บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
โรงเรียนบ้านเกษม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 2
ผู้วิจัย นายรองรัตน์ สีหา
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านเกษม
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพี่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนที่ถูกต้องและเพื่อให้บุคลากรมีทักษะด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนที่มีคุณภาพและนำผลการวิจัยในชั้นเรียนไปพัฒนาการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
กระบวนการวิจัยที่ผู้วิจัยและครูได้นำไปใช้ในการปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียนเป็นการวิจัยตามรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action research) ซึ่งมีวงจรการทำงานเป็นขั้น ๆ ได้แก่ ขั้นการวางแผนดำเนินงาน (planning) ขั้นลงมือปฏิบัติตามแผน (acting) ขั้นการสังเกต (observing) และขั้นสะท้อนผลกลับ (reflecting) โดยแบ่งเป็น 2 วงรอบ คือ วงรอบที่ 1 เป็นวงรอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและศึกษาพัฒนาความรู้ด้วยตนเองในด้านความรู้ความเข้าการวิจัยในชั้นเรียนให้ถูกต้อง และวงรอบที่ 2 เป็นวงรอบการปฏิบัติงานวิจัยในชั้นเรียนของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษา คือ ครูผู้สอนโรงเรียนบ้านเกษม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 2 จำนวน 8 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญประกอบด้วย ผู้บริหาร คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน ครูสายผู้สอน จำนวน 8 คน ศึกษานิเทศก์สำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 2 จำนวน 1 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6
ห้องละ 10 คน รวมนักเรียน จำนวน 60 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ มี 8 ชุด ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน 2)แบบสังเกตพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย มี 2 ฉบับ ได้แก่ 2.1) แบบสังเกตพฤติกรรมระหว่างฝึกอบรมการวิจัยในชั้นเรียน 2.2) แบบสังเกตพฤติกรรมระหว่างปฏิบัติงานวิจัยในชั้นเรียน 3) แบบสัมภาษณ์ขณะดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน 4) แบบวิเคราะห์เอกสารการดำเนินงานวิจัยในชั้นเรียน 5) แบบประเมินผลงานการวิจัยในชั้นเรียน 6) หลักสูตรการฝึกอบรมการวิจัยในชั้นเรียนและ 7) แบบทดสอบท้ายบทระหว่างการฝึกอบรมการวิจัยในชั้นเรียน และเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยแยกเป็นข้อมูล 2 ประเภท คือ 1) ข้อมูลเชิงปริมาณ วิเคราะห์ด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2) ข้อมูลเชิงคุณภาพ ตรวจสอบโดยใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลหลายมิติ ได้แก่ มิติด้านข้อมูล (Data Triangulation) มิติด้านผู้วิจัย (Investigator Triangulation) มิติด้านทฤษฎี (Theory Triangulation)และมิติด้านวิธีรวบรวมข้อมูล (Methodological Triangulation) และดำเนินการคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ผลการวิจัยพบว่า
วงรอบที่ 1 จากการพัฒนาบุคลากรด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การวิจัยใน
ชั้นเรียนตามหลักสูตรการฝึกอบรมของสำนักพัฒนาการฝึกหัดครู สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2544 พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมระหว่างการฝึกอบรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ พฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมขณะฝึกอบรม รองลงมา คือ ความสนใจการศึกษาเพิ่มเติม การทำงานที่ได้รับมอบหมาย และความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาการฝึกอบรม ตามลำดับ ส่วนพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฝึกอบรมมีระดับน้อย และผลการทดสอบระหว่างการฝึกอบรมโดยภาพรวมทุกคนผ่านเกณฑ์ ถ้าพิจารณารายด้านโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย พบว่า การค้นหาและพัฒนานวัตกรรมมีคะแนนสูงสุด รองลงมา คือ การเขียนเค้าโครงการวิจัยในชั้นเรียน การออกแบบการวิจัยในชั้นเรียน การเขียนรายงานการวิจัย
การประมวลผล ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน และการวิเคราะห์ปัญหามีผลคะแนนใกล้เคียงกัน ตามลำดับ ส่วนการสร้างเครื่องมือการวิจัยในชั้นเรียนมีคะแนนต่ำสุดแต่อยู่ในระดับที่ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้
วงรอบที่ 2 จากการที่กลุ่มเป้าหมายได้ฝึกปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน โดยกำหนดให้วิจัยในชั้นเรียนอย่างน้อยคนละ 1 เรื่อง โดยภาพรวมกลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมอยู่ในระดับมาก พฤติกรรมเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ กลุ่มเป้าหมายมีความตั้งใจเอาใจใส่การปฏิบัติงานวิจัย สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในการทำงานของตนได้ และเป็นรูปธรรมชัดเจนสามารถสังเกตได้อยู่ในระดับมากที่สุดเท่ากัน ส่วนพฤติกรรมการสนทนาซักถาม จดบันทึกเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษาอยู่ในระดับมาก พฤติกรรมมีการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาก่อนดำเนินการและความสามารถวางแผนในการพัฒนาตนเองได้ในระยะยาวอยู่ในระดับมาก มีการศึกษาเอกสารข้อมูลในการปฏิบัติงานวิจัย มีการวางแผนกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ความชัดเจนและมีการนำเทคนิคและผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยของตนเองอยู่ในระดับกลางตามลำดับ และระดับน้อย คือมีการวางแผนการประเมินผลการพัฒนาทุกครั้งอย่างเป็นระบบแต่สามารถยอมรับได้เพราะมีพฤติกรรมอยู่ในระดับปานกลาง
ผลการประเมินการพัฒนาบุคลากรด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนของกลุ่มเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการพัฒนา พบว่า 1) บุคลากรครูมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการ และรูปแบบการวิจัยในชั้นเรียนสูงขึ้นเพราะสามารถผ่านเกณฑ์การทดสอบที่ตั้งไว้ 2) บุคลากรครูสามารถจัดทำการวิจัยในชั้นเรียนจนแล้วเสร็จทุกคนและจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจนเป็นที่ประจักษ์จากการรับรองผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานการศึกษา รอบ 2 จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โดยที่มีครูจำนวน 5 คน สามารถเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนอยู่ในระดับดี ครูจำนวน 2 คน สามารถเขียนรายงานการวิจัยอยู่ในระดับพอใช้ ส่วนครูอีกจำนวน 1 คน สามารถเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนอยู่ในระดับที่จะต้องปรับปรุง ส่วนระดับคุณภาพและความสอดคล้องกับหัวข้อการวิจัยในชั้นเรียนนั้น พบว่า ระดับคุณภาพและความสอดคล้องในหัวข้อการวิจัยอยู่ในระดับดี โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมากรองลงมาคือการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหากับเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์แต่อยู่ในระดับปานกลาง