นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการพัฒนาเครือข่ายร่วมพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสมาคมนักพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร สพฐ. รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง รวม 300 คน เข้าร่วมการประชุมสัมมนา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2556 ที่ห้องประชุมบุณยเกตุ โดยให้แนวคิดและนโยบายในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การทดสอบ O-Net
ในระยะหลังได้มีการวัดการจัดการศึกษาด้วยการทดสอบ O-Net ซึ่งผลการสอบยังไม่เป็นที่พึงพอใจ เพราะมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งบางพื้นที่ก็สามารถทำคะแนนสอบได้ดี แต่บางพื้นที่ที่มีปัญหา ก็พยายามแก้ไข รวมทั้งยังมีข้อถกเถียงว่า O-Net เป็นการทดสอบที่ตรงกับหลักสูตรหรือไม่ แต่ไม่มีใครหาสาเหตุว่า ทำไมเด็กจึงทำคะแนนไม่ได้ เป็นเพราะข้อสอบไม่ตรงกับที่เรียน หรือเด็กไม่สนใจสอบเพราะสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว หรือเด็กอ่อนจริงๆ จึงทำข้อสอบไม่ได้ ส่วนการทดสอบ National Test (NT) ผลล่าสุดพบว่า นักเรียน ป.3 ยังอ่อนในหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย
- การประเมินผลการทดสอบ PISA
ผลการทดสอบล่าสุด เด็กไทยอยู่ในอันดับ 50 ซึ่ง ศธ.ต้องการจะยกระดับอันดับให้สูงขึ้น จึงต้องขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ ซึ่งในบางประเทศก็ไม่ได้ให้ความสนใจ แต่พอเริ่มทำอย่างจริงจังในปีแรกก็สามารถติดอันดับ 1 ได้ เช่น ฟินแลนด์ ส่วนบางประเทศที่ให้ความสำคัญ มีการวางระบบที่ดี เมื่อวัดแล้วได้อันดับที่ดีก็มี ในส่วนของ ศธ. จะเลื่อนอันดับให้ได้ โดยประกาศเป็นเป้าหมายหลังจากการประกาศผลในเดือนธันวาคม 2556 อย่างไรก็ตาม การยกระดับการทดสอบ PISA เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษา ที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมของนักเรียนตั้งแต่อายุ 13 ปี เพื่อวัดหรือทดสอบในขณะที่อายุ 15 ปี
- การจัดอาชีวศึกษา
ต้องการยกระดับคุณภาพของอาชีวศึกษา เพิ่มและขยายการพัฒนาและจัดการศึกษาร่วมกับเอกชนตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณ์ หลักสูตร การเรียนระหว่างฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญเป็น 50 : 50 และเพิ่มรายได้สายอาชีพให้สูงขึ้น รวมทั้งให้มีรายได้มากกว่าผู้จบปริญญาทั่วไป
จึงขอให้ สพฐ.ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กได้เรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้น ไม่ปิดโอกาสหรือดึงเด็กไว้เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว เพราะขณะนี้พบว่าตลาดแรงงาน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก เพียงนิคมอุตสาหกรรมนิคมเดียวต้องการคนถึง 1 แสนคน และต้องการเพิ่มเป็น 5 แสนคนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันมีผู้จบชั้น ม.3 เป็นแรงงานในระบบแรงงานปีละ 1 แสนคนอยู่แล้ว แต่เป็นผู้ที่จบ ม.3 ที่ไม่ได้เรียนสายอาชีพ ศธ.จึงต้องการเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนอาชีวะให้มากๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาของประเทศ
- การปฏิรูปการเรียนรู้
ศธ.มีแนวคิดมุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยมีการทดสอบ ประเมินผลที่เชื่อถือได้ เป็นมาตรฐาน นำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน รวมทั้งเชื่อมโยงกับระบบทดสอบ ไม่ว่าจะเป็น O-Net หรือ NT หรือการสอบของโรงเรียน จะต้องไม่มีแนวคิดที่ว่า ไม่ตกไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการประเมินครูที่ต้องพัฒนาให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ การเรียนการสอน การเกลี่ยครู เพื่อแก้ปัญหาครูขาดแคลน และการขาดครูที่สอนตรงกับวิชาเอก
- การจัดการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา
ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาบริหารจัดการในระดับเขตพื้นที่ ทั้งระบบการดูแลตำแหน่ง ความดีความชอบ ที่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา นำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษามาวิเคราะห์เป็นรายโรงเรียน เพื่อให้ทราบถึงสภาพการจัดการศึกษาว่า โรงเรียนใดอ่อนหรือเก่ง โดยให้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องครูด้วย เช่น บางเขตพื้นที่มีโรงเรียนประจำจังหวัด และนักเรียนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จำนวนมาก แต่ปล่อยให้โรงเรียนอีกกว่า 40% มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องดูแลให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น
