หลักธรรมที่ผู้บริหารควรมีและไม่ควรมี
หลักธรรมที่ผู้บริหารควรมี คือ หลักธรรมที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 (Holy Abiding) ได้แก่
· เมตตา (Living Kindness) แปลว่า ความรัก หมายถึง รักที่มุ่งเพื่อปรารถนาดี โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ
· กรุณา (Compassion) แปลว่า ความสงสาร หมายถึง ความปรานี ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ สงเคราะห์สรรพสัตว์ที่มีความทุกข์ให้หมดทุกข์ตามกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์
· มุทิตา (Sympathetic Joy) แปลว่า มีจิตอ่อนโยน หมายถึง จิตที่ไม่มีความอิจฉาริษยาเจือปน มีอารมณ์สดชื่นแจ่มใสตลอดเวลา
· อุเบกขา (Neutrality)แปลว่า ความวางเฉย นั่นคือ มีการวางเฉยต่ออารมณ์ที่มากระทบ และทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงต่อผู้ใดผู้หนึ่ง
หลักธรรมที่ผู้บริหารไม่ควรมี และไม่ควรหลงไปยึดถือเอาเป็นที่ตั้ง คือ หลักธรรมที่เรียกว่า
พรมวินาศ 4 ได้แก่
· บ้าอำนาจ
· ฉ้อราษฎร์บังหลวง
· หลอกลวงลูกน้อง
· ยกย่องคนชั่ว
หลาย ๆ องค์กรพยายามที่จะสรรหา ควานหา แย่งตัว ซื้อตัว "คนเก่ง" ที่เป็นทั้ง "คนเก่ง" และ "คนดี" แต่ถ้าองค์กรใด ได้คนเก่งที่เป็นคนไม่ดีแล้ว คงจะไม่เป็นผลดีแก่องค์กรแน่ ความจริงอย่างหนึ่ง คือ องค์กรต่าง ๆ มักจะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรระดับกลาง ถึง ระดับล่าง มากเกินไป จนละเลยการพัฒนาฝึกอบรม ผู้บริหารระดับสูง ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ควรมีการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง ในด้านหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณในการบริหารธุรกิจบ้าง
ฉะนั้น ผู้บริหารที่ดีนั้นควรจะมี จริยธรรม (Ethics) มีมาตรฐานของการกระทำ และพฤติกรรม อันเป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นถึงการเป็นผู้ทรงเกียรติ ที่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก หรืออะไรที่ผิด โดยใช้ดุลยพินิจพิจารณาในเชิงศีลธรรมด้วย...ไม่ว่าผู้บริหารองค์กรใดก็ตาม จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกน้องหรือของประเทศ