โรงแรมริชมอนด์ สไตล์ลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่และความก้าวหน้าในวิชาชีพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา" เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 โดยมีศาสตราจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารส่วนกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักการศึกษาอิสระ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูสายการสอน ศึกษานิเทศก์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) เข้าร่วมกว่า 100 คน
รมว.ศธ. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องการทำงานของ สพฐ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการประเมินวิทยฐานะครูให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน รวมทั้งคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้มีมติให้ศึกษาพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาแนวใหม่ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการ และแนวทางให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีและเลื่อนวิทยฐานะ เป็นทางเลือกใหม่ในการที่จะมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ ครอบคลุมทุกสายงานการสอน ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ ประกอบกับ ศธ.มีนโยบายปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครูให้สอดคล้องกับความต้องการ มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรปัจจุบันและรองรับหลักสูตรใหม่ รวมทั้งการเรียนรู้โลกยุคใหม่ด้วย
สพฐ.ในฐานะผู้รับผิดชอบ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน เสวนาและวิพากษ์หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ ด้วยการประเมินสมรรถนะ TPK Model สายงานการสอน รวมทั้งแนวทางการดำเนินงาน พร้อมทั้งมีการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักการศึกษา และนักวิชาการ เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานเหมาะสมและครอบคุลมสายงานการสอน
การประเมินสมรรถนะ TPK Model สายงานการสอน เพื่อใช้นำร่องใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นการประเมินสมรรถนะของครูด้านความรู้ทางทฤษฎี และสมรรถนะในด้านการสอน ซึ่งครูที่จะเข้ารับการประเมินนี้จะต้องมีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และได้รับการรับรองสมรรถนะในสาขาที่ได้รับการประเมินจากสถาบันที่ ก.ค.ศ. ให้การรับรอง ฉะนั้นการประเมินวิทยฐานะใหม่ เป็นการมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาครูทั้งทางด้านทฤษฎีและการเรียนการสอน และสิ่งสำคัญคือการประเมินวิทยฐานะจะต้องเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน จึงจะทำให้การประเมินวิทยฐานะไม่เฉพาะเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจ เพิ่มความมั่นคงทางอาชีพ มีเส้นทางความก้าวหน้าของครูและบุคลากรทางการศึกษาทางอาชีพเท่านั้น แต่จะต้องตอบปัญหาของประเทศคือ เพิ่มผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนให้ได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอให้การประเมินการเรียนการสอนหรือผลสัมฤทธิ์ควรมีลักษณะเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนแนวใหม่ในวิชานั้นๆ เช่น การเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้จากชีวิตจริง สิ่งแวดล้อมของนักเรียนมากขึ้น
ประเด็นการประชุมครั้งนี้ จะวิพากษ์ถึงการศึกษาเกี่ยวกับการประเมินวิทยฐานะในรายวิชาด้วย ซึ่งเป็นระบบที่มีการระดมความคิด มีองค์ความรู้และมีการสังเคราะห์ไว้แล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ โดยจะมีการเชื่อมโยงผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ผลการทดสอบ O-Net และ National Test (NT) ที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพราะ O-Net จะมีการทดสอบเพิ่มขึ้นอีกหลายวิชา การวัดผล NT ก็อาจจะต้องมีการเพิ่มชั้นเรียน แต่อยู่ระหว่างหารือกันว่าจะเพิ่มชั้นอะไรบ้าง ส่วนรายละเอียดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่จะใช้ประเมินครูนั้น จะต้องพิจารณาต่อไปว่า จะต้องใช้ผลสัมฤทธิ์จำนวนกี่ปี หรือจะเน้นการยกระดับพัฒนาผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นจากปีก่อน หรือจะต้องอยู่ในระดับใดจึงจะเป็นที่ยอมรับ และจะใช้กับวิทยฐานะขั้นไหน เหล่านี้เป็นรายละเอียดที่ที่ประชุมจะต้องพิจารณากันต่อไป
นอกจากนี้ การประกาศโยบายปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งหมายถึงการพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับการทดสอบประเมินผล คือ O-Net หรือ NT เมื่อมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสูตรในระบบโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ก็เท่ากับช่วยลดปัญหาการกวดวิชาของนักเรียน ทำให้ ครู นักเรียนและผู้ปกครอง สนใจการเรียนการสอนในระบบมากขึ้น เพราะต้องทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์หรือผลสอบ O-Net, NT รวมทั้งการทดสอบวัดผลอื่นดีขึ้นด้วย รวมทั้งการเสนอให้มีการปรับปรุงระบบการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการเรียนการสอนในระบบ ก็เท่ากับลดความจำเป็นในการกวดวิชา อย่างไรก็ตาม การกวดวิชาไม่ใช่สิ่งเลวร้ายและไม่ใช่เรื่องที่จะต้องห้าม แต่ที่สำคัญคือ การลดความจำเป็นในการกวดวิชา หมายความว่า หากมีการเรียนการสอนในระบบที่สามารถตอบคำถามของนักเรียน ครู และผู้ปกครองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการกวดวิชา แต่หากเด็กที่อ่อนต้องการที่จะเรียนให้ดียิ่งขึ้น ก็สามารถกวดวิชาได้ เพราะเป็นธรรมชาติที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็มีการกวดวิชา
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เทคนิคและแนวทางการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ไม่ได้เข้ามาแทนการประเมินในทุกชั้นปีหรือในทุกกลุ่มสาระวิชาทันที ยังสามารถใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ว27 ว17 ว5 ไปก่อนได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักเกณฑ์ที่มีแนวคิดจาก TPK Model โดยเริ่มต้นจาก 3 กลุ่มสาระที่มีความชัดเจนที่สุด คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่ง สสวท. และหน่วยงานด้านภาษาอังกฤษ มีความเข้มแข็งและมีเครื่องมือในการประเมินสมรรถนะครูอย่างเต็มระบบและเชื่อถือได้ โดยประเมินคุณภาพผู้เรียนจาก O-Net และ NT เป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ได้มีการเรียกร้องให้ประเมินแบบใหม่ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และทุกชั้นปี แต่ สพฐ.ในฐานะผู้รับผิดชอบ มีความเห็นว่า เรายังไม่มีความพร้อมในทุกกลุ่มสาระหรือทุกชั้นปี ควรจะเริ่มต้นจากกลุ่มสาระและชั้นปีที่มีความพร้อมให้ได้เข้าสู่ระบบไว้ก่อน เช่น ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 จากนั้นจึงจะขยายกลุ่มสาระและชั้นปีมากขึ้นจนกระทั่งเต็มระบบต่อไป หากรอเพื่อให้มีความพร้อมทุกกลุ่มสาระและทุกชั้นปี ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี
ทั้งนี้ หากสามารถขับเคลื่อนบางกลุ่มสาระและบางชั้นได้ทันในปีการศึกษา 2557 ก็เท่ากับเราได้เชื่อมโยงคุณภาพครูและนักเรียนเข้าด้วยกันแล้ว สำหรับการกวดวิชา อาจจะลดลงเพราะแนวการทดสอบ NT จะปรับเปลี่ยนจากการเน้นเนื้อหาสาระ Content Based เป็นลักษณะ PISAlize คือใช้การทดสอบจากแนวคิดของ PISA ที่เน้นการนำความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษามาปรับใช้ในชีวิตและสังคม เป็น Content Free ที่ไม่เน้นความรู้และความจำ แต่เน้นการประยุกต์ใช้
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/aug/285.html