วัยรุ่นกับการเมืองไทยยุคไอที ครูติ๋ว
ในช่วงปี พ.ศ.2543 นั้น มีการเลือกตั้งกันหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี 2543 กับต้นปี 2544 ที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์หรือ ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองเก่า พรรคใหม่ พรรคเล็ก พรรคใหญ่ พรรคคนจน หรือพรรคมหาเศรษฐี ต่างระดมกลยุทธ์สารพัดเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง จนบางครั้งผมยังอดแปลกใจไม่ได้ว่าเหตุไฉนประเทศไทยถึงได้พัฒนาล่าช้าขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่มีคนดี คนเก่ง คนที่เสียสละ จำนวนมากที่ต่างแย่งอาสาที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศชาติชนิดที่ว่าหายใจเข้าเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ หายใจออกเป็นการทำเพื่อประชาชน มานานแสนนานทุกยุคทุกสมัยที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง แต่แล้วก็ทำใจและยอมรับว่าทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนเลว ดังนั้นการหาเสียงและการเสนอนโยบายหาเสียงนั้นเป็นเพียงลมปากที่คนกลุ่มหนึ่งผายออกมาเพื่อขอคะแนนเสียงในการก้าวสู่การมีอำนาจเท่านั้น (มีคนกล่าวแบบติดตลกว่าที่ประเทศแย่เพราะเวลาเลือกตั้งเราเอาคนที่ได้เครื่องหมายกากบาทเยอะ ๆ เข้ามาเป็นผู้แทน เวลามาเป็นผู้บริหารเลยทำแต่สิ่งผิด ๆ ต้องเปลี่ยนจากเครื่องหมายกากบาทมาเป็นเครื่องหมายถูกแทน เผื่อว่าจะได้ทำอะไรที่ถูกต้องมากขึ้น)
ในยุคไอทีนี้ พรรคการเมืองต่าง ๆ มีการเริ่มนำเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ไฮเทคมาใช้ในการหาเสียงและสร้างภาพลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์หาเสียงโดยใช้สื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นอีกสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ เพราะเป็นสื่อการประชาสัมพันธ์ที่ประหยัดและสร้างภาพให้พรรคดูว่ามีความทันสมัย ทันกับการเปลี่ยนแปลงกับกระแสโลกาภิวัฒน์
พรรคการเมืองได้เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มของวัยรุ่นมากขึ้น หลังจากกฎหมายรัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ พรรคการเมืองหลายพรรคได้มีการนำคนวัยหนุ่มสาวมาเปิดตัวในฐานะตัวแทนพรรคและผลักดันกระแสคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างฐานเสียงในกลุ่มของวัยรุ่นและผู้ที่เชื่อในพลังความคิดของความเป็นหนุ่มสาวว่าจะทำงานโดยไม่มีเรื่องราวของผลประโยชน์หรือสิ่งใดแอบแฝง และพรรคการเมืองพยายามสร้างคะแนนเสียงจากกลุ่มวัยรุ่นนี้ดังตัวอย่างการแข่งขันในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครในช่วงกลางปี 2543 ที่บรรดาผู้ลงสมัครหลายคนต่างพยายามลดอายุ ลดวัย และสังขาร มาแสดงท่าทีที่เข้าใจและเอาอกเอาใจกลุ่มวัยรุ่นขาโจ๋ที่เซ็นเตอร์พ้อยต์กันมากเป็นพิเศษ
ในส่วนของวัยรุ่นที่เริ่มมีส่วนร่วมกับการเมืองมากขึ้นนั้นก็ได้มีความสนใจเรื่องของการเมืองมากขึ้นด้วย มีการจับกลุ่มสนทนากันตามห้องสนทนา (Chat Room) มีการนำเสนอความคิดเห็นตามกระดานข่าว (Web Board) แม้ว่าภาพที่มองนั้นส่วนใหญ่จะเป็นภาพลบมากกว่าบวกก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่วัยรุ่นได้เรียนรู้ถึงปัญหาการเมืองไทย และหากวัยรุ่นได้รับการหล่อหลอมและสั่งสมประสบการณ์สำหรับแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีออกจากกันได้แล้วย่อมส่งผลให้การพัฒนารูปแบบการเมืองไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต การเบื่อ การไม่ยุ่งหรือไม่สนใจการเมืองไทยนั้นไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหา กลับกลายเป็นช่องทางให้นักการเมืองที่ทุจริตดำเนินการได้ง่ายยิ่งขึ้น
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองของวัยรุ่นนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในบางครั้งต้องพิจารณารูปแบบการเข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพราะกิจกรรมบางอย่างนั้นอาจไม่เหมาะสมเช่นการเข้าร่วมประท้วงโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผมเองนั้นรู้สึกเป็นห่วงและไม่สนับสนุนเลยที่เห็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มีหน้าที่ในการศึกษา แสวงหาความรู้ เพื่อการดำรงชีพและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต เข้าร่วมในการประท้วงที่มีการใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการให้เยาวชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดหรือบทบาทในสังคม แต่เกรงว่าเยาวชนเหล่านั้นจะกลายเป็นเครื่องมือของบุคคลบางกลุ่ม เพราะเรื่องราวต่าง ๆ นั้น มักมีที่มาและที่ไปค่อนข้างซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลประโยชน์ วัยรุ่นในยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูและยุคที่มีภัยใกล้ตัวสารพัดจำเป็นต้องคิดและพิจารณาให้ละเอียดรอบครอบมากยิ่งขึ้นก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไป