ศธ.เร่งวางแผนทำไอทีเพื่อการศึกษา
ศธ.เตรียมทำแผนระยะยาวปรับปรุงการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมผลักดันจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เป็นองค์กรกลางในการกำหนดทิศทางนโยบายการใช้สื่อเทคโนโลยีพื่อการเรียนการสอน
วานนี้(26ส.ค.)นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.กำลังเตรียมทำแผนระยะยาวเพื่อปรับปรุงการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระแสทั้งโลก ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากกระแสนี้ และจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ศธ. ได้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณากันต่อไป คือ เรื่องของสื่อที่จะนำมาใช้กับแท็บเล็ต โดยปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีสื่อที่ผลิตแล้ว 2 รูปแบบ คือแบบออฟไลน์ 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่1-ป.3 จำนวน 2,310 บทเรียน ส่วนมัธยมศึกษาปีที่1 และม.3 มี 1,020 บทเรียน และยังมีแอพพลิเคชั่นสำหรับแท็บเล็ต ชั้น ป.2 วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ 400 เรื่อง และที่กำลังพัฒนาของชั้น ป.2 ป.3 ใน 5 วิชาหลัก อีก 1,100 เรื่อง
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า สพฐ. ได้ทำวิจัยผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ใช้แท็บเล็ตในปี 2554-2555 พบว่า นักเรียน ป.1 ในวิชาภาษาไทย มีคะแนนเพิ่มขึ้น 56.82 % คณิตศาสตร์ 55.45 % วิทยาศาสตร์ 56.14 % สังคม 52.95% วิชาศิลปะ 53.64 % การอาชีพ 54.55% สุขศึกษา 57.27% ส่วนภาษาอังกฤษ 62.05 และยังพบว่า การใช้แท็บเล็ตมีข้อดี คือ เด็กสนุกสนาน มีแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้เด็กที่เรียนรู้ช้า หรือเด็กพิเศษมีพัฒนาการที่ดีขึ้นแต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ เนื้อหาในแท็บแล็ตส่วนใหญ่ยังเหมือนในหนังสือเรียน มีปัญหาทางเทคนิค เช่น แบตเตอรี่หมดเร็ว เครื่องร้อน เป็นต้น และหลายพื้นที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เช่น ภาคใต้ และปัญหาที่ครูบางส่วนยังไม่มีแท็บแล็ต และไม่มีทักษะด้านไอซีทีทำให้ไม่สามารถสอนนักเรียนได้
“ขณะนี้ทราบว่า มีการผลิตครูเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไว้แล้วจำนวนมาก แต่ยังติดปัญหาเรื่องอัตราบรรจุ และที่สำคัญติดเรื่องใบประกอบวิชาชีพ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนว่าต่อไปจะต้องมีครูเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โรงเรียนละ 1 คน ดังนั้นต่อไปจะต้องมีครูเทคโนโลยีฯ เพิ่มกว่าหมื่นคน“ นายจาตุรนต์กล่าว
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าการพัฒนาครูมีส่วนสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาขาดครูทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งหากมีการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมแล้ว แนวคิดการใช้ครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน ก็อาจปรับเปลี่ยนไป โดยอาจใช้ระบบการสอนทางไกล ซึ่งสามารถใช้ครู 1 คนต่อนักเรียน 1,000 คนได้ โดยศธ.จะต้องกำกับดูแลการเรียนการสอนทางไกลให้บรรลุผลอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อเป็นองค์กรกลางในการกำหนดทิศทางนโยบายการใช้สื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะการจัดตั้งสถาบันดังกล่าวจะเป็นการรวมหน่วยงานหลายแห่งเข้าด้วยกันเป็นองค์การมหาชนดังนั้นภารกิจหลักของศธ.จะต้องเร่งผลักดันจัดตั้งสถาบันนี้ขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้การพัฒนาสื่ออิเลคทรอนิกส์เดินหน้าต่อไปได้
ที่มา: http://www.dailynews.co.th