ขอบพระคุณความรู้จาก.....น.พ.โกสินทร์ แจ่มเพ็ชรรัตน์
บรรยากาศและเสียงดนตรีที่ต้อนรับเทศกาลต่างๆ ทำให้รู้สึกสนุกสนานและชุ่มฉ่ำหัวใจทำอะไรก็ช่างดูมีความสุขไปเสียหมด แม้เทศกาลแห่งความสุขจะหมดไปในเวลาอันสั้น แต่หากเรารู้จักใช้ดนตรีมาแต่งเต็มสีสันในชีวิตจริง ความสุขเหล่านี้ก็อาจสร้างขึ้นง่ายๆ ได้ด้วยตัวของเราเอง เสน่ห์ของเสียงดนตรี ที่จะช่วยบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจได้ในเวลาเดียวกัน
“ดนตรีบำบัด” (Music Therapy) บางคนอาจเรียกว่า”สังคีตบำบัด” เป็นการใช้เสียงดนตรีที่เป็นภาษาสากลมาบำบัดหรือฟื้นฟูสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจในเวลาเดียวกัน โดยอาจอยู่ในรูปการฟังดนตรีหรือเล่นดนตรีก็ได้ เรื่องของดนตรีบำบัดมีการใช้กันมาหลายพันปีแล้ว เริ่มจากชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกได้ใช้ดนตรีในการเต้นรำ ประกอบพิธีกรรม รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยารักษาโรค สำหรับหลักฐานทางการแพทย์เริ่มมีบันทึกมาตั้งแต่ ค.ศ 1960 แพทย์ชาวดัทช์ท่านหนึ่งได้พบว่าเสียงดนตรีช่วยบำบัดในระหว่างการคลอด หรือกรณีมีอาการเจ็บปวดมาก ดนตรีคลาสสิกจะนำมาใช้แทนยากล่อมประสาทหรือยาลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การทหารในสหรัฐอเมริกาก็นำมาใช้บำบัดทางจิตเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายและจิตใจ ต่อมาในช่วงต้นปีค.ศ 1970 นักประพันธ์เพลงชื่อสตีเวฟ ฮัลเพิร์น ได้เริ่มต้นทำดนตรีแนวใหม่ในลักษณะของ “New Age Music” มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกผ่อนคลายสร้างสมดุลของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เข้าด้วยกัน ดนตรีสไตล์นี้จะไม่มีท่วงทำนอง ลีลา หรือจังหวะชัดเจนที่จะทำให้จดจำได้ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการผ่อนคลาย นั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือขณะนวด
จนกระทั่งปีค.ศ 2000 มีการบำบัดโดยนักดนตรีบำบัดที่เรียกว่า “Music Therapist” ซึ่งต้องผ่านการอบรมอย่างจริงจัง อย่างในสหรัฐฯมีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่งที่เปิดสอนวิชา Music Therapy ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนถึง 4 ปีจบแล้วจะได้รับ Certification Board for Music Therapists
สำหรับในบ้านเรานักดนตรีบำบัดต้องผ่านการเรียนดนตรีหรือประกาศนียบัตรรับรองจากโรงเรียนสอนดนตรีอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจะมีการสอนกันตั้งแต่การฟังดนตรีประเภทต่างๆ จิตวิทยาการสื่อสาร ความผิดปกติของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เมืองไทยมีการใช้ทฤษฎีนี้มาหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่นำไปบำบัดผู้ติดยาเสพติด พัฒนาด้านสมอง และพฤติกรรมอย่างเด็กที่เป็นออทิสติก พัฒนาการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ผู้ป่วยทางจิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ นักโทษในเรือนจำหรือผู้ที่อยู่ในภาวะเครียด
หลังจากที่เริ่มใช้เสียงดนตรีเข้าไปมีส่วนในการรักษาปัญหาที่มีอยู่เดิมของโรคนั้นๆ แล้ว ปัจจุบันยังเริ่มนำมาใช้ในเชิงป้องกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพอย่างการออกกำลังกาย การผ่อนคลายความเครียดในสถานบริการต่างๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช สถานพักฟื้นคนพิการสวางคนิวาส บางปู สมุทรปราการ ของสภากาชาดไทย และตามโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง
ดนตรีมีผลต่อสุขภาพอย่างไร?
