โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ : ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ผู้บริหาร ศธ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.) ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักวิชาการ และเครือข่ายผู้ปกครอง เข้าร่วมกว่า 100 คน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2556
รมว.ศธ.กล่าวว่า การสัมมนาเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนตามนโยบาย ศธ.ที่ต้องการให้มีการเร่งปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ ทั้งการอ่าน เขียน คิด และวิเคราะห์ รวมทั้งเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง มีความเชื่อมโยงตั้งแต่หลักสูตร การเรียนการสอน การพัฒนาครู พัฒนาระบบทดสอบ การวัดผลและประเมินผลที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนระบบคัดเลือกบุคลากรให้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
รมว.ศธ.ได้มอบแนวทางและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลการประเมินของเด็กไทยในการจัดอันดับโดย IMD ในปี 2013 และผลการประเมินการทดสอบ PISA ในปี 2009 ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ยังไม่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย ซึ่งเกิดจากการขาดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ภาษา และคณิตศาสตร์ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่องค์กรประเมินผลทางการศึกษาระหว่างประเทศและวงการศึกษาทั่วโลกให้ความสนใจ จึงได้เสนอให้มีจุดเน้นที่สำคัญเพื่อเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะด้านภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และคณิตศาสตร์ คือการคิดคำนวณของเด็กทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ ป.1-3 ป.4-6 หรือต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกับการเน้นทักษะทั้ง 3 ด้าน เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่มีความจำเป็น และเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับการประเมิน PISA นอกจากนี้ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทั้งระบบ เชื่อมโยงสู่การปรับหลักสูตร การทดสอบประเมินผลที่สอดคล้องกันด้วย
- ทักษะด้านภาษาไทย พบว่าเด็กไทยมีปัญหาเรื่องภาษาไทยและยังมีเด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จำนวนมาก ที่ประชุมจึงมีความเห็นพ้องกันว่าควรเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ก่อนเพราะภาษาเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดวิเคราะห์ เด็กจะต้องอ่านออก เขียนได้ ทำให้เกิดความเข้าใจ เกิดการพัฒนากระบวนการทางความคิด และเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอตัวอย่างผลสำรวจและการประเมินความรู้ทางภาษาของเด็กไทย ซึ่งมีการคัดเลือกเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ออกมาสอนต่างหาก จากนั้นจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมอย่างเข้มข้น ผลที่ได้คือเด็กมีการพัฒนาทักษะภาษาเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจที่จะนำมาปรับใช้ในอนาคต
- องค์ความรู้ในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอองค์ความรู้จากต่างประเทศและผลการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับการทำให้เด็กคิดเป็น วิเคราะห์เป็น ซึ่งจะต้องมีการสร้างคลังความรู้ ตำราเรียน หนังสือประกอบ สื่อต่างๆ รวมทั้งของเล่น อุปกรณ์ในห้องเรียน และนอกห้องเรียน อาทิ สนามเด็กเล่น สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดทักษะทางความคิดได้เป็นอย่างดี ซึ่งการนำมาปรับใช้กับ ศธ. อาจจะต้องสร้างคลังความรู้เพื่อให้ครูได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว โดยได้มอบให้ สพฐ. และผู้เกี่ยวข้อง คิดวิธีสะสมองค์ความรู้และการเผยแพร่ให้ครูได้เรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีเรียนวิธีสอน โดยเฉพาะการศึกษาทางไกล การนิเทศ การอบรมครูในลักษณะแม่ไก่ดูแลลูกไก่ และที่สำคัญควรเน้นการใช้สื่อสมัยใหม่และสื่อออนไลน์ที่จะช่วยให้ครูเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ศธ.จะปรับให้มีการวิเคราะห์และประเมินผลด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมทั้งคิดนวัตกรรมและสร้างมาตรฐานเพื่อใช้กับการศึกษาทั้งประเทศต่อไปด้วย
- เลื่อนระดับผลการประเมินการทดสอบ PISA ศธ.ต้องการเลื่อนระดับผลการประเมินการทดสอบของ PISA แต่จะมีเป้าหมายอย่างไรนั้น จะรอดูผลการประเมินของปีนี้ซึ่งจะทราบในเดือนธันวาคม 2556 อย่างไรก็ตามจะดำเนินอย่างเป็นระบบ โดยจะตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความสามารถทางภาษา และความสามารถในการคิดคำนวณ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเลื่อนอันดับการประเมิน PISA และปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ
- การสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า มีความจำเป็นจะต้องปรับและต้องเป็นระบบที่มีหลักประกันว่า จะสามารถคัดเลือกเด็กที่มีคุณภาพและสามารถเรียนได้จริง ซึ่งการสอบจะต้องมีความเท่าเทียม และที่สำคัญจะต้องไม่กระทบกับการปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอ Model การสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีการสอบเพียงครั้งเดียว มีการนำผลสอบมาจัดระดับและให้มหาวิทยาลัยมาเลือกเด็กในแต่ละระดับเข้าไปศึกษาต่อได้เลย ส่วนข้อเสนอของนักวิชาการที่ต้องการให้ใช้กลไกของงบประมาณในการปรับระบบการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นแนวทางที่ดี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ครู นักเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้มีการลดจำนวนการสอบเพื่อลดภาระของนักเรียน ซึ่งหากมหาวิทยาลัยต้องการจะคัดเลือกเด็กแบบรับตรงก็สามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ต้องการให้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยลดความสนใจในห้องเรียนของนักเรียน ซึ่งในท้ายที่สุดต้องนำมาพิจารณาร่วมกันว่า ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยควรจะเป็นระบบเดียวหรือไม่
ทั้งนี้ ศธ.ได้ประกาศตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน หากไม่เปลี่ยนจะเกิดความเสียหาย และเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องจะหารือและมีข้อสรุปออกมาได้ แต่จะไม่เปลี่ยนในทันทีเพราะนักเรียนจะต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว คาดว่าหากเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้นักเรียนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2013/aug/255.html