- สนับสนุนอัตรากำลังแก่กลุ่มงานส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเอกชน
ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาสนับสนุนอัตรากำลังให้มีความสอดคล้องกับภารกิจในหน้าที่และเพียงพอกับจำนวนนักเรียนเอกชนและ กศน.ในพื้นที่นั้น
- ส่งเสริมการเรียนวิชาภาษาไทย
ได้รับเสียงสะท้อนจากครูและผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหลายแห่งว่า เด็กไทยอ่อนภาษาไทย ซึ่งบางเขตพื้นที่ได้มีการสำรวจเด็กเหล่านี้ จากนั้นแยกออกมาเรียนรวมกัน โดยเน้นสอนวิชาภาษาไทยเป็นหลักอย่างเข้มข้น เมื่อสามารถแก้ไขได้แล้วก็จะส่งเด็กกลับห้องเรียนเดิม ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ศธ.ได้ประชุมหารือเรื่องการเรียนการสอนภาษาไทยกับผู้บริหาร สพฐ. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และครูที่ประสบความสำเร็จด้านการสอนภาษาไทย พบว่า เรื่องของภาษา ต้องจัดการเรียนการสอนแบบเข้มข้นจริงจัง จึงจะได้ผล ซึ่งต้องมีการฝึกให้เด็กอ่านอย่างเข้มข้น และต้องอ่านด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ออกเสียงถูกเพียงอย่างเดียว โดย สพฐ.จะประกาศนโยบายและโครงการที่จะทำให้เด็กไทยต้องอ่านออกเขียนได้ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นทดสอบภาษาไทยนักเรียน ป.3 และ ป.6 ทุกคนทั่วประเทศในสังกัด สพฐ. เพื่อแก้ไขปัญหานี้ในช่วงระยะเวลาเร่งด่วน โดยจะไม่เน้นไวยากรณ์ แต่ทำอย่างไรให้เด็กอ่านแล้วเข้าใจ เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาอื่นๆ จากนั้นจะมีการประเมินผลเพื่อจัดทำแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาทั้งระบบ
รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมสัมมนาว่า ในอดีตที่ผ่านมา ช่วงปี 2546 มีการปฏิรูปโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ และการจัดองค์กรของ ศธ. มีผลทำให้ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาไม่มีตำแหน่งที่จะลง ทั้งที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และทำงานสำคัญๆ ซึ่งในขณะนั้นตนเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้มีมติดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมาย ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการเยียวยาบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการจัดโครงสร้าง ทำให้มีการเพิ่มตำแหน่งรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหลายพันคน ซึ่งทุกฝ่ายทั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานข้าราชการพลเรือน ต่างเห็นชอบและยอมรับร่วมกันในการดำเนินการ แต่การจะโยกย้ายหรือกระจายตำแหน่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทำให้มีรอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษามากเป็นพิเศษ แต่ขณะนี้ทราบว่าจำนวนรอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาลดลงตามการเกษียณอายุราชการ
อย่างไรก็ตาม จะต้องให้รอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ร่วมกันสนับสนุนและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาอย่างจริงจัง โดยจะจัดทำข้อตกลงระหว่าง สพฐ. กับเขตพื้นที่การศึกษา เช่น การแก้ไขปัญหาเด็กอ่านไม่ออก ส่วนงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลโรงเรียน การดูแลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และดูแลการทำงานของศึกษานิเทศก์ รวมทั้งการประสานงานระหว่าง สพฐ.กับองค์กรที่ทำหน้าที่เชิงนโยบาย งานวิชาการ และสื่อสารไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ก็จะเป็นหน้าที่ของรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาด้วย เพราะมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ อยู่และคุ้นเคยกับพื้นที่นั้นๆ ทำให้มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีที่จะช่วยให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุดได้
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/aug/271.html