คนเราเมื่อได้ยินเสียงดนตรี สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่รับรู้ถึงจังหวะง่ายๆไม่ซับซ้อน ในขณะที่สมองซีกขวาจะรับรู้ถึงท่วงทำนอง ระดับเสียงสูงต่ำ หรือจังหวะที่ซับซ้อนมากขึ้นแล้วเก็บไว้เป็นความทรงจำเพื่อเรียนรู้และฝึกฝนได้ในคราวต่อไป ดนตรีจะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจดังนี้
1. ผลต่อร่างกาย : มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันและการไหลเวียนโลหิต การตอบสนองของม่านตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ลดความเจ็บปวด
2. ผลต่อจิตใจและอารมณ์ : ทำให้เกิดอารมณ์และจินตนาการร่วมกับเสียงดนตรี เช่น ผ่อนคลาย สดชื่น สนุกสนาน เพราะดนตรีช่วยกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุข (Endorphin) จากสมองได้ นอกจากนี้เสียงดนตรียังช่วยพัฒนาการสื่อภาษาและทักษะในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ตลอดจนทำให้เกิดสมาธิ และการมองโลกในเชิงบวกอีกด้วย โดยดนตรีแต่ละประเภทก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปตามองค์ประกอบของดนตรีขึ้นกับ
• จังหวะหรือลีลา (Rhythm) จังหวะดนตรีเบาๆ จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เพลงที่มีจังหวะช้าเรียกว่า Minor Mode จะทำให้รู้สึกเศร้า ผ่อนคลาย เพลงที่มีจังหวะเร็วเรียกว่า Major Mode ทำให้รู้สึกสดชื่น ร่าเริง สนุกสนาน
• ระดับเสียง (Pitch) ระดับเสียงต่ำหรือสูงปานกลางจะทำให้เกิดความสมาธิดีที่สุด
• ความเร็ว (Tempo) และความถี่ (Vibration) ก็มีบทบาทมากเช่นกัน หากระดับความเร็วเท่ากับจังหวะของชีพจรพอดี นั่นคือจุดสมดุลที่ทำให้คนๆ นั้นรู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด ขณะที่ความถี่จะมีผลต่อคลื่นสมอง เมื่อไรที่ความถี่ของเสียงตรงกับคลื่นสมองก็จะทำให้คนๆ นั้นเข้าถึงอารมณ์ดนตรีได้ดีที่สุด นี่คือเหตุผลที่ว่าคนที่กำลังอยู่ในอารมณ์เศร้าจึงชอบฟังเพลงเศร้า คนที่มีอารมณ์สนุกสนานชอบฟังเพลงเร็วที่มีความถี่ของเสียงสูง
• ความดัง (Volume) พบว่าเสียงเบานุ่มทำให้รู้สึกสบาย ขณะที่เสียงดังทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
• ทำนอง (Melody) ช่วยให้มีการแสดงออกจากความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์และลดความกังวล ทำนองเพลงจึงมักจะเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจหรือแรงขับของนักแต่งเพลงที่เรียกว่า “Motif” ของนักแต่งเพลงนั่นเอง
• การประสานเสียง (Harmony) เป็นตัววัดระดับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังได้โดยสังเกตจากปฏิกิริยาที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานจากบทเพลงในระยะเวลาหนึ่ง
ขั้นตอนการบำบัดด้วยเสียงดนตรี
การใช้ดนตรีบำบัดไม่มีรูปแบบที่ตายตัวแต่นักดนตรีบำบัดจะเป็นผู้ออกแบบการบำบัดตามความเหมาะสมของแต่ละคน คือ ประเมินผู้รับการบำบัด--> วางแผนการบำบัด --> ดำเนินการบำบัด ตามลำดับโดยจะเลือกเสียงเพลงให้เหมาะกับปัญหาในแต่ละราย
