นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ
• อนุมัติการได้รับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
ครม.มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการ เสนอดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมหารือเรื่อง การได้รับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
2. อนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ.อ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ไขถ้อยคำ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบด้วยแล้ว และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.อ.
1. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตำแหน่งวิชาการ ซึ่งได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับเงินเดือนของตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูง ของอันดับเงินเดือนเดิม โดยให้ไปอาศัยรับเงินเดือนในตำแหน่งถัดไปอีกหนึ่งตำแหน่ง
2. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตำแหน่งวิชาการ ซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้น และต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ได้รับเงินเดือนในตำแหน่งที่สูงขึ้นในวันที่ 30 กันยายนของปีสุดท้ายก่อนพ้นจากราชการ
--------------------------------------------------------------------------------
• อนุมัติการดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล
ครม.มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการ เสนอดังนี้
1. อนุมัติให้ดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ในช่วงที่ 2 ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2561)
2. งบประมาณดำเนินโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
3. กรอบบุคลากรตามผลการอนุมัติข้อ 1. และ 2. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐไปพิจารณาดำเนินการ
4. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. วัตถุประสงค์
- เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังได้รับโอกาสพัฒนาได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมทั่วประเทศ โดยควรมีศูนย์การเรียนอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
- เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานโดยจัดบุคลากรเพิ่มให้แก่ศูนย์การเรียนที่ยังไม่ได้รับจัดสรร และจัดสรรเพิ่มในศูนย์การเรียนที่เปิดขยายระหว่างปี 2557-2561 สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานในระดับเดียวกันทั่วประเทศ
- เพื่อจัดการสอนให้เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง สามารถกลับไปเรียนต่อในโรงเรียนและมีสิทธิสอบเลื่อนชั้นหรือไม่ต้องออกกลางคัน
- เพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ พัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้แก่เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล โดยมีกิจกรรมนันทนาการที่ให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ผ่อนคลายจิตใจ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เป็นการเปิดโลกทัศน์ของเด็กให้กว้างขึ้น
- เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ครูศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลกับเครือข่าย
- เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงาน และยกย่องเชิดชูเกียรติศูนย์การเรียนที่เป็น Best practice
2. เป้าหมาย กลุ่มเด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียน และกลุ่มเด็กที่ออกจากโรงเรียนแล้ว ที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งกลุ่มเด็กที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต้องเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีโอกาสเข้ารับการศึกษาได้อย่างกว้างขวางทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล 77 จังหวัด (ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2561)
3. ระยะเวลาดำเนินการ
- พ.ศ. 2557 จำนวน 56 ศูนย์การเรียน (49 ศูนย์เดิม+7 ศูนย์ใหม่)
- พ.ศ. 2558 จำนวน 63 ศูนย์การเรียน (56 ศูนย์เดิม+7 ศูนย์ใหม่)
- พ.ศ. 2559 จำนวน 70 ศูนย์การเรียน (63 ศูนย์เดิม+7 ศูนย์ใหม่)
- พ.ศ. 2560 จำนวน 78 ศูนย์การเรียน (70 ศูนย์เดิม+ 8 ศูนย์ใหม่)
- พ.ศ. 2561 จำนวน 86 ศูนย์การเรียน (78 ศูนย์เดิม+ 8 ศูนย์ใหม่)
4. กิจกรรมดำเนินงาน เ็ป็นค่าจ้างครูศูนย์การเรียน (อัตราจ้าง) การประชุมสัมมนาบุคลากรศูนย์การเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาครูประจำศูนย์การเรียน การสนับสนุนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และครุภัณฑ์ การนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน และการประชุมเพื่อนำผลงาน/รูปแบบที่เป็น Best Practice แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เผยแพร่ และยกย่องเชิดชูเกียรติ
--------------------------------------------------------------------------------
• เห็นชอบในหลักการปรับค่าใช้จ่ายต่อหัวในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
รมว.ศธ.กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบในหลักการตามที่ ศธ.เสนอให้ปรับค่าใช้จ่ายต่อหัวในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปรับเพิ่มจาก 2,300 บาทต่อหัวต่อปี เป็น 3,500 บาทต่อหัวต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เดิม 2,300 บาทต่อหัวต่อปี เพิ่มเป็น 3,800 บาทต่อหัวต่อปี
อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณมีความเห็นว่าอัตราที่เสนอดังกล่าวจะเป็นภาระงบประมาณจำนวน 1,550 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอัตราการขอเพิ่มเงินอุดหนุนดังกล่าวอ้างอิงจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากการศึกษานอกระบบ ดังนั้น จึงได้เสนอให้ ศธ.ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษานอกระบบของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่สะท้อนกับคุณภาพการศึกษา ซึ่งสำนักงบประมาณเห็นว่า อัตราค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้เรียน กศน. ควรจะต่ำกว่าอัตราที่เสนอมา ซึ่ง ครม.ได้อบหมายให้ ศธ.หารือกับสำนักงบประมาณ โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเสนอให้ ครม.เพื่อทราบต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