นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการพิจารณาของที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 เรื่อง ข้อสรุปของการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ทุกสังกัด
รมว.ศธ.กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ศธ.ได้เคยพิจารณาการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนในส่วนของอุดมศึกษา โดยมีสถาบันการศึกษาจำนวนหนึ่งได้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 เป็นช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ (ประเทศตะวันตก) และก็ได้มีการพิจารณาต่อเนื่องต่อไปว่า ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาควรจะเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนด้วยหรือไม่ ซึ่งเดิมมีข้อสรุปว่าจะเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 10 มิถุนายน และภาคเรียนที่ 2 จากวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันที่ 26 พฤศจิกายน และได้มีการเห็นชอบแล้ว แต่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขระเบียบและได้มีการเผยแพร่เป็นข่าวทางสื่อต่างๆ ไปบ้างแล้ว
ต่อมา ศธ.ได้มีการหารือ รับฟังความคิดเห็น และสำรวจความคิดเห็น ทั้งที่ รมว.ศธ.ได้ร่วมหารือเอง และมอบหมายให้ รมช.ศธ. และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และองค์กรหลักหารือร่วมกัน รวมทั้งมีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียน กับไม่เลื่อนเปิดปิดภาคเรียน ดังนี้
|
ตารางเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย
การเลื่อนเปิดปิดภาคเรียน กับไม่เลื่อนเปิดปิดภาคเรียน
|
|
|
การเปิดปิดภาคเรียน
|
ข้อดี
|
ข้อเสีย
|
ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ
|
|
|
เดิม
ภาคเรียนที่ 1
เปิด 16 พฤษภาคม
ปิด 11 ตุลาคม
ภาคเรียนที่ 2
เปิด 1 พฤศจิกายน
ปิด 1 เมษายน
|
1. ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม
2. ไม่กระทบต่อประเพณีสงกรานต์
3. นักเรียน ม.6 มีเวลาดูหนังสือ เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเรียนจบหลักสูตรก่อนการสอบ
แอดมิชชั่น
4. ไม่ต้องแก้ไขระเบียบ กฎหมาย
ที่เกี่ยวข้อง
5. ไม่กระทบต่อการขอรับเงินอุดหนุนรายหัว
6. ผู้สำเร็จ ปวช./ปวส. เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันความต้องการ
7. ไม่กระทบต่อปัญหาการใช้พลังงานไฟฟ้าและการขาดแคลนน้ำดื่ม เนื่องจากภัยแล้ง
|
1. นักศึกษาฝึกสอนคณะครุศาสตร์ ไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการฝึกสอน |
1. กำหนดเวลาการเปิดปิดภาคเรียนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศในกลุ่มอาเซียนเปิดปิดไม่พร้อมกัน ดังนี้
- กลุ่มหนึ่ง เปิดช่วงเดือนมกราคม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสิงคโปร์
- กลุ่มสอง เปิดช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
- กลุ่มสาม เปิดช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ได้แก่ กัมพูชา ลาว
เมียนมาร์ และเวียดนาม
2. การสอบแอดมิชชั่น ทปอ. ให้สถาบันอุดม- ศึกษา ปรับปฏิทินการรับนักศึกษาแล้ว การเลื่อนหรือไม่เลื่อนเปิดปิดภาคเรียนไม่กระทบ โดยในปี 2557 การสอบแอดมิชชั่นอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
3. การสอบ GAT/PAT การเลื่อนหรือไม่เลื่อนเปิดปิดภาคเรียนมีผลเท่ากัน เพราะอยู่ในช่วงเวลาเรียนเช่นเดียวกัน
4. หากเลื่อนการเปิดปิดภาคเรียน อาจส่งผลให้นักศึกษาต้องใช้เวลาในการเรียนมากกว่าเดิมจากเดิม 16 ปี เป็น 16 ปีครึ่ง เพราะสถาบันอุดมศึกษาได้เลื่อนเวลาเปิดปิดภาคเรียนออกไป
|
|
|
ใหม่
ภาคเรียนที่ 1
เปิด 10 มิถุนายน
ปิด 4 พฤศจิกายน
ภาคเรียนที่ 2
เปิด 26 พฤศจิกายน
ปิด 26 เมษายน
|
1. นักศึกษาฝึกสอนคณะครุศาสตร์ ไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการฝึกสอน
2. ระยะห่างของการปิดภาคเรียนนักเรียน ม.6 จะมีเวลาเหมาะสมกับการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย
|
1. ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ อาจประสบปัญหาน้ำท่วม การจราจรติดขัด
2. กระทบต่อประเพณีวันสงกรานต์
3. ต้องแก้ไขระเบียบกฎหมาย
ที่เกี่ยวข้อง
4. กระทบต่อการขอรับเงินอุดหนุนรายหัว
5. ผู้สำเร็จ ปวช./ปวส. อาจเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ทันความต้องการ
6. กระทบต่อปัญหาการใช้พลังงานไฟฟ้าและการขาดแคลนน้ำดื่ม เนื่องจากภัยแล้ง
|
|
ดังนั้น ศธ.จึงมีมติไม่เลื่อนเปิดปิดภาคเรียน หมายความว่า จะให้มีการเปิดปิดภาคเรียนเช่นเดิม คือ ภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 16 พฤษภาคม-11 ตุลาคม และภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน-1 เมษายน เพราะมีข้อดีมากกว่าการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนมาก ที่สำคัญคือ เมื่อคำนึงถึงการเรียนส่วนใหญ่ของนักเรียน กล่าวคือ ป.1-ม.5 มีความสอดคล้องในแง่ภูมิอากาศ การใช้พลังงาน ประเพณี ที่จะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน หากมีการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนก็จะมีผลกระทบทั้งการแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และกระทบต่อการขอรับเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนที่จะต้องใช้ฐานข้อมูลนักเรียน ณ วันที่ 10 มิถุนายน เป็นต้น
