นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารฝ่ายการเมือง ประชุมกับผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 ระหว่างเวลา 8.30-12.30 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม โดยได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ ในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้
• การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษา
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ โดยกล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานข้อมูลการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาตามนโยบายของ ศธ.ว่า ในปัจจุบันสัดสวนผู้เรียนต่อสายสามัญเป็น 36:64 แต่ในปีการศึกษา 2557 ได้วางแผนจะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญเป็น 45:55 และในปีการศึกษา 2558 จะเพิ่มขึ้นสัดส่วนเป็นผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญเป็น 51:49
โดยในปีการศึกษานี้ จะมีผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.3 จำนวน 851,800 คน ดังนั้น สอศ.จึงได้กำหนดเป้าหมายในการรับผู้เรียน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อให้ผู้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากร้อยละ 36 เป็นร้อยละ 45 หรือจำนวน 383,310 คน ในจำนวนนี้จะเป็นสถานศึกษาอาชีวะของรัฐร้อยละ 63 และอาชีวะเอกชนร้อยละ 37 ในขณะที่ผู้เรียนสายสามัญจะลดสัดส่วนลงเหลือร้อยละ 55 หรือจำนวน 468,490 คน
ดังนั้น สอศ.ได้ขอความร่วมมือให้ สพฐ.ปรับแผนการรับนักเรียน เพื่อส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษา ดังนี้
- ขอให้ทุกสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ออกใบแสดงผลการเรียนให้นักเรียน ก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2556
- การรับนักเรียนชั้น ม.4 จำนวนนักเรียนไม่ควรเกิน 40 คนต่อห้อง หากจำเป็นก็ควรไม่เกิน 45 คนต่อห้อง และที่สำคัญคือไม่ควรเพิ่มจำนวนห้องเรียน ซึ่ง รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สพฐ.สำรวจจำนวนนักเรียนจริงต่อห้องในโรงเรียนทั่วประเทศ
- เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าไปแนะแนวอาชีพ และวัดแววความถนัดนักเรียนในโรงเรียน สพฐ. พร้อมทั้งให้เข้าร่วมการประชุมผู้ปกครองของโรงเรียน เพื่อเสนอแนวทางการเรียนต่อสายอาชีวะ (Road Show) ด้วย
- ขอให้มีการสำรวจความสนใจในการเรียนต่อของนักเรียนชั้น ม.3 เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการแนะแนว
นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.มีความยินดีที่จะพิจารณาจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนในชั้น ม.4 ตามข้อเสนอ โดยคาดว่าเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะได้ประชุมหารือเพื่อปรับระเบียบการรับนักเรียนต่อไป ทั้งนี้ สพฐ.ได้เสนอแนวทางการส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะว่า จะจัดประชุมครูแนะแนวเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนสายอาชีวะ รวมทั้งเสนอแนะให้ สอศ.จัด Open House เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองเรียนหรือศึกษาดูงานในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ตลอดกระบวนการตั้งแต่เรียนจนถึงทำงาน ได้แก่ การเรียน เรียนวิชาอะไร อย่างไร บรรยากาศในการเรียน เมื่อจบแล้วมีงานทำหรือไม่ มีรายได้เท่าใด เพื่อทำให้นักเรียนที่สนใจได้มองเห็นภาพรวมของการเรียนสายอาชีวะอย่างชัดเจนมากขึ้น
สำหรับปฏิทินการดำเนินงานที่ สพฐ./สอศ./สช./กศน.จะต้องดำเนินการร่วมกันในการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะ มีดังนี้
- การจัดทำ School mapping การรับนักเรียนอาชีวศึกษาระดับจังหวัด
- การจัดทำแผน Road Show และประชุมครูแนะแนวทุกสังกัด 5 ภูมิภาค ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556
- สอศ.จะร่วมกับสถานประกอบการ แนะนำอาชีพในโรงเรียนของ สพฐ. และวัดแววความถนัดทางช่าง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2556
- ประชาสัมพันธ์ภาพรวมการรับนักเรียนอาชีวศึกษาแนวใหม่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556-มีนาคม 2557
• ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อการศึกษา
1) การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา อยู่ในระหว่างการออกระเบียบสำนักนายกฯ เพื่อจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อส่งเสริมการผลิต วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อสามารถใช้และรับเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มากขึ้น เพื่อเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และสอดคล้องกับความต้องการของการศึกษาชาติ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งได้ภายใน 3 เดือนนี้
2) แผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษา ศธ.จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนและกำหนดแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษา เพื่อต้องการให้สามารถใช้ ICT เพื่อการศึกษาเต็มระบบได้ภายในปี 2020 ซึ่ง รมว.ศธ.เห็นว่าควรมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการวางแผนจัดระบบต่อเนื่องกันไปในการจัดทำแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษาที่ควรเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ นอกจากนี้ควรหาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์จากในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาช่วยวางแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษา
