ครม.เห็นชอบปรับอัตราเงินเดือนลูกจ้าง-นักการภารโรง 1.5 หมื่น, อนุมัติบรรจุบัณฑิตครูคืนถิ่น ฯลฯ
ศึกษาธิการ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 4 เรื่อง คือ
- เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง สพฐ.
- อนุมัติอัตราเกษียณอายุราชการเพื่อบรรจุบัณฑิตครูคืนถิ่น
- อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ มศว
- อนุมัติ MOU ด้านการอาชีวศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทย-จีน
►เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง สพฐ.
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการเพื่อปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง และบุคลากรอื่นๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จ้างด้วยงบดำเนินงาน ให้เทียบเท่าการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ ซึ่งสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เพื่อรองรับการปรับดำเนินการดังกล่าวแล้ว จำนวน 3,300.8208 ล้านบาท
2. ให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีเจ้าหน้าที่/ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างรายวัน/รายเดือน ในลักษณะจ้างเหมา ประเมินถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของจำนวนลูกจ้างให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน และเสนอให้คณะกรรมการระดับชาติ เพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ พิจารณาความเหมาะสมในภาพรวม โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน และภาระงบประมาณในระยะยาว
►อนุมัติอัตราเกษียณอายุราชการเพื่อบรรจุบัณฑิตครูคืนถิ่น
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุม ครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการเสนอ ที่มีมติอนุมัติหลักการให้ สพฐ.ใช้อัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากผลการเกษียณอายุราชการในทุกปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เป็นต้นไป เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาทุนพระราชทาน “บัณฑิตครูคืนถิ่น” โครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี เท่าจำนวนนักศึกษาทุนที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา ให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสังกัด สพฐ. ในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษา หรือโรงเรียนเครือข่ายในภูมิลำเนาท้องถิ่นของตนเอง ตามเงื่อนไขข้อผูกพันของโครงการฯ โดยให้รายงานจำนวนอัตราเกษียณอายุราชการที่ต้องใช้ในการบรรจุนักศึกษาทุนพระราชทานในแต่ละปีการศึกษา ให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) รับทราบด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้ทันต่อการบรรจุนักศึกษาทุนพระราชทานเป็นการเฉพาะเท่าจำนวนที่จะใช้ในการบรรจุในแต่ละปีงบประมาณ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 เรื่องมาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2552-2556) และมอบหมายให้ ศธ.รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จเจ้าพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการกองทุนการศึกษาร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น คัดเลือกนักศึกษาที่เป็นศิษย์เก่า และหรือผู้ที่มีภูมิลำเนาใกล้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนครูและกำลังศึกษาในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ปีที่ 4 และปีที่ 5 ให้ได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน และให้ทุนการศึกษาพระราชทาน โดยมีเงื่อนไขให้กลับไปสอนหนังสือในโรงเรียนสังกัด สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่มีปัญหาการขาดแคลนครู สำนักงานโครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี จึงขอความร่วมมือขอโอกาสให้นักศึกษาทุนพระราชทานดังกล่าว ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ประกอบกับ สพฐ. มีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล บนเกาะ และภูเขา ประสบปัญหาครูขอย้ายออกเนื่องจากไม่ใช่บุคคลในท้องถิ่น และไม่สะดวกในการเดินทาง ทำให้การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ข้อมูลโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ มีดังนี้
โครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรีจึงเป็นโครงการที่สามารถตอบสนองความต้องการครูของโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล หาบุคคลไปบรรจุได้ยาก ทำให้ได้บุคคลในท้องถิ่นกลับไปบรรจุเป็นข้าราชการครู เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเด็กในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองให้ได้มีความเจริญ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชุมชน สังคมและประเทศชาติในโอกาสต่อไป
2. เพื่อสนองต่อพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่นห่างไกลกันดาร และช่วยเหลือให้เยาวชนได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีแล้วกลับไปรับใช้ถิ่นกำเนิดในภูมิลำเนาของตนเองเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารและขาดแคลน ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาให้ได้มีงานทำ ลดปัญหาการขาดแคลนครูกรณีครูขอย้ายออกจากถิ่นทุรกันดารห่างไกล เพราะไม่ใช่บุคคลในท้องถิ่น ประกอบกับปัจจุบันส่วนราชการยังคงมีสภาพความขาดแคลนอัตรากำลังข้าราชการครูอยู่ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในถิ่นห่างไกล ทุรกันดารตามรอยตะเข็บชายแดน บนเกาะ ภูเขา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีอัตรากำลังข้าราชการครูให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนามาตรฐานทางการศึกษา และเป็นการสนองต่อพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามโครงการกองทุนการศึกษา สพฐ. จึงมีความจำเป็นในการขอใช้อัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากผลการเกษียณอายุราชการในทุกปีงบประมาณไว้รองรับการบรรจุนักศึกษาทุนพระราชทาน “บัณฑิตครูคืนถิ่น” โครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี เท่าจำนวนนักศึกษาทุนที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา ให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสังกัด สพฐ. ในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษา หรือโรงเรียนเครือข่ายในภูมิลำเนาท้องถิ่นของตนเอง
►อนุมัติร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. .... ตามที่ ศธ.เสนอ และส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
2. กำหนดวัตถุประสงค์ ภาระหน้าที่ การแบ่งส่วนงาน หลักเกณฑ์การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกส่วนงาน การรับสถานศึกษาอื่นเข้าสมทบ และอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะประกันตนด้วยความสมัครใจ
4. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ส่วนหนึ่งจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้จากการซื้อหรือแลกเปลี่ยนไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย และในกรณีที่รัฐบาลปรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดให้แก่ข้าราชการ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยในสัดส่วนเดียวกัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย
5. กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ที่มหาวิทยาลัยรับเข้าศึกษาให้มหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงให้มีโอกาสเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีโดยให้เป็นไปตามระเบียบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
6. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วยนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากกรรมการสภาวิชาการและพนักงานมหาวิทยาลัยตามที่กำหนด กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษา กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย และให้มีสำนักงานสภามหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
7. กำหนดให้มีสภาวิชาการ สภาคณาจารย์ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารงานบุคคล และคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ โดยให้องค์ประกอบ ที่มาของกรรมการ อำนาจหน้าที่เป็นไปตามที่กำหนด และให้จำนวนคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุมเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
8. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
9. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
10. กำหนดหลักเกณฑ์ ระบบบัญชี การตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของอธิการบดี และให้อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี หัวหน้าและรองหัวหน้าส่วนงานตามที่กำหนด เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
11. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณและรายได้ การดำรงตำแหน่ง และคณะกรรมการต่าง ๆ ส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนระเบียบข้อบังคับ หรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นต้น
►อนุมัติ MOU ด้านการอาชีวศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทย-จีน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ ศธ.เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง ศธ. และกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านอาชีวศึกษา ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้ ศธ.หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้นๆ แทนคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ด้านอาชีวศึกษา โดยไม่ต้องจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจ
เป็นข้อตกลงที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางด้านอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารด้านนโยบายการอาชีวศึกษาในระดับรัฐบาล เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในด้านการพัฒนายุทธศาสตร์ การวางระบบ นโยบายและกลไกเพื่อการอาชีวศึกษา การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษา หรือหน่วยงานการศึกษาของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนนักเรียน ครู รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมเฉพาะด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการทั้งสองฝ่ายในด้านการฝึกปฏิบัติงาน และความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการกับสถาบันอาชีวศึกษาของนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และนักวิชาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศทุกด้านบนพื้นฐานของความเท่าเทียม และต่างตอบแทน
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