รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมมอบนโยบายในการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางกาศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ภาคเหนือ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ว่า ที่ผ่านมาการบริหารงานบุคคลของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งโยกย้ายเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญของการดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายไม่ใช่เพื่อความเป็นธรรมเท่านั้น แต่คือการเชื่อมโยงกาารแต่งตั้งโยกย้ายให้สอดรับกับการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนการสอนให้มากขึ้น อ.ก.ค.ก.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาต้องมีฐานข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ฯและมีข้อมูลการขาดแคลนครูเพื่อใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะความเป็นธรรมและการแก้ปัญหาระบบ
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า การแต่งตั้งโยกย้ายบรรจุครูยังต้องดูภาพรวมความขาดแคลนครูด้วย ปัจจุบันการแต่งตั้งโยกย้ายครูในพื้นที่นั่น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะพิจารณาไปตามความเห็นและความจำเป็นของแต่ละเขตพื้นที่ ขาดการดูแลในภาพรวมของประเทศ เช่นกรณีครูสอนภาษาฝรั่งเศสที่เหลือ200 กว่าคนทั่วประเทศ หากประเทศไทยมีความต้องการครูในส่วนนี้มากขึ้นก็จะเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไร หากปล่อยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตฯยังแต่งตั้งตามความพอใจแบบในปัจุบัน ทั้งนี้อยากให้ ก.ค.ศ.ไปคิดวิธีการและหลักเกณฑ์ โดยอาจจะต้องจัดทำข้อมูลความต้องการภาพรวมทั่วประเทศ เช่น หากต้องการให้บรรจุครูไอซีที 2,000 คนก็ให้แจ้งไปยัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯให้บรรจุแต่งตั้งครูตามความต้องการ
“จะมอบให้ ก.ค.ศ.ไปจัดทำหลักเกณฑ์ว่าจะประเมินการทำงานของอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการประเมินว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯว่าทำงานดีหรือไม่ดีอย่างไร เมื่อมีหลักเกณฑ์การประเมินแล้วจะทำให้ทราบผลการทำงานของแต่ละอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯทั่วประเทศ และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเองก็จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมและผลประเมินที่ออกมา” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการประเมินวิทยฐานะก็อยากให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนด้วย ที่ผ่านมาได้รับข้อมูลว่ามีผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งผ่านการประเมินวิทยฐานะที่สูง มีความก้าวหน้าในวิชาชีพแต่ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนตัวเองกลับต่ำ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
ที่มา คม ชัด ลึก วันพุธที่ 18 กันยายน 2556