ออมสินจับมือสหกรณ์แลกเปลี่ยนข้อมูลหนี้สิน คุมเข้มสินเชื่อข้าราชการลดปัญหาเบี้ยวหนี้
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารจะร่วมมือกับสหกรณ์ตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อให้กับข้าราชการรายใหม่ที่ยื่นขอวงเงินกู้ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลของลูกค้าระหว่างกัน ซึ่งหากข้าราชการรายนั้นเป็นลูกหนี้ของสหกรณ์แล้วธนาคารออมสินจะไม่ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้รายนั้น เพื่อไม่ต้องการให้ข้าราชการมีภาระหนี้สินมากเกินไป ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาสหกรณ์ได้ออกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ข้าราชการที่เป็นหนี้สหกรณ์ต้องชำระหนี้ให้สหกรณ์ก่อนชำระหนี้ให้สถาบันการเงินอื่นทำให้ข้าราชการชำระหนี้ให้ธนาคารล่าช้า นอกจากนี้สหกรณ์ไม่เข้าสู่ระบบเครดิตบูโรทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ขอกู้ เช่น ครูมีภาระหนี้สินอื่นอีกหรือไม่ ดังนั้นวิธีการนี้จะทำให้รู้ว่าข้าราชการแต่ละคนมีภาระหนี้สินมากน้อยแค่ไหน และธนาคารควรจะปล่อยสินเชื่อให้หรือไม่
ทั้งนี้ในปัจจุบันกลุ่มข้าราชการมียอดเงินกู้กับธนาคารประมาณ 600,000-700,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนประมาณ 40% ของสินเชื่อคงค้างที่อยุ่ในระดับ 1.7 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ประมาณ 0.3-0.5% ของเอ็นพีแอลรวมของธนาคารที่อยู่ระดับ 1.3% สาเหตุที่เอ็นพีแอลน้อย เนื่องจากข้าราชการส่วนใหญ่มีเงินเดือนธนาคารสามารถที่จะหักภาระหนี้จากบัญชีเงินเดือนได้ และความสามารถในการชำระหนี้ยังมีอยู่ แต่ธนาคารอาจได้รับการชำระหนี้ที่ช้ากว่าปกติ
“ภาระหนี้สินของข้าราชการ เช่น ครู เฉลี่ยต่อคนที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารออมสินไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งการให้สินเชื่อขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือน ดังนั้นแต่ละคนจะมียอดภาระหนี้สินที่แตกต่างกัน โดยฐานสินเชื่อของธนาคารเป็นข้าราชการประมาณ 50% ส่วนที่เหลือ 50% จะเป็นสินเชื่อธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้เกิดขึ้นหลายทางทั้งหนี้นอกระบบ และหนี้สหกรณ์ และหนี้สถาบันการเงินอื่น ๆ แต่ธนาคารพยายามสอดแทรกให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้แต่ละคนมีวินัยด้านการเงิน”
สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อได้ปรับลดลง จากเดิมโต 7.5% เหลือเพียง 7% ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือเศรษฐกิจถดถอยนั้น ธนาคารจะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และเน้นลูกค้าคุณภาพเป็นหลัก โดยกลุ่มฐานลูกค้ายังเป็นกลุ่มรายย่อย เช่น พ่อค้า แม่ค้าแผงลอย ด้านปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นนั้น ธนาคารได้ติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อสวัสดิการข้าราชการ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ย 0% ธนาคารไม่ได้ทำตลาดมานานแล้ว และการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันอยู่ในระดับ 90-95 % ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดไว้อยู่แล้ว
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 21 สิงหาคม 2556