คอลัมน์ : สถานีก.ค.ศ.: สรุปผลการประชุมสัมมนา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ภาคกลาง
ประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ก.ค.ศ.
ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธาน ก.ค.ศ. มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.จัดให้มีการประชุมสัมมนา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ จำนวน 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้เคยนำเสนอกำหนดการประชุมสัมมนาฯ ในคอลัมน์นี้ไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 20-22 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ภาคกลาง ไปแล้ว ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาฯ พร้อมทั้งมอบนโยบาย 8 ข้อ ให้กับ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ในภาคกลาง นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อผู้เรียนโดยเร็ว ซึ่งสรุปการมอบนโยบายในการประชุมสัมมนาโดยสังเขป คือ
จากอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 จะเห็นได้ว่า อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ฝากประเด็นให้กับที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา นำนโยบาย 8 ข้อ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ในประเด็นดังต่อไปนี้
1.การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา ให้สูงขึ้นได้อย่างไร โดยไม่มีความแตกต่างกันมากระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ กับโรงเรียนขนาดเล็ก
2.จากความแตกต่างระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ กับโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่าอาจเป็นผลจากการขาดแคลนครูในสาขาวิชาที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้สำคัญๆ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และการกระจุกตัวของครูในสาขาวิชาเหล่านี้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อการแข่งขันระหว่างโรงเรียนโดยละเลยการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้
3.ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ที่มีฐานะส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในระบบ โดยมุ่งไปที่โรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้สอบแข่งขันเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงให้ได้ ในขณะที่นักเรียนที่อยู่ในถิ่นห่างไกลไม่สามารถที่จะไปเรียนกวดวิชาได้ ต้องมีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้มีคุณภาพให้ได้
ประการท้าทายเพื่อปรับทิศทางเป้าหมายการบริหารงานบุคคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำว่า งานด้านการบริหารบุคคล ไม่ใช่เฉพาะการบริหารงานบุคคลเพื่อดูแลบุคคลอย่างเดียวโดยไม่สัมพันธ์กับการจัดการศึกษา ต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งระบบ ให้นำไปสู่การรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ได้ ผลการประชุมใน ภาคอื่นๆ จะนำเสนอในโอกาสต่อไป
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--