ในส่วนของอาชีวศึกษา ได้เสนอความเห็นว่าการศึกษาของอาชีวะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยน้อย และการเปิดปิดภาคเรียนเช่นเดิมมีความสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากกว่า เพราะตลาดแรงงานมีความต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฉะนั้น การสำเร็จการศึกษาในช่วงปลายเดือนมีนาคมก็จะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานมากกว่า
ในช่วงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ป.1-ม.5 และอาชีวศึกษามีช่วงเวลาเรียนที่ยาว 11 ปีการศึกษา ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 พบว่า หากการศึกษาพื้นฐานเปิดปิดภาคเรียนเช่นเดิม คือ เปิดวันที่ 16 พฤษภาคม และปิดเรียนตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนในปีต่อไป จะทำให้มีช่วงเวลาก่อนมหาวิทยาลัยจะเปิดเทอมยาวขึ้นถึง 4 เดือน ซึ่งช่วงเวลาที่ยาวขึ้นกว่าเดิมเมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่เป็นปัญหา แต่เป็นโอกาสดี เช่น ในบางประเทศใช้ช่วงเวลายาวๆ ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับเรียนภาษาเพิ่มเติม เรียนบางวิชาเพื่อเตรียมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ในกรณีของประเทศไทย การที่ช่วงเวลาจบ ม.6 จนถึงก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยยาวขึ้น จะทำให้สามารถจัดระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย หากจะมีการขอความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยเลื่อนการสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยไปสอบเมื่อนักเรียนจบการศึกษาชั้น ม.6 ก็คือ หลังวันที่ 1 เมษายน ก็จะทำให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัวและมหาวิทยาลัยมีเวลาในการจัดการสอบได้ดีขึ้น
ดังนั้น หากการระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ไม่เลื่อนเปิดปิดภาคเรียน จะทำให้นักเรียนชั้น ม.6 มีช่วงเวลาว่างยาวขึ้นก่อนการเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย ซึ่งเลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นเดือนสิงหาคม ถึง 4 เดือน เมื่อได้หารือร่วมกันทั้ง ศธ.แล้ว ก็อาจจะใช้เป็นโอกาสในการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่ง สทศ.มีความเห็นว่า การสอบ O-Net ของ สทศ.ควรจะจัดสอบหลังจากนักเรียน ม.6 จบการศึกษาแล้ว และมีความยินดีที่จะขยับช่วงเวลาการสอบของ สทศ.ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาปิดเทอมที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้สำรวจความคิดเห็นของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้แทนภาคเอกชน รวมทั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาและผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 15,696 คน ต่อการเลื่อนหรือไม่เลื่อนเปิดปิดภาคเรียน ได้ผลพบว่า ร้อยละ 54.54 เห็นด้วยกับการเปิดปิดภาคเรียนเช่นเดิม (เทอม 1 เปิด 16 พฤษภาคม-11 ตุลาคม และเทอม 2 เปิด 1 พฤศจิกายน-1 เมษายน) ร้อยละ 27.44 เห็นด้วยกับการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัย และร้อยละ 18.02 เห็นด้วยกับการเปิดปิดภาคเรียนตามที่เคยมีข้อสรุปไว้ (เทอม 1 เปิด 10 มิถุนายน-4 พฤศจิกายน และเทอม 2 เปิด 26 พฤศจิกายน-26 เมษายน) จากผลสำรวจพบว่า มีผู้เห็นด้วยกับการเลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 10 มิถุนายน น้อยมาก ในความเป็นจริงแล้วผลการสำรวจความคิดเห็นอาจจะมีความคาดเคลื่อนได้ แต่การสำรวจครั้งนี้ทำให้เห็นความแตกต่างของความเห็นอย่างชัดเจน
รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เปิดปิดภาคเรียนวันที่ 16 พฤษภาคมเช่นเดิม เพราะถึงอย่างไรประเทศอาเซียนก็เปิดปิดไม่พร้อมกัน การปรับเวลาการเปิดปิดภาคเรียนของประเทศไทยจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้สอดคล้องกับกลุ่มประอาเซียน แต่เกิดจากแนวคิดที่ต้องการจะเลื่อนเพื่อให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัย คือวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็ปรับให้สอดคล้องกับสากลหรือประเทศตะวันตก ฉะนั้นการไม่เลื่อนเปิดปิดภาคเรียนจึงมีข้อดีกว่า โดย ศธ.คำนึงถึงนักเรียนส่วนใหญ่ (ป.1-ม.5) เป็นสำคัญ และมีความชัดเจนมากว่าการเปิดปิดภาคเรียนเช่นเดิมดีกว่า แต่ก็ไม่ทำให้นักเรียนชั้น ม.6 มีข้อเสียแต่อย่างใด กลับกลายทำให้มีเวลาในการพัฒนาปรับปรุงตนเองก่อนการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากขึ้นด้วย
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ
tags : เปิดเทอมปี 2557, ปี 57 เปิดเทอม 16 พฤษภาคม เหมือนเดิม