การใช้เสียงดนตรีก็ยังมีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น การเลือกฟังดนตรีเพียงอย่างเดียว หรือเปิดดนตรีร่วมกับการสร้างจินตนาการ ใช้ดนตรีประกอบการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่กระตุ้นเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย ใช้ดนตรีประกอบการวาดภาพ แกะสลัก งานศิลปะด้านต่างๆ หรือการให้แสดงความสามารถด้านดนตรีด้วยการเล่นดนตรี แบบเล่นเป็นวงหรือเล่นตามลำพัง การร้องคาราโอเกะ เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่เป้าหมายที่เหมือนกันคือเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความเจ็บปวด การหมกมุ่น ไปสู่กิจกรรมหรือจินตนาการใหม่ๆ ในทางที่สร้างสรรค์ จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนเปลงจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อมีการบำบัดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจที่จะให้ดนตรีเข้ามาแต่งเต็มสีสันในชีวิตประจำวันแล้วล่ะก็ หลักง่ายๆ คือการเลือกดนตรีที่มีคุณสมบัติบำบัดอาการที่มีอยู่ในลักษณะตรงกันข้าม เช่น ขณะที่อยู่ในภาวะเครียด ตื่นเต้น อาการปวด ทำให้ต้องการสมาธิหรือลดอาการปวด ควรเป็นดนตรีที่มีจังหวะในลักษณะ Minor Mode, Tempo - merato คือความเร็วปานกลางในแนวเพลงคลาสสิก, ระดับเสียงต่ำปานกลาง ตัวอย่างดนตรีประเภทนี้ เช่น ดนตรีของ Kitaro, Enja, Kenny G หรืออาจจะเป็นเพลงที่ระบุว่า Healing Music, Music For Relaxation, Soothing Music หรืออย่าง Green Music ที่เรารู้จักกันดีนั่นล่ะ แต่หากอยู่ในภาวะซึมเศร้า เฉี่อยชา ก็ควรเลือกดนตรีที่มีลักษณะเป็น Major Mode ดนตรีเร็ว ระดับเสียงสูง เพื่อกระตุ้นการหายใจ ระดับความดันและการไหลเวียนโลหิต เช่น เพลงในแนวร็อก ชะชะช่า รุมบ้า เพื่อให้เกิดความอยากลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น หากบำบัดง่ายๆ ด้วยตัวเองแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จอาจลองบำบัดกับนักดนตรีบำบัดโดยตรงก็ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีด้วยกันหลายแห่ง
เพราะนี่คือหนึ่งในศาสตร์ Harmony of Body and Mind ที่กำลังได้รับความสนใจ
ดนตรีบำบัด
วิธีบำบัดโรคแบบแพทย์แผนใหม่อย่าง 'ดนตรีบำบัด' เป็นการรักษาแขนงหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เชื่อว่าสามารถบำบัดโรคซึมเศร้า ลดความดันโลหิต อาการเครียดได้ เพราะในขณะฟังเพลงสมองจะหลั่งสารแห่งความสุขชื่อ เอนโดฟิน ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย หรือตื่นเต้นร่าเริงได้
เพลงที่มีจังหวะค่อนข้างเร็ว เร้าใจ ทำให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้น กระตุ้นให้รู้สึกคึกคัก ร่าเริง สนุกสนาน หากเปิดเพลงแนวแดนซ์ หรือป๊อบใส ๆ ที่ชื่นชอบในช่วงเช้า คุณจะรู้สึกมีพลังและสดชื่นตลอดทั้งวัน
แต่ถ้าต้องการความผ่อนคลายและสมาธิ ควรฟังเพลงที่มีจังหวะช้า ระดับเสียงต่ำปานกลาง (ถ้าต่ำมากจะเกิดความอึดอัด) หากเป็นเพลงบรรเลงหรือเพลงที่มีเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงสายน้ำไหล นกร้อง ฯลฯ จะช่วยให้เกิดความสงบได้มาก เพราะสมองซีกซ้ายไม่ถูกรบกวน ฟังเพลงแนวนี้ในช่วงบ่ายที่ล้ากับงาน หรือก่อนนอนก็จะดี
เราสามารถนำดนตรีบำบัดมาใช้ได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่เลือกจังหวะและแนวเพลงให้เข้ากับสภาวะอารมณ์ ขณะบำบัดควรปล่อยใจไปตามอารมณ์เพลงด้วย ไม่ควรเลือกเพลงที่มีเนื้อหาเศร้าเกินไป เพราะแทนที่จะได้ผ่อนคลาย อาจรู้สึกหม่อนหมองไปเลยก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์ H&C Tips
นิตยสาร Health & Cuisine
ปีที่ : 2 ฉบับที่ : 19 เดือน : สิงหาคม 2545