น เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ให้แต่ละหน่วยงานจ้างกันตามอัธยาศัย สำหรับการวางแผนการอบรมพัฒนาครูและศึกษานิเทศก์ ซึ่ง สพฐ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น ควรวางแผนให้สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดปิดภาคเรียน และมีการอบรมอย่างเข้มข้น เช่น การอบรมการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นต้น
• รายงานการประเมินผลการจัดงาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์”
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการประเมินผลการจัดงาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์” (Language Learning and Thinking Showcase) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30–31 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมงาน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ สมาคมโรงเรียนนานาชาติ สถานทูต สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ประมาณ 30,000 คน
ซึ่งกิจกรรมหลักที่จัดขึ้นภายในงาน ประกอบด้วยการเสวนาทางวิชาการ “เรียนภาษาเพื่อสื่อสารให้เป็นประโยชน์” เรียนอย่างไรให้คิดวิเคราะห์เป็น เป็นต้น การสาธิตการเรียนการสอนที่เป็นแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จ การจัดประกวดสื่อการเรียนการสอน การแข่งขันทักษะทางวิชาการ อาทิ การประกวดสุนทรพจน์ภาษาไทย/ภาษาจีน การแข่งขันตอบปัญหาภาษา เป็นต้น การจัดแสดงบูธนิทรรศการด้านภาษา การคิดวิเคราะห์ และสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยี การมอบเกียรติบัตรสำหรับผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 15,005 คน โดยจำแนกเป็นผู้ลงทะเบียน Online จำนวน 5,722 คน และผู้ลงทะเบียนภายในงานจำนวน 9,283 คน และยังมีการจับสลากชิงรางวัล เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Tablet) โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ทั้งนี้จากการติดตามประเมินผลการจัดงาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์” ในครั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายรวบรวมข้อมูลจากนักเรียน/นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมงาน จำนวน 2,000 คน และสามารถเก็บรวบรวมได้ 1,696 คน คิดเป็นร้อยละ 84.8 ของกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยแบบสอบถามผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 1,505 คน และสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 191 คน ปรากฏผลดังนี้
- ผู้เข้าร่วมงาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์” พบว่า เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศ
- ชายและกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมงานเป็นครูผู้สอนมากที่สุด รองลงมา คือนักเรียน/นักศึกษา และข้าราชการ/พนักงานราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ
- การรับทราบข้อมูลการจัดงาน พบว่า ส่วนใหญ่รับทราบข้อมูลจากสถานศึกษามากที่สุด รองลงมา คือเว็บไซต์/อินเทอร์เน็ต หนังสือเวียนหน่วยงาน และเพื่อน/คนรู้จัก ตามลำดับ
- ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงานที่มีต่อการจัดงานในภาพรวม พบว่า มีความพึงพอใจต่อการจัดงานโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาจำแนกเป็นรายประเด็น พบว่า ประเด็นที่มีความพึงพอใจมากที่สุด คือ การจัดงานดังกล่าวทำให้ได้รับความรู้และเป็นประโยชน์ และประเด็นที่มีความพึงพอใจน้อยที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์งาน
- การเข้าร่วมกิจกรรมภายในงาน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการเข้าร่วมชมบูธนิทรรศการแสดงผลงานมากที่สุด สำหรับกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมงานมีความเห็นว่ามีความสนใจมากที่สุด คือ กิจกรรม/นิทรรศการที่เกี่ยวกับด้านภาษา รองลงมา คือ ด้านความรู้และการคิดวิเคราะห์ ด้านนวัตกรรม สื่อและเทคโนโลยี และด้านภาษาเพื่ออาชีพ ตามลำดับ
- ความรู้ที่ได้รับและประยุกต์ใช้ความรู้ พบว่า ด้านภาษาต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ได้รับความรู้และทักษะในการพัฒนาตนเอง ในขณะที่ด้านการคิดวิเคราะห์ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าช่วยให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลมากขึ้น
- ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะภาษาและคิดวิเคราะห์
@ การพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศของผู้เข้าร่วมงาน พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศจากห้องเรียนและสถานศึกษา รองลงมา คือ ฝึกฝนด้วยตนเองผ่านการดูหนัง ฟังเพลง และอ่านหนังสือ และการเรียนรู้ผ่านโลกอินเตอร์เน็ตหรือ Social Network ตามลำดับ
@ สาเหตุและแนวทางในการพัฒนาทักษะด้านภาษา พบว่า ด้านภาษาไทย ส่วนใหญ่เห็นว่าการสื่อสารภาษาไทยบนโลกอินเตอร์เน็ต Social Network ส่งผลต่อการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และในด้านภาษาต่างประเทศ ส่วนใหญ่เห็นว่าเด็กไทยยังไม่กล้าแสดงออก หรืออายที่จะพูดภาษาต่างประเทศในที่สาธารณะ ซึ่งแนวทางการพัฒนาทักษะทางด้านภาษา ส่วนใหญ่เป็นว่าควรปรับและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ มีสื่อนวัตกรรมในการกระตุ้นการเรียนรู้ และส่งเสริมการฝึกใช้ทักษะภาษาให้มากขึ้น
@ สาเหตุและแนวทางในการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ พบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าหลักสูตรเน้นการท่องจำเนื้อหามากกว่าการฝึกคิดวิเคราะห์ ซึ่งแนวทางในการพัฒนากระบวรการคิดวิเคราะห์ ส่วนใหญ่เห็นว่าควรพัฒนาครูให้มีทักษะการสอนเชิงคิดวิเคราะห์ ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เน้นให้เด็กมีทักษะทางภาษาอย่างมีคุณภาพ และปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เน้นการวิเคราะห์
@ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะภาษาและการคิดวิเคราะห์ พบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเทคนิคและกระบวนการเรียนการสอนเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุด รองลงมา คือ ครูผู้สอน สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ หลักสูตร และโมเดลหรือตัวอย่างที่ดี ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะในการจัดงานครั้งต่อไป
- ด้านการประชามสัมพันธ์ ควรเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ก่อนการจัดงานให้มากขึ้นและหลากหลาย รวมถึงเพิ่มจุดประชาสัมพันธ์ภายในบริเวณงาน ป้าย และแผนผังการจัดงานให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทราบกิจกรรมการจัดงานในบริเวณพื้นที่ต่างๆ
- ด้านสถานที่ ควรแบ่งพื้นที่การจัดกิจกรรมให้ชัดเจนเป็นสัดส่วน และควรให้มีผนังกั้นระหว่างเวทีกลางกับพื้นที่จัดบูธนิทรรศการ เพื่อป้องกันเสียงรบกวน รวมถึงจัดหาพื้นที่รับประทานอาหารกลางวันสำหรับผู้เข้าร่วมงาน และเพิ่มเก้าอี้นั่งพัก และถังขยะให้มากขึ้น
รูปแบบการจัดกิจกรรม
- กำหนดหัวข้อของกิจกรรม ควรคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมงานให้สามารถเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้
- การจัดกิจกรรม/บูธนิทรรศการ ควรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบการจัดแสดงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เข้าร่วมงาน
- ขอความร่วมมือหน่วยงานที่ออกบูธนิทรรศการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการจัดงาน