วิธีที่จะให้รู้ศัพท์เยอะ ๆ ไม่ว่าในภาษาไหน ๆ ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของการฝึกความจำ
แน่นอนครับ สมัยนี้การท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง แบบที่เรียกว่า rote learning นั้น ตกอันดับความนิยมไปแล้ว แต่ความจริงก็คือว่าสำหรับการเรียนบางอย่าง การท่องจำยังคงจำเป็นอยู่
เคล็ดลับในการท่องจำคือการโยงสิ่งใหม่ ๆ ให้เข้ากับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว พยายามนึกมันให้เป็นภาพที่พิลึกกึกกือ (จะได้ลืมยาก) แล้วทบทวนสม่ำเสมอจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา
หลักสำคัญในการจำมีอยู่สามอย่างครับ คือ 1) การโยงกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว 2) การนึกภาพให้ชัด และ 3) การทบทวน
ทีนี้สมมุติว่าคุณเจอศัพท์ carnivorous ซึ่งไม่คุ้นตา คุณก็เปิดดิกพบว่ามันแปลว่า นิยมกินเนื้อ และถ้าคุณใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีรากศัพท์ด้วย เขาอาจอธิบายว่ามันมาจากภาษาลาติน carnivorus ซึ่งมาจาก carn- ที่แปลว่า เนื้อ
ถ้าคุณเป็นคนชอบอ่านก็อาจจะนึกขึ้นได้ว่ายังมีศัพท์อื่นที่มีรากศัพท์คล้าย ๆ กัน เช่น chili con carne ซึ่งเป็นอาหารที่มีองค์ประกอบสำคัญคือพริกกับเนื้อวัว หรือ reincarnation ที่แปลว่ากลับชาติมาเกิดก็มีรากศัพท์ carn- เหมือนกัน คือกลับมามีกายเนื้ออีกครั้ง
แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนชอบอ่าน ไม่มีศัพท์ไหนในความทรงจำที่สามารถจะเชื่อมโยงกับตัวใหม่ที่คุณพบได้ ก็อาจจะต้องใช้วิธีโกงเล็กน้อย นั่นคือนึกภาพขาหมูชิ้นเบ้อเริ่ม แล้วบอกตัวเองว่า “ขานี้” หมายถึงอะไรที่เกี่ยวกับเนื้อ
ส่วน -vorous ก็อาจโยงกับคำเช่น devour = กินอย่างดุเดือด เขมือบ หรือเทียบกับคำเช่น omnivorous = นิยมกินทุกอย่าง herbivorous = นิยมกินพืช
อีกวิธีคือการคิดหาตัวอย่างการใช้คำใหม่ ๆ เหล่านั้นทันทีที่เราได้ทราบความหมายของมัน
เช่นเมื่อรู้จักคำว่า carnivorous เราก็อาจนึกถึงสัตว์ที่ชอบกินเนื้อ อย่างเสือ ไดโนเสาร์ T-Rex จระเข้ ฯลฯ และถ้าจะให้ดีก็วาดรูปลงกระดาษเลย มีคำว่า carnivorous เขียนตัวโต ๆ อยู่ตรงกลางหน้ากระดาษ แล้ววาดเส้นโยงรูปสิงสาราสัตว์ที่นิยมกินเนื้อทั้งหลายให้อยู่ล้อมรอบคำนั้น
กระดาษแผ่นนั้นเราเอาแปะไว้ตรงไหนที่เรามักจะพักสายตาบ่อย ๆ เมื่อเห็นบ่อย ๆ ก็จำได้เอง.
ติดตามผมได้ทาง Twitter @boonhod
คอลัมน์ ฟอไฟฟุดฟิด โดย บ๊อบ บุญหด
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์