3) เนื้อหาสาระที่จะบรรจุลงในแท็บเล็ต สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานความก้าวหน้าถึงแนวทางการจัดหาสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ ที่ได้นำเสนอให้รับทราบแนวทางวิธีดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 ที่จะมีการรวบรวมสื่อ การจ้างที่ปรึกษาพัฒนา Application/e-Publishing/3D games มีการวางแผนจัดซื้อสื่อที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ การจัดจ้างแปลงสื่อที่มีคุณภาพ การจัดเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบและเป็นหมวดหมู่ เพื่อเข้าถึงอย่างรวดเร็ว
รมว.ศธ. ฝากประเด็น สื่อที่จะพัฒนาควรมีความครอบคลุมครบทุกรายวิชาหรือไม่ และการใช้สื่อควรพิจารณาในภาพรวมของ ศธ. ซึ่งจะต้องโยงไปหลายเครื่องมือ นอกจากนี้ ควรมีการแปลสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ของต่างประเทศให้สอดคล้องกับบริบทและหลักสูตรของไทย
4) Smart Classroom สพฐ.ได้นำเสนอตัวอย่างและวิธีการจัดการเรียนการสอนด้วย Smart Classroom ซึ่ง รมว.ศธ. เห็นว่าสิ่งสำคัญของการเป็น Smart Classroom คือ วิธีสอนและวิธีเรียน ที่จะต้องให้เด็กร่วมกันคิด ร่วมกันถกอภิปราย แสดงความเห็นร่วมกัน โดยต้องนำผู้รู้ที่มีประสบการณ์มาช่วยวางระบบ มีการเลือกโรงเรียนนำร่องให้คละกันทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนที่มีนักเรียนอ่อนมากๆ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนได้ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ให้เห็นถึงผลของการใช้ที่เหมาะสมมากกว่าไปเน้นที่จัดซื้อราคามหาศาล แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการเรียนการสอน และในการวางแผนขอให้คิดเป็นระบบ เช่น พิจารณาไปถึงการให้ครูไปศึกษาดูงาน Smart Classroom ในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน หรืออาจร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการถอดบทเรียนมาใช้ประโยชน์และร่วมพัฒนา Smart Classroom ให้ตรงตามคอนเซ็ปท์ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา และสอดคล้องกับนโยบายในการนำ ICT มาใช้เพื่อการศึกษาต่อไป
• การเรียนการสอนภาษา
1) ภาษาต่างประเทศ สพฐ.ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การเรียนการสอนภาษาอังกฤษ พ.ศ.2556-2561 ที่ได้วางแผนจัดทำแนวทางการพัฒนาและสร้างครู การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาและส่งเสริมการใช้สื่อและนวัตกรรม การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้โครงการพิเศษ การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ระหว่างภาคเรียนและปิดภาคเรียน การประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน และการวิจัยเพื่อพัฒนา
รมว.ศธ.ได้ฝากข้อคิดว่า เราต้องการผลลัพธ์แบบใด เพราะการสอนภาษาต่างประเทศหากทำแบบรดน้ำไปทั่ว ก็ไม่ค่อยได้ผล และมีความจำเป็นที่จะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนหรือการทดสอบภาษาอังกฤษของไทยกันมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการสอนภาษาที่ควรเน้นให้สามารถสื่อสารได้ ไม่ใช่เน้นที่ Grammar ซึ่งวิธีการสอนที่สำคัญคือ จะต้องมีครูเจ้าของภาษา (Native Speakers) เข้ามาช่วยสอน มีการนำสื่อที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน และการสอนภาษาต่างประเทศให้ได้ผลมากๆ คือ ต้องเรียนแบบเข้ม (Intensive) เช่น มีการจัดค่ายภาษาในช่วงปิดเทอมที่ใช้เวลามากพอสมควร 2-4 สัปดาห์ขึ้นไป หรือจัดห้องเรียนที่เน้นการสนทนา (Conversation Class) ซึ่งหากเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่ไม่มีครูภาษาอังกฤษอาจจะเริ่มต้นลำบาก ดังนั้น สพฐ.ต้องมาช่วยดูแลมากขึ้น แต่โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีครูสอนภาษาอังกฤษโดยตรง ก็ยังไม่มี Class แบบนี้มากนัก ในส่วนของอาชีวศึกษา หากเทอมสุดท้ายสามารถสอนภาษาอังกฤษอย่างเดียว หรือสอนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 80% ก็จะทำให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เท่าที่จำเป็นต่อการทำงานในสถานประกอบการ เมื่อจบออกไปสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อประโยชน์ในการทำงานได้ทันที
2) ภาษาไทย สพฐ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในโครงการสแกนนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ที่จะมีแผนดำเนินการในปีต่อๆ ไป ที่จะมีการ "เร่ง เริ่ม เสริม สร้าง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการระดมช่วยเหลือนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในระดับชั้นต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยโยงไปกับการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ซึ่ง สพฐ.จะเป็นเจ้าภาพหลักในการยกร่างคณะกรรมการระดับนโยบาย ที่มี รมว.ศธ.เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ที่จะต้องเชื่อมกับหลายหน่วยงาน โดย รมว.ศธ.ขอให้เร่งหารือกับ ศ.พิเศษภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